เปิดสูตรลับ ส.ว.โหวตนายกฯ รวมพลังงดออกเสียง ปิดทางพลิกขั้วรัฐบาล

นายก
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

จุดชี้ขาดว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไม่ได้อยู่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งหน้า 39 ล้านเสียง เท่านั้น

แต่อยู่ที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียง ที่มีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกฯใน 5 ปี คงไม่ได้กล่าวเกินเลยไปนัก

ศึก 2 ป. ชิง 250 เสียงนั่งนายกฯ

ส.ว.คีย์แมนคุมขุมกำลังสภาสูงออกตัวในเชิงหลักการว่า ส.ว.จะสนับสนุนฝ่ายที่ได้เสียงข้างมากของประชาชน ถ้าพรรคเพื่อไทยรวมได้เสียงข้างมาก เป็นคนแต่งตั้งประธานรัฐสภา แต่งตั้งรองประธานรัฐสภาคนที่ 1 คนที่ 2 ส.ว.จะไปเลือกคนอื่นได้อย่างไร

“ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง แต่ต้องรวมเสียงกับพรรคการเมืองและได้เสียงข้างมาก ตามมารยาท ส.ว.ต้องยกมือให้ฝั่งนั้น”

“ยกเว้นบางเรื่อง เช่น พรรคที่ได้เสียงข้างมากไปเสนอคนไม่สมควรเป็นนายกฯ ประวัติไม่ดี ถ้าเสนอชื่อคนดี ๆ ไม่มีประวัติด่างพร้อยมา ส.ว.ไม่ค้านเลย”

ส.ว.สายแข็ง สเกตช์ภาพนายรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่มีคุณสมบัติ “นายกฯคนดี” ของ ส.ว.ว่า ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นทหารหรือพลเรือน ขอให้เป็นคนดี คนเก่งและมีความสามารถ นำพาประเทศชาติไปได้

ส.ว.คนละสายเลือดบูรพาพยัคฆ์ ฉายภาพศึกชิงนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กลางสภา หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว.จะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร เพราะเมื่อถึงเวลาโหวตจะเกิดปรากฏการณ์ ส.ว.รักพี่-เสียดายน้องหรือไม่ ?

“เขาคงตกลงกันแล้วว่า ใครได้เสียงข้างมาก อีกคนต้องยอม”

“ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้ 80 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติได้ 30 ที่นั่ง รวมไทยสร้างชาติก็ต้องยอมพลังประชารัฐ ถ้าพลังประชารัฐได้ 40 รวมไทยสร้างชาติได้ 60 พลังประชารัฐก็ต้องยอมรวมไทยสร้างชาติ เมื่อยอมอีกคนหนึ่งแล้ว ก็ต้องดูว่ารวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียงหรือไม่”

“ไม่มีทางเป็นไปได้ที่พรรคที่ได้เสียงน้อยกว่าแล้วจะรวบรวมได้เสียงข้างมาก”

เขาไม่ติดใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯได้อีกเพียง 2 ปี เพราะเมื่อถึงหมดเวลา 2 ปีก็เลือกกันใหม่

“แต่คนที่จะรวมเสียง ส.ส. ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ 2 ปี จะรวมได้หรือไม่ ถ้า ส.ส.เห็นว่า 2 ปียังมีประโยชน์กับประเทศชาติ ส.ส.ก็ไม่แตกแถว ขอให้รวมเสียงให้ได้ 250 เสียง”

“เลือกคนแพ้ไม่มีประโยชน์ แถลงนโยบายไม่ผ่าน ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ องค์ประชุมสภาไม่ครบ บ้านเมืองปั่นป่วน” ส.ว.โชว์สติปัญญาจะไม่เกิดปรากฏการณ์รัฐบาลเสียงข้างน้อย

ถึงเวลา ส.ว.ต้องโหวตจะแตกแถวหรือไม่ เขาไม่ลังเลที่ตอบว่า “ถ้าใครได้เสียงข้างมาก อีกคนก็ต้องหมอบ” และอ่านใจพี่น้อง 2 ป.ว่า อาจจะลงล็อก-จบที่สูตร “นายกฯคนละครึ่ง”

“ถ้า พล.อ.ประวิตร รวบรวมเสียงได้มากกว่า 250 อาจจะเป็นนายกฯก่อนแค่ 2 ปี และ พล.อ.ประยุทธ์เป็นทีหลังอีก 2 ปี แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็น 2 ปี พล.อ.ประวิตรก็เป็นอีก 2 ปี”

งดออกเสียง-บล็อกโหวตนายกฯ

ในทางตรงกันข้าม-ขั้วตรงข้ามหากพรรคเพื่อไทยรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 ที่นั่ง ส.ว. 250 คนที่ถูกประทับตราว่า เป็นมือไม้ของระบบสืบทอดอำนาจ-สิ่งแปลกปลอมของระบอบประชาธิปไตย จะยกมือให้หรือไม่ ?

ตามมารยาทแล้ว ส.ว.ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ถ้าเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ส.ว.ก็ต้องยกมือให้ ส.ว.จะไปค้านเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้อย่างไร

“ยกเว้นต้องเลือกคนที่มีขีดความสามารถ คนเก่ง คนดี มาเป็นนายกฯ อยู่ในตะกร้า ไม่อย่างนั้น ส.ว.อาจจะงดออกเสียง และต้องเลือกใหม่ ถึงแม้ว่า ส.ว.จะไม่ค้านเสียงส่วนใหญ่ แต่แค่ ส.ว.งดออกเสียงก็ยุ่งแล้ว ถ้าเสนอคนไม่ดีมาเป็นนายกฯ ส.ว.อาจจะรวมพลังกันงดออกเสียง ยุ่งเลยนะ ต้องเปลี่ยนคนใหม่ ถ้า ส.ว.งดออกเสียง เสียงไม่ถึง 375 เสียง ยุ่งนะ” เขาตั้งการ์ดสูง

ทว่า ส.ว.สายกำลังพล ไม่เชื่อว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในตะกร้าจะมีชื่อ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร และ นายเศรษฐา ทวีสิน อาจจะมี “ไพ่ใบที่สาม”

ส่วนชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตรงปกสเป็กคนดีของ ส.ว.หรือไม่ เขาอ้าแขนรับว่า เป็นน้องรักของ ส.ว.หลาย ๆ คน เป็นคนดี ไม่มีปัญหา

“แต่ขึ้นอยู่กับว่า นายอนุทินจะรวมเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.ได้หรือไม่ ถ้ารวมเสียงส่วนใหญ่ได้ นายอนุทินก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะฝ่ายไหนรวบรวมเสียงได้มากกว่า ตามมารยาท ส.ว.ต้องเทใจไปให้ทางนั้น”

เมื่อถึงวันต้องเปิดไพ่-เปิดชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ และจนกว่าถึงวันที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในสภา ใครจะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

ถึงวันนั้นชื่อที่เห็นอาจจะไม่ใช่ ชื่อที่ใช่อาจจะยังไม่เห็น

สูตรตั้งรัฐบาล มุม ส.ว.

ด้าน “สมชาย แสวงการ” ที่นั่งในสภาสูงต่อเนื่องยาวนานมา 16 ปี ตั้งแต่รัฐบาล สมัคร สมชาย อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ เว้นวรรค เป็น สนช. แล้วมาเป็น ส.ว. 250 มีตำแหน่งเป็นเลขาฯวิป ส.ว. อ่านเกมในสภาตอนโหวตนายกฯว่า การโหวตของ ส.ว.ไม่มีแบ่งข้าง เรื่องการโหวตฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร เป็นเรื่องที่ “มโน” กันไปเองมากกว่า

เพราะสังเกตการโหวตของ ส.ว.ในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะลงมติเลือกองค์กรอิสระ แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือวาระที่ไม่สามารถเปิดเผยการลงมติได้ จะเห็นว่า ส.ว.ไม่มีการแบ่งข้างใดข้างหนึ่ง แต่ ส.ว.มีวุฒิภาวะในการลงมติว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองมากกว่า

“สมชาย” ย้อนไปถึงการเลือกนายกฯเมื่อปี 2562 ว่า ถ้าตอนนั้น พรรคเพื่อไทยที่ได้เสียงข้างมาก เป็นพรรคอันดับหนึ่ง เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของตัวเอง เช่น เสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เชื่อว่าจะมี ส.ว.จำนวนหนึ่งยกมือสนับสนุน แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยกลับไปเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคอันดับสาม จึงไม่โหวตให้

แต่เมื่อถึงสถานการณ์หลังเลือกตั้ง 2566 “ส.ว.สมชาย” คาดการณ์สูตรจัดตั้งรัฐบาลว่าจะมี 3 สูตร 2 ขั้ว

สูตรแรก ขั้วรัฐบาลเดิม อันประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคหลัก ๆ จะมาจับมือจัดตั้งรัฐบาลเป็นรอบที่ 2 ซึ่ง “สมชาย” ให้น้ำหนักสูตรนี้มากที่สุด เพราะสถานการณ์ขณะนี้ยังมีการแบ่งขั้วในลักษณะแบบเดิมชัดเจน

และการเลือกนายกฯในสภา จะไม่ใช่การแข่งกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล เพราะทั้ง 3 พรรคหลักของรัฐบาลจะขาดพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ ยังต้องการเสียงของกันและกันในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร จะแข่งกันไม่ได้เลย

ตั้งเงื่อนไขโหวตนายกฯ

สูตรที่ 2 ขั้วฝ่ายค้านปัจจุบันพลิกมาจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เป็นตัวนำ ได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง และรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

“สมชาย” บอกว่า สูตรนี้ไม่ใช่ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ส่วนตัวมองว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยยังมุ่งแต่จะเอาพ่อกลับบ้าน โดยไม่ต้องมารับโทษทางคดี เชื่อว่า ส.ว.ก็ไม่เอาด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าพรรคก้าวไกลยังต้องการล้มรัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ส.ว.ก็ไม่เอาด้วย ดังนั้นจะต้องให้คำมั่นกับสังคมก่อนว่าจะไม่แตะต้องเรื่องพวกนี้

สูตรที่ 3 คือ พรรคพลังประชารัฐ จับมือกับพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาลเป็นขั้วที่ 3 ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปได้ยาก และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะมารวมกันในขณะนี้

ในฐานะที่อยู่ในสภาสูงมา 16 ปี และเป็นแกนหลักของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการเสนอ “คำถามพ่วง” ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ตอนทำประชามติ 7 สิงหาคม 2559 “สมชาย” เดาทาง ส.ว.ในการโหวตนายกฯว่า

1.ถ้าฝ่าย ส.ส.ชูใครมาเป็นนายกฯ แล้วรวมเสียงไม่ได้ 250 เสียง ส.ว.ก็จะไม่โหวตให้ จะมาหวังให้ได้ 125 เสียง แล้วมารวมกับ ส.ว. 250 เสียง เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 375 เสียง เป็นไปไม่ได้ เพราะ ส.ว.รู้ว่า ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เปิดสภาวันเดียว ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็แพ้แล้ว

2.ถ้าไม่อยากให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ก็รวบรวมเสียงให้ได้เกิน 375 เสียง เท่านั้น ส.ว.ก็ร่วมโหวตนายกฯ ด้วยไม่ได้แล้ว ส.ว.ยึดรัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง

เกมลับลวงพราง 2 ป.

ขณะที่ ส.ว.สายบู๊รายหนึ่ง ไม่ประสงค์ออกนาม แต่ผสมโรงอยู่ในขั้วอำนาจ วิเคราะห์เกม 2 ป. ประยุทธ์-ประวิตร หันหน้าไปคนละทาง สร้างดาวคนละดวง

การแยกทางของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เป็นเกม “แยกกันเดินร่วมกันตี” มากกว่า “แยกกันเดินตีกันเอง”

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ก็ต้องตกลงกันได้ว่าใครจะขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เชื่อได้ว่า ก็จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ คนเดิม ส่วนเรื่องแตกหักกัน เป็นเพียงแค่ “ละคร”

“ลุงตู่เล่นละครเก่ง เป็นเกมลับ ลวง พราง มากกว่า กระแสข่าวที่เกิดขึ้น การทะเลาะกันของผู้มีอำนาจ ก็ไม่ต่างกับพระรามทะเลาะทศกัณฐ์ มีแต่ลูกสมุน ลิ่วล้อแต่ละฝ่ายเต้นแรงกว่าเสียอีก หลายเรื่องเขาก็ไม่ได้เอามาบอกเรา (ส.ว.) มีแต่พวกเขา (พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร) ที่รู้”

สุดท้าย ส.ว.จะโหวตไปในทางเดียวกัน ไม่มีแตกแถว

ส.ว.โหวตไม่แตกแถว

ส.ว.ยุคเปลี่ยนผ่าน 5 ปี นอกจากโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯสมัยที่ 2 เมื่อ 5 มิถุนายน 2562 ร่วมกับ ส.ส. โดยเสียงของ “ส.ว.” ที่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจกล่าวได้ว่าเป็น มติเอกฉันท์ 249 เสียง ขาดเพียง 1 เสียง ที่งดออกเสียง คือ พรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา

จากนั้นกฎหมายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลที่ต้องผ่านการลงมติโดย ส.ว.ก็ไม่แตกแถวเช่นกัน อาทิ ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท) ส.ว.ลงมติเห็นชอบ 242 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2

พ.ร.ก.ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท) ส.ว.เห็นชอบ 206 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2565 ส.ว.ก็เห็นชอบ 200 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2564 ส.ว.เห็นชอบ 218 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 5 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 ส.ว.เห็นชอบ 215 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 6

ถึงเวลาศึก 2 ป.แข่งกันรวมเสียง