
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้นำข้อมูลที่พรรคการเมืองประกาศโฆษณานโยบายที่ต้องใช้เงินเสนอต่อ กกต.ใน 3 รายการ ได้แก่ วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงิน ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย มาวิเคราะห์เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้
โดยเลือกศึกษาจากเอกสารของพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 จำนวน 6 พรรคด้วยกัน คือ พรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ (ซึ่งรวมพรรครวมไทยสร้างชาติในปัจจุบันด้วย), พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม)
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์
- กรมอุตุฯเตือน “พายุดีเปรสชั่น” เข้าไทย รับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน
พบว่ามี 4 พรรคที่มีนโยบายซึ่งต้องใช้งบประมาณมากในระดับ 1 ล้านล้านบาท เรียงตามลำดับ คือ พรรคภูมิใจไทย (1.9 ล้านล้านบาท) พรรคเพื่อไทย (1.8 ล้านล้านบาท) พรรคก้าวไกล (1.3 ล้านล้านบาท) และพรรคพลังประชารัฐ (1.0 ล้านล้านบาท) และเลือก 3 นโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดของแต่ละพรรค (ตารางประกอบ)
โดยนโยบายของเกือบทุกพรรคน่าจะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนขาดดุลงบประมาณอย่างมากในช่วง 4 ปีข้างหน้า นอกจากจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังอาจทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพเพราะขยายตัวในระดับที่ร้อนแรงเกินไป
ภายใต้สภาพที่ความเสี่ยงของเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังไม่ผ่อนคลายและอาจเร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้เงินเฟ้อด้านอุปทาน (supply-side inflation) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้จากการที่พลังงานมีราคาเพิ่มสูงขึ้นจะผ่อนคลายไปแล้วก็ตาม
หากเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ถูกบังคับให้ต้องปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจ และซ้ำเติมภาวะหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มเปราะบางที่พรรคการเมืองต้องการช่วยเหลือกลับได้รับผลกระทบในด้านลบ
ข้อสังเกต 5 ข้อของ TDRI
TDRI ได้ตั้งข้อสังเกต 5 ประการต่อคุณภาพของข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชน ดังต่อไปนี้ 1) บางพรรคการเมืองได้หาเสียงโดยใช้นโยบายที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายการนโยบายที่รายงานต่อ กกต. ทั้งที่หลายนโยบายก่อให้เกิดภาระทางการเงินสูงมาก จึงเป็นการให้ข้อมูลต่อประชาชนไม่ครบถ้วนอย่างมีนัยสำคัญ
2) หลายพรรคการเมืองอ้างที่มาแหล่งของเงินว่า มาจากการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ โดยไม่ให้รายละเอียดว่าจะตัดลดส่วนใด และจะมีโอกาสได้เม็ดเงินจากการตัดลดมาใช้ในการดำเนินนโยบายที่เสนอมากเพียงใด ทำให้ประชาชนไม่เห็นผลกระทบอย่างครบถ้วน เช่นเดียวกันกับที่บางพรรคการเมืองระบุว่า จะมีรายได้มาจากภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าจะมาจากภาษีชนิดใด จัดเก็บจากกลุ่มเป้าหมายใด
3) ทุกพรรคการเมืองระบุแหล่งที่มาของเงินรายนโยบายโดยไม่ได้ “แสดงภาพรวม” ซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพรวมของความพอเพียงของแหล่งเงิน โดยบางพรรคอาจระบุแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในแต่ละนโยบายในลักษณะนับซ้ำ ทำให้เข้าใจผิดว่ามีเงินเพียงพอในการดำเนินนโยบาย
4) บางพรรคการเมืองระบุว่า จะใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น เงินกองทุนต่าง ๆ หรืองดการเก็บภาษี เสมือนว่าเงินนอกงบประมาณหรือการงดการเก็บภาษีนั้นไม่ได้สร้างภาระทางการคลัง เช่นเดียวกันกับการใช้เงินของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของภาครัฐ 5) พรรคการเมืองส่วนใหญ่ระบุประโยชน์ของนโยบาย แต่ในส่วนของผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายกลับระบุไว้ค่อนข้างน้อยหรือไม่ระบุเลย
พรรคภูมิใจไทย รายงานนโยบายไม่ครบ
โดยระบุว่า จะต้องใช้เงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเงินสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ในระดับที่สูงถึงปีละ 700,000 ล้านบาทจากนโยบาย “เงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท” แก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์และไม่ต้องค้ำประกัน ซึ่งในทางปฏิบัติน่าจะต้องใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
นอกจากนี้นโยบายที่แจ้งต่อ กกต. ยังไม่ใช่นโยบายที่พรรคใช้หาเสียงทั้งหมด เนื่องจากยังมีนโยบายสำคัญอื่น ๆ อีกมากที่ไม่ได้แจ้งต่อ กกต. เช่น นโยบาย “พักหนี้ 3 ปี หยุดต้นปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท” การประมาณการเบื้องต้นชี้ว่านโยบายนี้อาจต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 900,000 ล้านบาทตลอด 3 ปี, นโยบาย “เกษตรกรร่ำรวย รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน”, นโยบาย “ฉายรังสีรักษามะเร็งฟรี ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ”, นโยบาย “รถเมล์ไฟฟ้า ลด PM 2.5 ค่าบริการ 10-40 บาท” และนโยบาย “ฟรีโซลาร์เซลล์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเดือนละ 100”
พรรคเพื่อไทย มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง
มีการนำเสนอนโยบาย 70 นโยบาย โดยระบุว่า จะต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีก 1.8 ล้านล้านบาท ทั้งนี้นโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท ซึ่งจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่ รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่า (1) จะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท (2) การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท (3) การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และ (4) การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท
การใช้แหล่งเงิน (1), (3) และ (4) จะมีผลกระทบต่องบฯค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ต้องปรับลดงบฯลงทุนหรือการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน หรือปรับลดสวัสดิการที่ถูกมองว่าซ้ำซ้อน แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ เช่น ไม่ได้ระบุว่าสวัสดิการใดที่จะถูกปรับลด เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการแจกเงินดิจิทัล ส่วนรายได้ภาษีจาก (2) น่าจะมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร โดยนักเศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปขนาดของ “ตัวคูณทางเศรษฐกิจ” (multiplier) ได้ เพราะขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ มากมาย
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายส่วนใหญ่ (44 จาก 70 นโยบาย) ที่อ้างว่า แหล่งที่มาของเงินมาจาก “การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ” เช่น การยกระดับสวัสดิการของประเทศทั้งระบบ การลดช่องว่างทางรายได้ โดยจะทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน และการปรับลดราคาพลังงาน (น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ) เป็นต้น ซึ่งหลายนโยบายไม่น่าจะสามารถทำได้ด้วย “การบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ” โดยไม่ได้ใช้เงินเพิ่มเติมจำนวนมาก
พรรคก้าวไกล จัดทำเอกสารดี
แต่นโยบายมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน โดยนโยบายที่จะใช้เงินมากที่สุด คือ นโยบายสวัสดิการสูงอายุ ซึ่งจะใช้เงิน 500,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 420,000 ล้านบาท จากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปัจจุบัน ส่วนนโยบายที่ใช้เงินรองลงมา คือ นโยบาย “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งจะใช้งบฯ 200,000 ล้านบาท โดยระบุว่า จะมาจากการเกลี่ยงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ มาให้จังหวัด
ในส่วนของแหล่งที่มาของเงินที่ต้องใช้เพิ่ม พรรคก้าวไกลระบุว่า จะจัดเก็บรายได้ภาครัฐในรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษี ซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 650,000 ล้านบาทต่อปี และจะปฏิรูปกองทัพ ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาทต่อปี
โดยรวม พรรคก้าวไกลจัดทำเอกสารที่ค่อนข้างละเอียด โดยแจกแจงต้นทุนและที่มาของแหล่งเงินชัดเจนกว่าพรรคอื่น โดยตัวเลขงบประมาณที่พรรคก้าวไกลนำเสนอเกือบทั้งหมด ยังเป็นตัวเลขของปีงบประมาณ 2570 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายและแสดงภาระการคลังสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นการประมาณการที่ค่อนข้างรัดกุม ที่สำคัญพรรคก้าวไกลไม่ได้ใช้ “เงินนอกงบประมาณ” ทำให้สามารถอุดช่องโหว่ปัญหาวินัยการคลังในอดีตได้
พรรคพลังประชารัฐ ใช้เงินนอกงบประมาณเสมือนไม่มีต้นทุน
โดยนโยบายสวัสดิการสูงอายุ ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดหรือประมาณ 500,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในความเป็นจริง นโยบายของพรรคพลังประชารัฐน่าจะใช้เงินมากกว่าของพรรคก้าวไกลเมื่อเปรียบเทียบในปีเดียวกัน เนื่องจากให้สวัสดิการผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไปมากกว่าที่พรรคก้าวไกลเสนอ
แหล่งที่มาขอเงินจะมาจากงบประมาณประจำปีปกติ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ รวมทั้งรายได้ภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ไว้เลย ทำให้ไม่มีความชัดเจน
นอกจากนี้พรรคพลังประชารัฐยังมีนโยบาย “น้ำมันประชาชน” ซึ่งอ้างว่า จะไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่จะใช้การลดราคาน้ำมัน โดยงดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น กองทุนน้ำมันฯ และกองทุนอนุรักษ์พลังงานเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากนโยบายเหล่านี้จะมีผลต่อภาระการคลังของรัฐอย่างแน่นอน ในรูปของการขาดดุลการคลังและการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ เช่น การงดจัดเก็บภาษีน้ำมันจะทำให้รัฐเสียรายได้ปีละ 1.4 แสนล้านบาท เป็นต้น
พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกองทุนไม่มีรายละเอียด
โดยระบุว่า นโยบาย 11 ชุดที่เสนอขึ้นจะใช้เงินทั้งสิ้น 690,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ 460,000 ล้านบาท นโยบายที่ใช้เงินมากที่สุด คือ นโยบาย “สตาร์ตอัพ-SMEs มีแต้มต่อ” ซึ่งมีวงเงิน 300,000 ล้านบาท และนโยบาย “ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน” ซึ่งมีวงเงิน 160,000 ล้านบาท โดยทั้งสองนโยบายจะใช้เงินนอกงบประมาณ
นอกจากนี้ยังมีนโยบายเพื่ออุดหนุนเกษตรกรอีกประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบฯอุดหนุนเกษตรกรเฉลี่ยปีละ 150,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยงบฯก้อนที่ใหญ่ที่สุดคือการอุดหนุนชาวนาครัวเรือนละ 30,000 บาท ที่ตั้งไว้ 97,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะประมาณการต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนชาวนาทั้งหมดในปีที่มีการปลูกข้าวมาก
ในส่วนของแหล่งรายได้ระบุว่า จะมีรายได้จาก 3 แหล่งใหญ่ คือ (1) การปรับลดงบประมาณบางรายการ (เช่นงบฯกลาง) ลง 100,000 ล้านบาท (2) การจัดเก็บภาษีใหม่จากกลุ่มผู้มีรายได้สูง 32,000 ล้านบาท และ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 100,000 ล้านบาท โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ภาษีใหม่ที่กล่าวถึงคือภาษีอะไร นอกจากนี้ในส่วนของการใช้เงินนอกงบประมาณ 460,000 ล้านบาทนั้น
พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่า เงินดังกล่าวจะมีที่มาจากที่ใด ส่วนนโยบาย “สตาร์ตอัพ-SMEs มีแต้มต่อ” ซึ่งระบุว่าจะใช้ “กองทุนภาครัฐ” เพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับ SMEs และสตาร์ตอัพ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดในการบริหารจัดการ และยังระบุว่า ไม่ความเสี่ยงทางนโยบายอีกด้วย ทั้งที่กองทุนดังกล่าวจะใช้เงินทุนตั้งต้นมหาศาล และมากกว่าหลายกองทุนที่เคยมีมาในอดีต
พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุต้นทุนการเงินต่ำกว่าจริง
เป็นพรรคการเมืองที่ระบุวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายต่ำที่สุดใน 6 พรรคการเมืองใหญ่ แต่พรรคน่าจะระบุต้นทุนทางการเงินของนโยบายต่าง ๆ ต่ำเกินไปมาก เช่น ระบุว่านโยบาย “เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน” จะใช้เงินเพียง 71,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งที่หากจะให้ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน (ตัวเลขในปี 2565) คนละ 1,000 บาทต่อเดือนก็จะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 1.75 แสนล้านบาทต่อปี
ส่วนนโยบาย “เบี้ยผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วงอายุ” (ยกเว้นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) จะใช้เงินปีละ 40,000 ล้านบาท ก็น่าจะต่ำเกินไป เนื่องจากมีผู้สูงอายุที่เป็นเป้าหมาย 6.4 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณรวมเกือบ 7.7 หมื่นล้านบาทต่อปี เช่นเดียวกัน การระบุว่านโยบาย “เพิ่มเงินสมทบของรัฐให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 10,000 บาทต่อเดือน” จะใช้งบประมาณเพียง 2.9 หมื่นล้านบาทต่อปีก็น่าจะต่ำเกินไปมาก
เนื่องจากการเพิ่มเงินสมทบให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 1.3 ล้านคน ก็จะต้องใช้เงินอย่างน้อยปีละ 7.8 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงการประมาณการต้นทุนของนโยบายลดต้นทุนของเกษตรกร (ช่วยค่าเก็บเกี่ยวของเกษตรกรไร่ละ 2,000 บาท โดยให้ความช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 5 ไร่) ระบุว่า จะใช้เงินเพียง 6,000 ล้านบาทต่อปี ก็น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย เนื่องจากเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีก็มีถึง 4.18 ล้านครัวเรือนในปี 2564 ซึ่งหากให้ครัวเรือนละ 1 ไร่ ก็จะต้องใช้เงิน 8.3 พันล้านบาทแล้ว