5 ปรากฏการณ์การเมืองปี 2565 เอฟเฟ็กต์ถึง ปี 2566

การเมือง 2565

การเมือง 2565 ตื่นเต้นเร้าใจ เข้มข้นตลอดตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี

เมื่อความสัมพันธ์ทางอำนาจของ 3 ป.ผู้ถือดุลอำนาจ เกิดสะดุดในช่วงโค้งสุดท้าย

การเมืองพลิกไป – พลิกมา หักเหลี่ยม เฉือนคมกันตลอด โดยภาวะปัจจัยแทรกซ้อนมากำหนดจังหวะ ขับเคลื่อนเกม

ประชาชาติธุรกิจรวบรวม 5 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองปี 2565 ที่ส่งผลเอฟเฟ็กต์ต่อการเมืองปี 2566

ชัชชาติ แลนด์สไลด์

เลือกตั้งใหญ่ที่สุดของชาว กทม.หนีไม่พ้นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นมีสีสัน ประชันนโยบายกันตั้งแต่ช่วงต้นปี เพราะมันเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในรอบ 9 ปี

วันเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ แต่วันดังกล่าวเป็นวันเดียวกับการครบรอบ 8 ปี วันยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

และผู้ที่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 คือ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สามารถสร้างปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” กทม.ได้สำเร็จ เพราะเขาได้เสียงโหวตจากคนกรุงเทพฯ กว่า 1,386,215 คะแนน สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ และชนะทุกเขตเลือกตั้ง

เมื่อ 8 ปี ก่อน ชัชชาติ ในฐานะเป็น รมว.คมนาคม ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เขาอยู่ร่วมในเหตุการณ์ชั่วโมงยึดอำนาจที่สโมสรทหารบก

8 ปี ต่อมา ชัชชาติ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จากมติมหาชน คนกรุงเทพฯ สร้างเอฟเฟ็กต์สู่การเมืองสนามใหญ่ – เลือกตั้งใหญ่

ปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” จึงถูกหยิบมาตีปี๊บ เป็น วาทกรรมการเมือง ของพรรคเพื่อไทย ปักธงเอาชนะ ขั้วอำนาจปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้ง 2566 ที่จะถึงนี้

ประยุทธ์ ฉลุยอยู่เกิน 8 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อยู่กับพวกเรามาถึง 8 ปีเต็ม และยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อจนถึงปี 2567 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 30 กันยายน 2565

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 (วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ) จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี

เรื่องนี้ถกเถียงกันมากว่า 3 ปี (2563 – 2565) ว่าตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดหรือครบ 8 ปี เมื่อใด กระทั่ง ฝ่ายค้านร่วมกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา และมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ผลจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น จะทำให้สังคมเห็น “รอยร้าว” ระหว่าง 3 ป.

ขั้วหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขั้วหนึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เริ่มเด่นชัด

เพราะระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังลงพื้นที่ในฐานะ รมว.กลาโหม

แต่อีกด้านหนึ่ง พล.อ.ประวิตร ที่ขึ้นมาเป็นตำแหน่ง นายกฯ ชั่วคราว ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ก็แอ็คชั่น สวมบทบาทเดินเข้าหาชาวบ้าน ไม่เกรงตำแหน่งนายกฯ ตัวจริง

แถมลูกหาบในพรรคพลังประชารัฐ ยังซูฮกว่า “พล.อ.ประวิตร” เหมาะกับเป็นนายกฯ ตัวจริง

ในที่สุดแล้ว 2 ป..ก็เกิดอาการ ชิงดาวคนละดวง แยกทาง (ทางการเมือง)

2 ป. ทางใคร – ทางมัน

อาจกล่าวได้ว่า การแยกทางของ 2 ป. อาจเป็นไฮไลท์การเมืองแห่งปีก็คงไม่ผิดนัก เพราะส่งผลกระทบใหญ่ต่อการเมืองในปี 2566

จากรอยร้าวที่มีมาตั้งแต่ปราบ “กบฏร้อยเอก” พล.อ.ประยุทธ์ สั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากเก้าอี้ รมช.เกษตร ด้วยข้อหาพยายามล้มนายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ก็ถือเป็นลูกน้องคนโปรดของ พล.อ.ประวิตร

อีกทั้งเกมล้มนายกฯ ยังถูกโยงกับมือมืดการเมือง ป.ที่สี่ ที่มีสัมพันธ์ กับ พล.อ.ประวิตรมาซ้ำเติมประเด็น

นับแต่นั้น ความสัมพันธ์ 2 ป. ก็ไม่เหมือนเดิม ยิ่งภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เว้นวรรคทางการเมืองจากปมนายกฯ 8 ปี เกิดอาการชิงดาวคนละดวง

ที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศแยกทางกับพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค อันเป็นพรรคที่เคยสนับสนุนให้ตนเองเป็นนายกฯ สมัย 2 ไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งลูกหาบของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปจดจัดตั้งพรรคไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565

พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ปัจจุบันมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค ก็เป็นฐานที่มั่นทางการเมืองแห่งใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องคุยกันว่าสิ่งใดที่รัฐบาลนี้ได้ทำไว้ก็คงต้องมีการสานต่อสู่อนาคต อย่างมั่นคง อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ผิวเผิน หรือให้เป็นนโยบายที่จับต้องไม่ได้ ถ้าประกาศว่าจะทำโน่นทำนี่ ทำได้จริงหรือเปล่า ใช่ไหม ถ้าจะให้นี่ให้โน่น จะมีเงินจากที่ไหน หาเงินได้ยังไง ซึ่งผมพยายามทำเรื่องนี้มาโดยตลอด ตลอดมา ทั้ง 4 ปีแรก และ 4 ปีหลัง ผมก็พยายามหารายได้เข้าประเทศ เพราะเรารู้อยู่ต้องดูแลประชาชนให้ได้มากยิ่งขึ้น ก็ต้องมีกติกาพอสมควร ไม่ให้เกิดภาระ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวไว้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565

และในปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ หากแผ่นดินการเมืองไม่ถล่ม ไม่มีเรื่องเซอร์ไพรส์

ล้มโต๊ะสูตรหาร 500

เรื่องที่พลิกไป พลิกมา ทำเอานักการเมืองในสภา ลามไปถึงคอการเมืองนอกสภา ปวดหัวกันทั้งบาง คือ เรื่องการพลิกไปพลิกมาระหว่างสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในเกมการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง หรือชื่อเต็มๆ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ…

ระหว่างสูตรหาร 100 (แบบสัมพันธ์ทางตรงกับ จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน) กับสูตรหาร 500 (แบบจัดสรรปันส่วนผสม)

ปูพื้นกันอย่างเร็ว ๆ และ ง่าย ๆ ที่มาของสูตรหาร 100 เกิดขึ้นภายหลัง รัฐสภาเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง จากของดั้งเดิมที่ใช้เลือกตั้งตอนปี 2562 คือ

1.บัตรใบเดียว กากบาทครั้งเดียวได้ทั้ง ส.ส.เขต และส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยเปลี่ยนใหม่ ให้ย้อนกลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตร ส.ส.เขต กับ บัตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

2.เพิ่มจำนวน ส.ส.เขต จาก 350 คน เป็น 400 คน และลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 150 คน เหลือ 100 คน

3.เปลี่ยนระบบนับคะแนน จาก “นับคะแนนตกน้ำ” คือ นับคะแนนทั้งหมดไม่ว่าผู้สมัครจากพรรคการเมืองนั้นจะแพ้ หรือ ชนะในเขตเลือกตั้ง แล้วมาคำนวณหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มาเป็นนับคะแนนจากบัตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพียงอย่างเดียว

ง่ายๆ ว่า เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งย้อนไปสู่การเลือกตั้งปี 2548 และ 2554 ที่ พรรคไทยรักไทย กับพรรคเพื่อไทย ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง

แต่ความวุ่นวายอยู่ที่การพิจารณาแก้ไขในรัฐสภา เมื่อสูตรหาร 100 ถูกอนุมัติผ่านการเห็นชอบกันมาเป็นทอดๆ ตั้งแต่ชั้นผู้ยกร่างแก้ไขคือ กกต. ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณา ผ่านการรับหลักการ เข้าสู่วาระการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ

จู่ๆ ผู้นำอำนาจ 2 ขั้วในรัฐบาล เกิดอารมณ์ “คิดไม่เหมือนกัน”

พล.อ.ประวิตร และลูกน้องนอกทำเนียบฯ ในพรรคพลังประชารัฐ ต้องการ สูตรหาร 100

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และเสนาธิการการเมืองรอบกาย ต้องการสูตรหาร 500 เพราะกลัวจะไปเข้าทางแผน แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย

จึงส่งสัญญาณขัดกันไปมา

จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทุบโต๊ะเอาสูตรหาร 500 ส่งสัญญาณไปที่สภา กระทั่งจนทำให้สภาพลิกมติหันกลับมาเลือกสูตรหาร 500

ผ่านไปเพียงสัปดาห์กว่า ๆ บรรดา “นักการเมืองตัวพ่อ” เริ่มไปคำนวณ ส.ส.ในสูตรหาร 500 แล้วปรากฏว่า อาจมีบางพรรคในพรรคร่วมรัฐบาล เกิดความ “เสียเปรียบ” เช่น พรรคภูมิใจไทยอาจไมได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย ซึ่งจะประสบชะตากรรมเดียวกับพรรคเพื่อไทย ตอนเลือกตั้งปี 2562

เกมจึงเข้าทางฝ่าย พล.อ.ประวิตร และเครือข่าย…

พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมจำนน กลับไปใช้สูตรหาร 100 อีกครั้ง โดยใช้แทคติกทางกฎหมาย สั่ง ส.ส.ในสภาโดดประชุม ให้การพิจารณากฎหมายลูกไม่เสร็จตามกรอบ 180 วัน สูตรหาร 500 ที่แก้มาแล้วเสร็จสรรพก็ต้องตกไปโดยปริยาย

เรื่องลุกลามไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยพรรคเล็กที่ต้องการสูตรหาร 500 ไปยื่นให้ตีความว่าสูตรหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเกมการสั่งให้ “สภาล่ม” จนทำให้กฎหมายลูกไม่เสร็จภายใน 180 วันหรือไม่

ที่สุดแล้ว 30 พฤศจิกายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

เลือกตั้งใหญ่ ปี 2566 เราจะได้ใช้สูตรการเลือกตั้งแบบ หาร 100 บัตร 2 ใบ ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

อนุทิน ภท.พลังดูด

ปิดท้ายด้วย พรรคภูมิใจไทย ได้สถาปนากลายเป็น “พรรคใหญ่” อย่างเป็นทางการ ด้วย “พลังดูด”

สร้างอีเวนต์การเมืองส่งท้ายปี ประกาศเปิดตัว ส.ส.ปัจจุบัน และ ส.ส.ที่ไปดูดมาจากพรรคอื่น กดปุ่มส่งให้ลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้วมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565

อดีต ส.ส.ที่มาเปิดตัวกับพรรคภูมิใจไทย มีถึง 36 ราย บวกกับ ส.ส.ในสภาของพรรคภูมิใจไทยปัจจุบันอีก 62 ราย ทำให้พรรคภูมิใจไทยมีกำลังคนในมือทั้งสิ้น 98 ราย

การเลือกตั้งปี 2566 พรรคภูมิใจไทยของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข จะมี ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิม ลงป้องกันแชมป์เกิน 100 คน

มากกว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ เสียอีก

ทั้ง 5 ปรากฏการณ์ในปี 2565 ส่งต่อถึงฉากทัศน์การเมืองปี 2566