เอฟเฟ็กต์จากพี่-น้อง 2 ป.แตกพรรคพี่-พรรคน้อง เกิดเป็นปรากฏการณ์พรรคพลังประชารัฐแพแตก ส.ส.รุ่นเล็ก-เบอร์ใหญ่ โบกมือลา ย้ายค่าย-ขั้วเดิม
ณ ปัจจุบัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ยังมีสถานะรับเงินเดือน ส.ส. รวมทั้งหมด 84 คน แบ่งออกเป็น ส.ส.เขต 64 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20 คน
ส.ส.ย้ายออก-จ่อไขก๊อก น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม.เขต 1 ไปพรรคเพื่อไทย นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส ไปพรรคสร้างอนาคตไทย หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม.เขต 17 ไปพรรคประชาธิปัตย์
ไปพรรคภูมิใจไทย น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. เขต 4 น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. เขต 6 นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม.เขต 8 นายจักรพันธ์ พรนิมิต ส.ส.กทม.เขต 30
นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี
นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี นายอัฎฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี
ล่าสุด นายวีระกร คำประกอบ และนายภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.นครสวรรค์ ที่จะส่งลูกสาว-น.ส.ภัทราวดี นิโรจน์ สมาชิกเทศบาลนครนครสวรรค์ (ส.ท.) ลงรักษาแชมป์ในนามพรรคภูมิใจไทย
ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ กลุ่มเสี่ยเฮ้ง นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส.ชลบุรี น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส.สมุทรปราการ นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี
นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา นายสมบัติ อำนาคะ ส.ส.สระบุรี นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม.เขต 13 และนายประสิทธิ มะหะหมัด ส.ส.กทม.เขต 19
กลุ่มภาคใต้ นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช นายศาตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.สงขลา นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา
ส.ส.กลุ่ม เสธ.หิ-หิมาลัย ผิวพรรณ นายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พิจิตร นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ นายมานัส อ่อนอ้าย ส.ส.พิษณุโลก
ขณะที่ ส.ส.-นักการเมือง “บิ๊กเนม” ย้ายเข้า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย พรรคสร้างอนาคตไทย นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไท
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ นายบุญสิงห์ วิรินทร์รักษ์ และ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเศรษฐกิจไทย นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ผู้กองมาร์ค-ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย
11 ส.ส.เขต พรรคเศรษฐกิจไทย อาทิ 1.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 2.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 3.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 4.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 5.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น
6.นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 7.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 8.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 9.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา
กลุ่มของเสี่ยจั้ม-สกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.-อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กลับคืนถิ่นเก่า ขนทีมงาน “กทมmore” กรุงเทพดีกว่านี้ได้ มานำทัพสู้ศึกสนามเลือกตั้ง กทม.
กลุ่มที่อยู่ตอนนี้ล้วนเป็นลูกน้องเก่านายทักษิณ สมัยอยู่พรรคไทยรักไทย และศิษย์เก่าเพื่อไทยที่พร้อมจะ “จัมป์สาย” กับพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
กลุ่มเพชรบูรณ์ของนายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค กลุ่มโคราชของนายวิรัช รัตนเศรษฐ กลุ่มกำแพงเพชรของนายวราเทพ รัตนากร กลุ่มพะเยาของ ร.อ.ธรรมนัส
โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตรของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน-นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท รวมถึงขุนพลภาคตะวันออกคนใหม่ นายสราวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี
การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐตั้งเป้าปิดประตูตายเป็นพรรคฝ่ายค้าน จับขั้วได้ทั้งกับพรรคเพื่อไทย-ภูมิใจไทย จองเก้าอี้ฝ่ายบริหารในรัฐบาลใหม่ แทรกคิวให้พี่ใหญ่เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
เพราะภูมิใจไทยที่สถาปนาเป็นพรรคใหญ่อันดับสองในตอนนี้ จะมีอดีต ส.ส.ลงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเกินร้อยชีวิต ดังนั้น จึงตั้งเป้าที่นั่ง ส.ส.ที่จะรีเทิร์นกลับมา ประมาณ 80-90 เสียง เป็นเบื้องต้น
พรรคพลังประชารัฐ ที่ตอนนี้ก็มีกลุ่มสามมิตร เป็นแกนหลัก ถูกนักเลือกตั้งในนามภูมิใจไทย ที่เคยอยู่ร่วมชายคาพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเป็นพรรคในอดีตของกลุ่ม “สมศักดิ์ เทพสุทิน” อ่านว่ากลุ่มสามมิตรจะไม่ชิ่งไปจากพรรคพลังประชารัฐ
แม้ลูกพี่เก่าอย่าง “สมศักดิ์” จะบอกว่ารอ “ข้อมูลใหม่” แล้วค่อยตัดสินใจ
เนื่องจากบางพื้นที่ ระหว่างกลุ่มสามมิตร กับภูมิใจไทย ยังมีการหลบ-หลีกให้กัน โดยส่งตัวอ่อนลงไปประกบ เช่น จ.ชัยนาท ภูมิใจไทย เปิดทางให้บ้านใหญ่ “นาคาศัย” เข้าสู่สนามเลือกตั้ง สานไมตรีระหว่าง “กลุ่มสามมิตร” แกนหลักพลังประชารัฐ กับ ภูมิใจไทย ซึ่งเคยกอดคออยู่ร่วมชายคากันมาก่อน
ส่วนพรรคเพื่อไทย แม้ว่าผู้บริหารพรรคจะออกมาปฏิเสธการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย
แต่ในทางการเมือง ไม่มีมิตร-ศัตรูถาวร แม้แต่ ส.ส.แกนนำเพื่อไทย ในเวทีสภา ยังเชื่อว่ามีโอกาส “เป็นไปได้”
“ถ้าพรรคเพื่อไทย ไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ส.ว.จะยกมือให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเหรอ เพราะต้องได้เสียงให้ถึง 375” ส.ส.พรรคเพื่อไทยรายนี้กล่าว
เมื่อเปิดข้อมูลการโหวต ส.ส.แล้วพบว่า ฝ่าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มี ส.ว.อยู่ในมือ 50-60 เสียง ส่วนฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ มี ส.ว.70-80 เสียงอยู่ในมือ ถ้าจะเอาชนะฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ให้พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นฝ่ายค้าน ก็อาจจะต้องจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ บนเงื่อนไขว่า นายกฯ ต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐ อาจจะยังสำคัญกับพรรคเพื่อไทย ถ้าในกรณีไม่ต้องการพรรคก้าวไกล มาร่วมรัฐบาลด้วย ในฐานะที่ “ทำงานกับใครไม่ค่อยได้”
ในแง่การอธิบายในพื้นที่ให้ประชาชนเข้าใจ หากพรรคเพื่อไทย จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ อาจจะไม่ยากนัก
“เรายังสามารถอธิบายได้ว่า พรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาล เพื่อนำนโยบายที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติ ถ้าไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เป็นรัฐบาล นโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้จะทำสำเร็จได้อย่างไร”
สรุปว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน