ประยุทธ์ 10 ปี ?

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 10 ปี
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ประชุมคณะรัฐมนตรี และการประชุมบอร์ดบริหารระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนรัฐบาลหมดวาระ และมีแนวโน้มจะยุบสภา ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2566 นับถอยหลัง “แยกทาง” กันอย่างจริงจัง

หลังจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย แจกแจงไทม์ไลน์ นับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้ง ยิ่งสร้างบรรยากาศสุดตึงเครียด

ทางหนึ่ง ตึงเครียดระหว่าง พรรคของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพรรคพลังประชารัฐ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ต้องเร่งฟืนเร่งไฟในการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทุกด้าน ทั้งตัว ส.ส.เก่า ผู้สมัครใหม่ ต่างต้องรีบขีดเส้น ให้ทุกคนตัดสินใจ

ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ต่างเรียกนักการเมืองเข้าพบ และยื่นคำขาดให้ต้องเลือก ว่าจะอยู่พรรคไหน ภายในสิ้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ส่วนคนที่มีคะแนนเก่าสูง ตัดสินใจยาก ยังเปิดทางให้ยื้อจนถึงก่อนวันยุบสภา อีกรอบ

การแสดงฉากหน้าที่ตึงเครียดของ 2 ป. อาจทำให้รัฐมนตรี และการข่าว ออกมาว่า 2 ป.แยก-แตกกัน ยากจะหวนคืน แต่ฉากหลังทั้งในตึกไทยคู่ฟ้า และบ้านป่ารอยต่อ ทั้ง 2 ป.ชื่นมื่น

ดังนั้น จึงไม่แปลก ที่นักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในฝ่ายรัฐบาลอ่านทางตรงกันว่า หลังผลการเลือกตั้งออกมา ทั้งพรรค พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค พล.อ.ประวิตร ต้อง “รวมเสียง” กันจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน

แกนนำพรรคที่มีแนวโน้ม ได้จำนวน ส.ส.อันดับ 2 และ 3 วิเคราะห์ว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง มีแนวโน้มสูงที่จะเป็น “ขั้วเก่า”

แกนนำพรรครายนี้ บวกตัวเลขให้เห็นว่า พรรค 2 ป. 2 พรรค รวมกันได้ราว 120 คน บวกกับ พรรคภูมิใจไทย 80 กว่าคน รวมชาติไทยพัฒนา 20 กว่าคน และประชาธิปัตย์ 50 คน อย่างน้อยจัดตั้งรัฐบาลได้เกิน 270 เสียง

แต่สมการนี้ พรรคภูมิใจไทย ต้องตั้งเพดานไว้ไม่ให้ได้ ส.ส.เกิน 120 คน ไม่เช่นนั้น แทนที่จะได้เป็น “ขั้วสำคัญ” ในการต่อรองจัดตั้งรัฐบาล จะพลิกผันกลายเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” แทน และเหนือสิ่งอื่นใด พรรคเพื่อไทยต้องไม่ได้คะแนนแบบแลนด์สไลด์ 250 เสียง

สูตรรัฐบาลขั้วเก่า เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะหัวหน้าพรรคอันดับ 2 หลังจากการรวมตัวกันของ “พรรค 2 ป.” แล้ว พร้อมที่จะให้ ป.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ครบ 10 ปี หลังจากนั้นค่อย “ล้างไพ่” การเมืองอีกครั้ง

ทั้งนี้ ปัจจัยชี้ขาด ที่ทำให้พรรคระดับ 80-90 เสียง ต้องการร่วมจัดรัฐบาลกับขั้วเก่า เพราะหัวหน้าพรรค มีหลักการว่า แม้ไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอันดับ 1 และไม่ต้องการเป็นอันดับ 2 เพื่อเลี่ยงการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน จึงล็อกสูตร ไม่เป็นอยากเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีเสียงใน “จำนวน” ที่สำคัญ ที่ทั้งขั้วเพื่อไทย และขั้ว 2 ป. ขาดไม่ได้

นักการเมืองทั่วทุกพรรควิเคราะห์ว่า หลังเลือกตั้งครั้งนี้ หากเปลี่ยนขั้วไปเป็น “สายทักษิณ” สิ่งที่ต้องเป็นปัจจัยสำคัญคือ ต้องจัดรัฐบาลที่มีเสียงท่วมสภา-อยู่นาน โดยไม่ง้อมือ ส.ว.

แต่ถ้าเป็นขั้วการเมืองเก่า ได้จัดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เต็มที่อยู่อีกเพียง 2 ปี นับจากเดือนสิงหาคม 2566 หลังได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3

ซึ่งขั้วเก่า ต้องจัดรัฐบาลใหม่อีกครั้ง ดังนั้น พรรคขนาดใหญ่ จึงต้องเตรียมวางกำลัง และหา ส.ส.สำรองไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง อีกครั้งหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 10 ปี

พิจารณาจากเส้นทาง การไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล ตามไทม์ไลน์ ที่ กกต.ส่งการบ้าน ให้รัฐบาล มีดังนี้

วันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง วันที่ 30 มีนาคม 2566 จะเป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ จากนั้น 3-7 เมษายน 2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ทั้งนี่ ในกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยุบสภา จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน

กรณียุบสภา 15 มีนาคม 2566 ตามกฎหมายต้องประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ภายใน 5 วัน จึงคาดว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ในวันที่  22 มีนาคม 2566

เมื่อยุบสภาแล้ว ต้องจัดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน วันที่คาดว่าจะเป็นวันเลือกตั้ง มี 3 วันคือวันที่ 7 หรือ วันที่ 14 และวันที่ 21 พฤษภาคม 2566


ทุกอย่างล็อกชัดเจนหมดแล้ว เหลือแค่เสียงของประชาชาชนเท่านั้น ที่จะตัดสินใจ