ยิ่งชีพ จับตากลโกงการเมือง 2566 ประยุทธ์-ประวิตร เกมเลือกตั้งภาคพิสดาร

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ปี 2566 การเมืองจะระทึกตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี

เพราะเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาล มีการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา

“ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw หน่วยตรวจสอบภาคประชาชน ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพจะเดินดุ่ม ๆ เข้าไปแพ้ในสนามเลือกตั้ง

เขาชวนประชาชนให้ร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งทั้งกระบวนการ ตั้งแต่หาเสียงแข่งนโยบาย ไปจนถึงการนับคะแนน และยังวิเคราะห์ว่าถ้าพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง อาจเป็นรัฐบาล

เลือกตั้งภายใต้กลไก คสช.

“ยิ่งชีพ” หวั่นเกรงเล็กน้อยว่า กระแสการเลือกตั้งปี 2566 จะคึกคักหรือไม่ โดยย้อนไปถึงภาพรวมการเมืองครึ่งปีหลังของปี 2565 กระแสการเมืองค่อนข้างดร็อปมาก ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร แต่เข้าใจได้ว่าประชาชนหลายคนไม่ค่อยสนใจกิจกรรมหรือข้อเรียกร้องย่อย ๆ แล้ว คิดว่าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้ง

แต่ขณะเดียวกัน ถ้าใกล้เลือกตั้งกระแสยังไม่กลับมา ก็คงจะเหี่ยว ๆ สมมติการเลือกตั้งปี 2566 คนไม่เชื่อว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อันนี้จะอันตราย เช่น ถ้าคนใช้สิทธิน้อย มีอะไรให้เลือกแถวบ้านก็กา ๆ ไป

ต่างจากปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่สนุก มี new voter เยอะ มีข้อเสนอนโยบายใหม่ ๆ ในระหว่างการเลือกตั้ง เช่น ปฏิรูปกองทัพ แต่ยังไม่แน่ใจว่าปี 2566 จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะมีตัวผู้เล่นที่มาเขย่าวงการทำให้กระแสความตื่นตัวแรงขึ้นได้หรือเปล่า ซึ่งยังไม่เห็น จึงคาดการณ์ยากอยู่

แต่ยังมีหลายเรื่องที่ถกเถียงกันมาในช่วง 3-4 ปี และควรจะได้คำตอบมากขึ้นในการเลือกตั้ง เช่น การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน จะเป็นไปได้หรือเปล่า ควรเป็น agenda ที่สำคัญในการเลือกตั้ง

เรื่องสมรสเท่าเทียม กัญชา แก้ไขมาตรา 112 ก็คงเป็นเรื่องที่ควรตกผลึกมากขึ้น แต่ละพรรคต้องพูดให้ชัด และคนต้องพูดกันต่อว่า ฉันเลือกพรรคนี้เพราะนโยบายแบบนี้

อีกมุมหนึ่ง การเลือกตั้งปี 2566 ยังมีปัจจัยที่ต้องกังวลคือ ส.ว.ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังเป็นชุดเดิมในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเป็นชุดที่เลือกโดย คสช.ทั้งหมด รวมถึงกลไกการกำกับอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง หรือคนตีความอย่างศาลรัฐธรรมนูญก็ยังเป็นมรดกจาก คสช.

จะคาดหมายว่าการเลือกตั้ง 2566 จะบริสุทธิ์ โปร่งใส และเป็นธรรม ผมคิดว่ายังยากอยู่ ดังนั้น ภารกิจทำความเข้าใจกับประชาชนในระหว่างการเลือกตั้งยังเป็นเรื่องสำคัญ

ซึ่งทุกคนในประเทศเดาได้อยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน แต่อย่างไรเสียก็ยังอยู่ข้างเดียวกัน คงไม่ทะเลาะกันเอง โดยคนหนึ่งเป็นนายกฯ คนหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน คงไม่ใช่อย่างนั้น

“ทีม คสช.ลงเลือกตั้งแล้วเขาแพ้ไม่ได้ เขาคงไม่เลือกตั้งสนามที่คนจะเลือกฝ่ายตรงข้ามเขา 400 แล้วคนเลือกเขา 100 คงเป็นไปไม่ได้ แล้วพอมีอำนาจ ส.ว.ค้ำอยู่ในมือ จึงยังดูไม่ออกว่าเขาจะทำอะไรจากนี้ เพราะคะแนนความนิยมก็ไม่สูง พล.อ.ประยุทธ์อาจไปอยู่พรรคใหม่ พล.อ.ประวิตรอยู่พรรคพลังประชารัฐ ที่เสียขุมกำลังบางส่วนไปให้พรรคภูมิใจไทย ก็อ่อนแอลง รวมกับพรรคประยุทธ์ พรรคประวิตรก็แตกกัน โดยรวมอ่อนแอลงไปทั้งหมด”

“แต่เขาจะไม่เดินดุ่ม ๆ ลงไปแพ้เลือกตั้ง จึงมีความเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าคงมีอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้นให้เราได้ดูและทำความเข้าใจอีก ซึ่งพวกเขามีแนวโน้มต้องชาญฉลาดขึ้น การโกงเลือกตั้งแบบตรงไปตรงมาคงไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย ๆ นัก ต้องมีวิธีการแยบคาย เช่น การตีความกฎหมายแบบแปลก ๆ เกิดขึ้นอีก”

ปลุกประชาชนช่วยนับคะแนน

ยิ่งชีพกล่าวว่า ดังนั้น วาระการจับตาการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นเรื่องสำคัญ จะมีโครงการเชิญชวนให้ประชาชนเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์นับคะแนนหน้าหน่วย ถ่ายภาพบอร์ดขีดคะแนนสด ๆ ทุกหน่วย ส่งเข้ามาเว็บไซต์ของเรา และเว็บไซต์จะประมวลผลและนับคะแนนโดยไม่ปล่อยให้ กกต.รวมคะแนน

ถ้า กกต.นับคะแนนออกมาไม่ตรง เราก็จะมีหลักฐานว่าแต่ละหน่วยนับมาได้เท่านี้ ที่ กกต.รวมมามันถูกหรือผิด ตอนนี้กำลังใช้ชื่อ vote66.com หรือเปล่า เป็นงานที่เป็นรูปธรรม

อีกงานหนึ่งที่จะจัดในเดือนมกราคม 2566 คือ จับตาในระดับการบังคับใช้กฎกติกาการเลือกตั้ง เช่น ในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า นโยบายที่พรรคการเมืองเสนอ จะต้องบอกรายละเอียดการใช้จ่ายด้วยว่ามาจากไหน กฎนี้ยังไม่เคยถูกบังคับใช้จริงจัง เราจะดูว่าบังคับใช้อย่างเท่าเทียมหรือเปล่า

เพราะเลือกตั้ง 2562 มีบางพรรคเสนอนโยบายชัดเจนว่าจะนำเงินจากไหน แต่มีบางพรรคที่แถลงนโยบายลอย ๆ แล้วไม่บอก ยังไม่เห็นว่า กกต.จะบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างไร

อีกทั้งอาวุธของ กกต.ในการให้ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง กกต.แจกน้อย ยังอยู่ในระดับหลักหน่วย แต่เป็นเรื่องกังวลว่าจะเป็นอาวุธหนึ่งที่ กกต.ใช้ในการเลือกตั้งปี’66 ก็ได้ ซึ่งการตีความว่าจะแจกใบไหน สังคมยังไม่เข้าใจ จึงเป็นงานหลักที่จะอธิบายกับสังคมว่า กกต.แจกใบต่าง ๆ ถูกต้อง เป็นธรรมหรือเปล่า

รวมถึงติดตามการซื้อสิทธิขายเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ ตอนปี 2562 เราได้รับเรื่องร้องเรียนประมาณหลักสิบ ครั้งนี้เราต้องทำให้จริงจังมากขึ้น น่าจะจัดการข้อร้องเรียนเหล่านี้ให้จริงจังมากขึ้น

ปลุกมวลชนจับตาโกงเลือกตั้ง

เมื่อ “ยิ่งชีพ” เดาทางว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” และเครือข่ายแพ้ไม่ได้ หาก พล.อ.ประยุทธ์กลับมารอบที่ 3 การเมืองภาคประชาชนจะเป็นอย่างไร

ยิ่งชีพตอบว่า ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ถ้ามีคนเลือกเขาเยอะ หรือดูด ส.ส.ที่มีคะแนนติดตัวเยอะ ชนะเลือกตั้งจริง ๆ ชนะใส ๆ ผมว่าหดหู่หนักกว่าเดิม กลุ่มคนที่คิดว่าสู้ไม่ได้ ท้อแท้ เปลี่ยนประเทศจะเยอะขึ้นอีก ผมก็ต้องยอมแพ้ คนเลือก ก็ทำอะไรไม่ได้ โอกาสที่จะล้มเขาก็น้อยลง

แต่ถ้าชนะแบบไม่โปร่งใส ขึ้นอยู่กับชัดเจนขนาดไหน ถ้าไปยุบพรรค หรือเปลี่ยนคะแนนหลังการรายงานผล นับแล้วคะแนนไม่ตรง เราจับได้ ผมคิดว่าจะกระตุ้นความโกรธระลอกใหม่ได้ การชุมนุมก็จะกลับมาและหนักกว่าเดิม เพราะความโกรธของคนจะกันไม่ได้

ในฐานะร่วมม็อบหลายแบบปี 2564-2565 ทั้งตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ ร่วมขึ้นเวที โดนคดี หรือแค่สังเกตการณ์ หรือไม่เห็นด้วยก็มี มีคนที่โกรธแบบหน้ามืดตามัว ผู้นำการชุมนุมไม่มีเอกภาพ ไม่มีวิธีการจัดการ มีแต่เจอกันที่ไหน กี่โมง คนก็อยากระบายความโกรธ ก็จะเปลี่ยนเป็นภาพกระโดดถีบ ภาพขว้างปา”

“สมมติปี 2566 มีคนลงถนนอีก ผมมองไม่เห็นเลยว่าจะมีใครลุกขึ้นมาเป็นผู้จัดการชุมนุมที่ควบคุมทั้งหมดได้ ต่อให้เป็นธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็อาจจะไม่ได้ ความโกรธตรงนี้จะอันตรายกว่าเดิม”

อย่างไรก็ตาม หาก “พล.อ.ประยุทธ์” รวบรวมเสียงพรรคต่าง ๆ มาจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้วได้เป็นนายกฯ สมัย 3 จะรับได้หรือไม่ “ยิ่งชีพ” พร้อมยอมรับ

“ก็ถือว่าพอรับได้นะ ฝ่ายไม่เอาตู่ไม่ได้ 250 เสียงก็ต้องยอม ห่วยจริง ห่วยกว่า ก็ต้องแพ้ ไม่แปลกอะไร”

พท.-กก. เป็นรัฐบาลได้ไม่นาน

“ยิ่งชีพ” มองความเป็นไปได้ระหว่างพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล และพันธมิตรฝ่ายค้าน จับมือกันเป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาลว่า ขึ้นอยู่กับเสียง ถ้าเพื่อไทยได้น้อย ก้าวไกลได้เยอะ ยังไงก็ต้องร่วมกัน สมมติพรรคเพื่อไทยได้เท่าเดิม 136 เสียง ก้าวไกลได้ 100 เสียง คิดว่าจำเป็นต้องวิ่งเข้าหากันเพื่อสู้กับฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ 250 เสียง ก้าวไกลได้ 40 เสียง พรรคเพื่อไทยก็ไม่ต้องง้อพรรคก้าวไกลแล้วก็ได้ จับคนอื่นให้ได้ 300 เสียงก็ตั้งรัฐบาลได้

“พรรคเพื่อไทยมีลักษณะจับกับคนอื่นก็ได้ เช่น ประชาชาติ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ หรือกระทั่งภูมิใจไทย จับ 300 แล้วตั้งรัฐบาลได้ก็ไม่แปลก แต่ที่แปลกคือ ถ้าเป็นแบบนี้ พรรค พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านด้วยกันก็จะแปลกมาก”

แต่สิ่งที่ “ยิ่งชีพ” มองข้ามชอตคือ ถ้าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลร่วมกัน อาจเป็นรัฐบาลได้ไม่นาน

“มองว่าจะอยู่ได้ไม่นาน ขึ้นอยู่กับเขาด้วย ถ้าแดงส้มจับมือตั้งรัฐบาลได้มากกว่า 300 เสียง คิดว่าจะมีอะไรดี ๆ ให้ดูเยอะ เช่น สมรสเท่าเทียม”

“ถ้าเขากินข้าวทีละคำ เอาสมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า กระจายอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนยอมรับกันระดับหนึ่ง ก็จะเห็นในระยะปีเศษ ๆ”

“แต่ถ้ามีความพยายามนิรโทษกรรมทักษิณ แก้มาตรา 112 หรืออะไรที่สั่นคลอนอำนาจเขามาก ๆ ก็มีสิทธิที่จะอยู่ได้ไม่นาน”

“ต้องไม่ลืมว่าเพื่อไทย ก้าวไกลจับมือตั้งรัฐบาล ยังไงเสียก็มีกลไกเดิม ๆ กลไกปราบโกง รัฐธรรมนูญที่ว่าปราบโกงไม่ได้ทำงาน เพราะกลไกทั้งหมดกับคนที่อยู่ในอำนาจเป็นพวกเดียวกัน จึงไม่รู้จะไปปราบโกงใคร แต่กลไกปราบโกงทั้งหลาย ที่ห้ามโน่นห้ามนี่ ข้อจำกัดต่าง ๆ ก็จะถูกใช้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล

“แผนยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าผิดจากแผนสักบรรทัด ส.ว.ก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำอะไรไม่ได้ กลไกมาตรฐานจริยธรรมแทบไม่ได้เอาใครออก แต่ถ้าส้มแดงเป็นรัฐบาลก็จะเป็นไม้สอง ไม้แรกคือ กกต.ยุบพรรค ถ้ากลั่นกรองไม่ได้ ไม้สองก็จะทำงาน”

ปี’66 ตั้งลูกแก้ รธน.

อีกเรื่องหนึ่ง ในปี 2566 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. และตั้งลูกนำไปสู่แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะกลับมาอีกครั้ง “ยิ่งชีพ” มองว่า เรายื่นแก้รัฐธรรมนูญ 5 ครั้ง 5 ยก ตกไป 25 ฉบับ ผ่าน 1 คือแก้ระบบเลือกตั้ง มี 4 ฉบับที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน ผลโหวตแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน ใครเอาอะไร ไม่เอาอะไร ดูแล้วเห็นอยู่ว่า 20 ร่าง ถ้าไม่มี ส.ว.ผ่านสภาแน่นอน

เพราะพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ เอาด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญตลอด ถ้าดูเฉพาะข้อเสนอที่ตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา โหวตให้ทุกร่าง พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย ประชาชนเสนอ มันเป็นข้อสรุปอยู่แล้ว ติดแค่ ส.ว.

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 การแก้รัฐธรรมนูญไม่น่าจะบรรลุได้ ตราบใดที่ ส.ว.ชุดนี้ยังทำงานอยู่ แต่ก็จะครบอีกนิดเดียว หลังจากนี้ก็เห็นเส้นทาง เดินไปตามเส้นทางของมัน

“ครบ 5 ปีสลักตรงนี้จะหลุดออกโดยอัตโนมัติ อำนาจประยุทธ์ ประวิตรก็จะเสื่อมลง ค่อย ๆ อ่อนลง องค์กรอิสระที่เขาคุม 100% หลังจากนี้ก็จะถูกคัดโดย ส.ว.ชุดใหม่ อำนาจของเขาก็จะค่อย ๆ อ่อน องค์กรอิสระก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น แต่กว่าจะหมดอีก 10 ปี อ่อนลงตามเวลาของมัน”

ดังนั้น เลือกตั้ง’66 สำคัญมาก พรรคการเมืองต้องเชื่อมั่นได้จริง ๆ ถึงเวลาเขาจะเอารัฐธรรมนูญใหม่ ต้องได้เสียง 250 บวก ๆ เกือบถึง 300 โอกาสเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็เป็นไปได้สูง