เดดไลน์รัฐบาลยุบสภา มีนาคม เช็กสถานะกฎหมาย “เลือกตั้ง”

ประยุทธ์
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

สภาล่มซ้ำซาก อาจกลายเป็นตัวเร่ง-เงื่อนไขจุดชนวนยุบสภาก่อนเวลาอันควรหรือไม่

โดยเฉพาะล็อกสุดท้าย 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่นักเลือกตั้งจับตาดูความเคลื่อนไหวทางการเมืองในมุ้งตัวเอง ฝ่ายตรงข้าม หรือพรรคการเมืองพันธมิตร

เพราะ 7 กุมภาพันธ์ 2566 อาจเป็นเดดไลน์ 90 วันก่อนการเลือกตั้ง ที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคก่อนเลือกตั้ง ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ตัดสินใจอยู่จนครบวาระ

แต่นักการเมืองประเภท “ปลอดภัยไว้ก่อน” อาจไม่รู้ใจ พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาหรือดึงเกมครบวาระ จึงทยอยค่อย ๆ ลาออกจากพรรคเก่าไปอยู่พรรคใหม่ ไม่ต้องรอให้ถึงเดดไลน์ 90 วัน

กฎหมายค้างรัฐบาล 25 ฉบับ

เมื่อ ส.ส.ในสภาร่อยหรอ จึงทำให้สภาล่มซ้ำซาก พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงจับตาสัญญาณยุบสภาอย่างใกล้ชิด

ทว่าวาระร้อน-กฎหมายสำคัญ ในรางรอบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรยัง “ค้างท่อ” ฝ่ายนิติบัญญัติจำนวน 75 ฉบับ ประกอบด้วย

ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการและอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 22 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กลุ่มที่ 3 บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ

ร่าง พ.ร.บ.การประกันภัยทางทะเล พ.ศ. …. ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเดินเรือ พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ….

ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ร่าง พ.ร.บ.การไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดชอบเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการอัยการ)

รอบรรจุวาระสภา 21 ฉบับ

ร่าง พ.ร.บ.ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างกระทรวงยืนยัน จำนวน 21 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ค่าธรรมเนียมการใช้ทางหลวง พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.การทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 7 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขอรัฐสภา จำนวน 25 ฉบับ แบ่งออกเป็น ร่าง พ.ร.บ.ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ได้แก่ ยังไม่ได้รับหลักการวาระหนึ่ง 1 ฉบับ อยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 1 ฉบับ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว 1 ฉบับ

ร่าง พ.ร.บ. ได้แก่ ชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้รับหลักการวาระหนึ่ง 11 ฉบับ ชั้น กมธ. 2 ฉบับ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว 9 ฉบับ และชั้นการพิจารณาของ ส.ว. 1 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

ตาราง สถานะร่างกฎหมายรัฐฯตู่

ลุ้นผ่านกฎหมายหาเสียง 8 ฉบับ

โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญ 8 ฉบับ ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว-ต้องผ่านให้ได้ในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อนำไปต่อยอด “หาเสียง” การเลือกตั้งครั้งหน้าต่อไป

1.ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. 2.ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. 3.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. 4.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับกฎหมายคู่ชีวิต) 5.พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ….

6.ร่าง พ.ร.บ.อาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาตการควบคุมและกำกับดูแล การโฆษณาอาหาร การดำเนินการกับของกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติยิ่งขึ้น)

7.ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. 8.ร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้)

และ 9.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการร้องขอรับเงินทดแทนที่วางไว้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

ขณะที่เงื่อนไข “ขั้นต่ำ” ทางการเมืองอยู่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจเป็นสมัยที่ 3 ต้องการันตีให้ได้ว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงจะต้องได้เก้าอี้ ส.ส.ขั้นต่ำ 25 ที่นั่ง ถึงจะมีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ส่วนเงื่อนไขขั้นสูง อย่างน้อยพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะต้องได้ ส.ส. 126 ที่นั่ง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจต่อรองในการเป็นแกนนำ-รวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เสียง ส.ส.เกิน 250 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งขันของ พล.อ.ประยุทธ์-พรรครวมไทยสร้างชาติ คือ พล.อ.ประวิตร-พรรคพลังประชารัฐ ที่มีฐานเสียงเดียวกัน-ส.ส.มาจากขั้วเดียวกัน

ก่อนถึง “เดดไลน์” ย้ายพรรค ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นช่วง “นาทีทอง” ของพรรครวมไทยสร้างชาติในการดึง-ดูดนักการเมืองระลอกใหญ่

กฎหมายเลือกตั้งทูลเกล้าฯ 2 ฉบับ

แต่หลังจากนั้นนักการเมืองยังมีเวลารอดูทิศทางลมว่าจะไปซ้าย-ขวา เพราะเงื่อนไขสำคัญที่สุด การยุบสภาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลานี้ เพราะ “กฎหมายเลือกตั้ง” 2 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ

ฉบับแรก ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 และฉบับที่สอง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 15 มีนาคม 2566


หมุดหมายยุบสภาจึงถูกปักไว้ในเดือนมีนาคม 2566