รวมทรัพย์สิน มรดกประยุทธ์ นายกฯ 9 ปี เปิดเผยครั้งเดียว

รวมทรัพย์สิน พล.อ.ปรยุทธ์ 2 สมัย 9 ปี เปิดเผยครั้งเดียว

รวมทรัพย์สิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 2 สมัย 9 ปี เปิดเผยแค่เพียงครั้งเดียวยุค คสช. ดำรงตำแหน่งครั้งที่สอง ป.ป.ช.ตรวจสอบ-เปิดเผยไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จะทุบสถิติ-สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3 ได้หรือไม่ หลังฤดูการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เป็นที่จับตาของทุกกลุ่มอำนาจ ทั้งในประเทศไทยและภูมิทัศน์การเมืองโลก

ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดรอบ 5 ทศวรรษ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยาวนานที่สุดในรอบ 5 ทศวรรษ ต่อเนื่อง 2 สมัย ด้วยการได้มาซึ่งอำนาจ 2 แบบ ทั้งรัฐประหาร และการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งผ่านรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ครั้งแรกรับตำแหน่ง 24 ส.ค. 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และครั้งที่สอง 9 มิ.ย. 2562 รับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

ชนะรวด 4 คดีในศาลรัฐธรรมนูญ

ผ่านการต่อสู้คดี 4 ครั้ง ประกอบด้วย คดีแรก ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อเข้ารับตำแหน่ง ไม่ครบถ้วน เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่, คดีที่สองที่ว่าด้วยมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่, คดีที่สาม ที่เรียกว่าคดีบ้านพักหลวง กรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ผ่านทั้ง 3 คดีด้วยมติเอกฉันท์ ยกเว้นคดีที่ 4 กรณีความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี กำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 คดีนี้ทำให้ พล.ล.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ คือ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี

องค์กรอิสระไม่สามารถทำให้ตำแหน่ง ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่นคลอน แม่กระทั่งกรณีการเปิดบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตลอดเวลาการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และต่อเนื่องด้วยการรักษาการขึ้นปีที่ 9

2 สมัย 9 ปีเปิดบัญชีทรัพย์สินแค่ครั้งเดียว

หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ารับตำแหน่ง-พ้นจากตำแหน่ง ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทุกครั้ง ทว่ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ แสดงบัญชีทรัพย์สินเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในการดำรงตำแหน่ง 9 ปี

โดย ป.ป.ช.เปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งเดียว-ครั้งสุดท้าย ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557

แม้ว่าต่อมามีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. โต้แย้ง-ยืนยันว่า

“แม้บัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐานก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายสำคัญที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม”

ดังนั้น 23 ส.ค. 2564 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. แถลงกรณีคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร วินิจฉัยให้ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2 เมื่อต้นปี 2562 ว่า

“คณะอนุกรรมการกฎหมาย ป.ป.ช. และศึกษาตามรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ ป.ป.ช.มีมติไม่มีอำนาจเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้ ในกรณีที่มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้เป็นหลักฐาน เพราะมีการระบุถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ ไม่ใช่จะเปิดเผยได้ตลอดเวลา การวินิจฉัยของ ป.ป.ช.กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารอาจไม่ตรงกัน ป.ป.ช.ทำได้แค่เก็บบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้เป็นพยานหลักฐานเท่านั้น จะไปตรวจสอบหรือเปิดเผยไม่ได้”

สรุปรวมทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงการดำรงตำแหน่ง 9 ปี จึงมีการแจ้งทรัพย์สินเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดแจ้งก่อนที่จะได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน และผลประโยชน์จากการเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทั้ง 2 สมัย

ก่อนเป็นนายกฯ มีทรัพย์สิน 128 ล้าน

ทรัพย์สิน พล.อ.ประยุทธ์ ณ วันที่ 4 กันยายน 2557 มีรายละเอียดดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสทั้งสิ้น 128,664,535 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 654,745 บาท

เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ 102,317,152 บาท แบ่งเป็น เงินฝาก 6 บัญชี 58,967,022 บาท, เงินลงทุน 9 แห่ง 23,072,380 บาท, ที่ดิน 2 แปลง 2,284,750 บาท, โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2 ล้านบาท, ยานพาหนะ 4 คัน 11.8 ล้านบาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 4 รายการ 4,193,000 บาท

ส่วนนางนราพร จันทร์โอชา คู่สมรส มีทรัพย์สิน 26,347,382 บาท (เงินฝาก 6 บัญชี 7,977,382 บาท, ที่ดิน 3 แปลง (1 แปลงร่วมกรรมสิทธิ์กับผู้อื่น) 5,350,000 บาท, โรงเรือนฯ 2 ล้านบาท, ยานพาหนะ 1 คัน 3.5 ล้านบาท, ทรัพย์สินอื่นฯ 1 รายการ 7,520,000 บาท)

มรดก 600 ล้าน

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (สมัยแรก 2557) ว่า พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา (บิดา) อายุ 89 ปี มอบเงินจำนวน 540 ล้านบาทในการขายที่ดิน (จากยอดการขาย 600 ล้านบาท) ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นบุตรชาย มีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการดูแลเงินจำนวนนี้ ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องของผู้รับ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้แบ่งเงินก้อนนี้ (600 ล้าน) ให้กับบุตรสาว 2 ราย และมอบให้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงพี่น้องรายอื่น ๆ คือ นายประคัลภ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ต.ประกายเพชร จันทร์โอชา

สำหรับบริษัทรับซื้อที่ดินของบิดา พล.อ.ประยุทธ์ วงเงิน 600 ล้านบาท คือบริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

นอกจากนี้ ในปี 2564 มีข้อมูลว่า น.ส.ธัญญา จันทร์โอชา และ น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา หรือพลอย-เพลิน บุตรสาว พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกันทำธุรกิจใน บริษัท พอว์พอว์ อีโคเพ็ท จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2561 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 3/66 หมู่บ้าน เศรษฐสิริ ประชาชื่น ถนนประชาชื่น ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การขายทิสชูเปียกสำหรับสัตว์เลี้ยง

และมีชื่อนางสาววัฒนา เกษภู นางสาวธัญญา จันทร์โอชา นางสาวนิฏฐา จันทร์โอชา ร่วมเป็นกรรมการ โดยแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย. 2562 น.ส.ธัญญา จันทร์โอชา ถือหุ้นใหญ่สุด 40% น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา ถือ 35% และ น.ส.วัฒนา เกษภู ถือ 25%

มีนำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 โดยมีสินทรัพย์รวม 706,925 บาท หนี้สินรวม 217,961 บาท ขาดทุนสะสม 11,036 บาท รายได้รวม 1,363,999 บาท รายจ่ายรวม 1,249,006 บาท กำไรสุทธิ 114,993 บาท