
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/5 สุดอึมครึม ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีนัดสังสรรค์พรรคร่วมรัฐบาลครบวาระ นับถอยหลังยุบสภา เป็นรัฐบาลรักษาการ จนกว่าจะโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ราวเดือนสิงหาคม 2566
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แยกทางกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรัฐมนตรีหลายคนลาออกจากสมาชิกพรรค พปชร. แต่ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโควตา พปชร. และโควตานายกรัฐมนตรี ทำให้บรรยาการร่วมรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป ต่างคนต่างอยู่ วาระใครวาระมันในการเสนอให้ ครม.พิจารณา
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มใช้ 1 เม.ย.66 รับเงินคนละกี่บาทต่อเดือน เช็กที่นี่
- กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน 28 จังหวัด พายุฤดูร้อนถล่ม-ฟ้าผ่า-ลูกเห็บตก
- โปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา กลับเข้าดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.
แหล่งข่าวในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี และการประชุมบอร์ดบริหารระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีบรรยากาศสุดหมางเมิน ห่างเหิน และตึงเครียด รัฐมนตรีต่างคนต่างมาประชุม จบแล้วก็แยกย้าย ไม่มีการสนทนากันในกลุ่มนักการเมืองต่างพรรค และแม้กระทั่งรัฐมนตรีที่อยู่พรรคพลังประชารัฐด้วยกันเองก็ไม่คุยกันนอกวาระการประชุม
“ไม่มีการคุยกันตามมุมห้อง ไม่มีบทสนทนาเรื่องอื่น ๆ รัฐมนตรีคุยกันเฉพาะเรื่องวาระการประชุมที่ตัวเองเกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการคอมเมนต์ หรือให้ความเห็นร่วมกัน เสนอวาระพรรคใครพรรคมัน จากการเป็นรัฐมนตรีมาหลายสมัย ไม่มียุคไหนที่มีบรรยากาศหมางเมิน เย็นชา กันแบบคณะรัฐมนตรียุคปัจจุบันที่อยู่ครบวาระแบบไร้ชีวิตชีวา” แหล่งข่าวระดับรัฐมนตรีรายหนึ่งให้ความเห็น
รัฐมนตรีระดับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล รายหนึ่งให้ความเห็นด้วยว่า “หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ในเวลานี้ก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็กำลังจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกพรรค ที่เป็นคู่แข่งกัน การนับถอยหลังยุบสภา หมดวาะ และไปสู่การเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงยิ่งสร้างความห่างเหินให้ถ่างกว้างมากขึ้น และคาดว่าจะอึมครึมหนักขึ้นเมื่อถึงฤดูการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลรักษาการ จนถึงราวเดือนสิงหาคม หรือจนกว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่”
นักการเมืองระดับแกนนำสูงสุดของพรรคร่วมรัฐบาลกล่าวว่า ตามธรรมเนียมการเมืองแบบที่ผ่านมา หากมีวาระสำคัญ เช่น เทศกาลปีใหม่ การกำหนดวาระนับถอยหลังยุบสภา หรือปิดสภา แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลกับรัฐมนตรีจะต้องมีการจัดประชุมพบปะสังสรรค์ หรือฉลองร่วมกัน แต่ยุคปัจจุบันไม่มีวาระแบบนี้เกิดขึ้น
“ไม่มีการนัดรับประทานอาหารนอกรอบ การรับประทานอาหารที่ห้องประชุม ครม.ร่วมกันก็น้อยมาก เมื่อเลิกประชุม รัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคบางพรรคเดินไปร่วมวงแถลงข่าวกับนายกรัฐมนตรี แล้วไปส่งที่ห้องในตึกไทยคู่ฟ้า นายกรัฐมนตรีก็โบกมือลา ต่างคนต่างถอยกลับห้องทำงานของตัวเอง บางคนก็แยกไปตึกบัญชาการ กลับกระทรวงใครกระทรวงมัน” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ที่ผ่านมาการเป็นรัฐบาล 4 ปี มีการนัดพรรคร่วมรัฐบาลสังสรรค์นับครั้งได้ ส่วนใหญ่นายกรัฐมนตรีกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. และรองนายกรัฐมนตรี เป็นคนนัด และการนัดสังสรรค์แต่ละครั้ง ทั้ง 3 ป.ก็มีวาระสร้างภาพความปรองดองกันเอง พรรคร่วมรัฐบาลเป็นแค่ภาพประกอบฉากเท่านั้น