เทียบฟอร์มชิงนายกฯคนที่ 30 ประยุทธ์ออกตัวแรง-ตระกูลชินวัตรลุ้นคัมแบ็ก

แคนดิเดตนายก

การเปิดตัว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี สมัครสมาชิก-สวมเสื้อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของรวมไทยสร้างชาติ ยิ่งใหญ่และตระการตา ไม่แพ้ครั้งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เปิดตัว-ขึ้นเวทีร้องเพลงกลางสนามกีฬาแห่งชาติ

บิ๊กอีเวนต์โชว์ท่อน้ำเลี้ยง

เบื้องหลังบิ๊กอีเวนต์ครั้งล่าสุด ไม่ใช่การขนคนเรือนหมื่นมาให้กำลังใจนักการทหารที่ยอมเปลืองตัวมาวิ่งลู่การเมืองเต็มตัว แต่เป็นสถานที่จัดงานที่เป็น “คลังแสง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยุค คสช. ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เส้นทางอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยเป็นสถานที่จัดการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

ยังมี “แหล่งพลังงานสำรอง” ที่เป็น “ร่างทรง” ท่อน้ำเลี้ยง ที่ติดตาม พล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่เป็นท่อทุนให้กับพรรคพลังประชารัฐ โดยถูกวางตำแหน่งแห่งหนไว้ในระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่รับประกันเก้าอี้กรรมาธิการพลังงานในสัปปายะสภาสถาน

การระดมทุนของพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะได้เห็นนายทุนพรรคที่ออกมาเปิดหน้าเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์

ลงพื้นที่ 6 ครั้งภายในเดือนเดียว

ตั้งแต่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นแท่น “นายกฯน้อย” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศความชัดเจนทางการเมืองร่วมงานพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อ 23 ธันวาคม 2565 ลงพื้นที่ 6 ครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ นับ 1 เป็น “นักการเมืองเต็มตัว” โดยการลงพื้นที่ “ครั้งแรก” เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 จังหวัดสงขลาและพัทลุง

ครั้งที่สอง วันที่ 21 ธันวาคม 2565 เชียงราย ครั้งที่สาม-ทันทีที่ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัวในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นครปฐม ครั้งที่สี่ วันที่ 6 มกราคม 2566 จังหวัดสิงห์บุรี

ครั้งที่ห้า-ครั้งต่อไป วันที่ 19 มกราคม 2566 จังหวัดราชบุรี และครั้งที่หก ปิดท้ายเดือนมกราคม วันที่ 30 มกราคม 2566 ที่นครสวรรค์ ท่ามกลางข่าวว่านายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ย้ายมาอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ

นับรวมถึง นายธนกร วังบุญคงชนะ ที่แสดงตัวชัดเจนว่าจะย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ตั้งแต่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ วันที่ 1 ธ.ค. 65 ลงพื้นที่ 2 ครั้ง

ครั้งแรก จังหวัดบ้านเกิด-นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่มอบนโยบายแก่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

ครั้งที่สอง ตรวจราชการจังหวัดสงขลา ที่มี ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ย้ายมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ถึง 3 คน ได้แก่ นายศาสตรา ศรีปาน นายพยม พรหมเพชร และ ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี

นักการเมืองประเภทดาวฤกษ์-มีแสงในตัวเองที่เปล่งแสงอยู่ในศูนย์กลางอำนาจฝ่ายบริหาร-ฝ่ายนิติบัญญัติ อ่านใจหัวหน้ารัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งตั้งพรรคการเมือง จะยุบสภาก็ต่อเมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมเลือกตั้ง

ดินเนอร์ทอล์กระดมทุน

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบวาระ-ยุบสภาคือ การตีตื้น-เรียกเรตติ้ง หลังจากมี ส.ส.ย้ายออกไปอยู่พรรคอื่นจำนวนมาก ด้วย 3 วาระใหญ่

ปักหมุดวันที่ 17 มกราคม 2566 พรรคพลังประชารัฐจะเปิดตัวนโยบายสู้ศึกในการเลือกตั้งไฮไลต์คือนโยบายเศรษฐกิจ คือการอัพเกรดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เติมเงิน-เพิ่มสิทธิประโยชน์

ตอกหัวหมุดในวันที่ 21 มกราคม 2566 การประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ กระชับอำนาจ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค

โครงสร้างอำนาจที่จะเข้ามาเติมเต็มตำแหน่งนายกฯคนที่ 30 กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจไทย จะกลับมาเป็นนายทะเบียนพรรค แทนที่นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ที่นั่งขัดตาทัพอยู่ในเวลานี้

ขณะที่ กลุ่มสามมิตร แกนนำสำคัญ ทั้ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ อนุชา นาคาศัย ยังรอจังหวะตัดสินใจ ว่ายังอยู่ในสารบบอำนาจของ พล.อ.ประวิตรหรือไม่-ขึ้นอยู่ว่าอยู่พรรคไหนแล้ว “สบายใจ”

ปิดท้ายวันที่ 30 มกราคม 2566 พลังประชารัฐจะเปิดโรงแรมหรูกลางเมืองจัดงานดินเนอร์ทอล์กระดมทุน ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ห้องบางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 เวลา 17.30-21.00 น.

พรรคพลังประชารัฐเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มสูบ คิกออฟนโยบาย-จัดทัพใหม่-ระดมท่อทุน กระชับอำนาจก๊วนป่ารอยต่อ

ก๊กธรรมนัสคัมแบ็ก

ฟาก พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่เป็นกิจวัตรประจำวัน แต่ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ในจังหวัดที่เป็นผู้แทนราษฎรจะมารอต้อนรับ ส่งสัญญาณก่อตัวเป็นขุมอำนาจใหม่ในพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งการลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่มี นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเศรษฐกิจไทย-มือขวา ร.อ.ธรรมนัส มาต้อนรับ และทิ้งคำสัญญา-ส่งสัญญาณคัมแบ็ก

ล่าสุดการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ที่จังหวัดลำปางและจังหวัดพะเยา ที่ตั้งกองบัญชาการของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย

สัญญาณแรง-ชัด เมื่อสื่อมวลชนที่ต้องติดตามไปรายงานข่าว พล.อ.ประวิตร ที่จังหวัดพะเยา ต้องลงชื่อร่วมคณะเดินทางกับทีมประชาสัมพันธ์ของพรรคเศรษฐกิจไทย

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมสามัญประจำปี สภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) สภาประชาชน 4 ภาค แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ

แต่ให้เหตุผลว่า เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นประธานอนุกรรมการแก้ปัญหาสภาประชาชน 4 ภาค สมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน ที่ พล.อ.ประวิตร เคยมอบหมาย

3 แคนดิเดต คู่แข่ง 2 ป.

ขณะที่เกมเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น มี 3 คนที่เปิดหน้าเปิดตาอย่างเป็นทางการ

แคนดิเดตนายกฯ คนแรก อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ที่คอการเมืองไม่ต้องลุ้นเปิดตัวให้เหนื่อย แต่ที่เหนื่อยคือคู่แข่งร่วมสังเวียนเลือกตั้ง

เพราะภาษีทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยวันนี้ ไม่ได้เป็นแค่พรรคขนาดกลางค่อนใหญ่ แต่วางตัวเป็นพรรคใหญ่หลังการเลือกตั้งรอบหน้า วางเป้า ส.ส.เกือบ 100 ที่นั่ง

อนุทินเตรียมเดินสายช่วยลูกพรรคหาเสียง หลังจากกลับมาจากการประชุม “World Economic Forum” ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

ต่อมา แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แค่นามสกุลก็รู้ว่าคือแคนดิเดตนายกฯ ตัวจริงของพรรคเพื่อไทย แม้แคนดิเดตนายกฯคนอื่น ๆ ในบัญชีพรรคเพื่อไทยจะผลุบ ๆ โผล่ ๆ แทงกั๊กวันเปิดตัว แต่สำหรับแพทองธาร เธอประกาศชัดเจนแล้วว่าเธอคือเบอร์ 1

“ส่วนตัวอิ๊งเองพร้อมนะคะ เพราะเราลงมาจุดนี้ อยากให้พรรคแลนด์สไลด์ เพื่อนำนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้ทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ แต่เป้าหมายของอิ๊งคือ นโยบายที่จะผลักดันให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น ถ้าพรรคมีคนที่เหมาะสมกว่าอิ๊งก็พร้อมถอยเหมือนกัน ยังอยู่ในส่วนการทำนโยบาย อยู่ในส่วนการคุยกับประชาชน ผลักดันให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของประชาชน อันนั้นคือเป้าหมายหลัก”

พรรคเพื่อไทยวางคิวปราศรัยให้เธอเดือนละ 2 ครั้ง ในนามอีเวนต์ “ครอบครัวเพื่อไทย” แม้จะตั้งท้องลูกคนที่ 2 ซึ่งขณะนี้อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน ลองสมมุติว่ามีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ไม่ว่าช่วงต้นเดือน หรือปลายเดือน

การหาเสียงทั้งที่อุ้มท้องอยู่สามารถเรียกเรตติ้งทางการเมืองได้มหาศาล นอกเหนือจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท

อีกคนหนึ่งคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พรรคมหาชนคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่เปิดศักราช 2566 เดินสายในพื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพฯ เกือบทุกโซนใน กทม. ทั้งโซนฝั่งธนบุรี บางกะปิ สวนหลวง ฯลฯ ประกาศตั้งเป้าจะได้ ส.ส. 70 คน

การหาเสียงของพรรคก้าวไกล ภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง เตรียมตั้ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้าเป็น “ผู้ช่วยหาเสียง” ร่วมหาเสียงคู่ขนาน โกยเรตติ้งเข้าพรรค หวังกวาดคะแนน ส.ส.นิวโหวตเตอร์ 3 ล้านเสียง ควบคู่กับรักษาฐานเสียงเดิม คนรุ่นใหม่จากการเลือกตั้งปี 2562 ตั้งความหวังกับชุมชนคนชั้นกลาง บ้านมีรั้ว คอนโดฯ

พิธาประกาศว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้จึงยิ่งสำคัญไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือการเลือกระหว่าง ‘อดีต’ และ ‘อนาคต’ ถ้าคุณอยากให้ประเทศไปต่อแบบเดิม ประยุทธ์-ประวิตรคือทางเลือก แต่ถ้าคุณเชื่อมั่นและศรัทธาในวิถีก้าวไกล ทางรอดทางเดียวของประเทศก็จะไม่ใช่การไปต่อแบบเดิม แต่คือการต้องสร้างประเทศไทยที่ดีกว่านี้ให้สำเร็จจงได้ ดังนั้น กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”

แม้ปี่กลองการเลือกตั้งจะยังไม่ดังขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่พรรคการเมืองขาใหญ่ก็ลงสนาม เปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ ไม่รอให้ระฆังเริ่ม