
เปิดประวัติ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการก้าวไกล มันสมองและตัวตึงของพรรค
วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ทันทีที่พรรคก้าวไกล ประกาศลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 ชื่อของนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ผู้คนยิ่งจับตาไปที่ชายคนนี้มากขึ้น
- หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน
- “ทรู-ดีแทค” ถล่มโปร “คืนค่าเครื่อง” ย้ำรวมกันได้มากกว่า
- เปิด “ผังน้ำ” ประกบผังเมือง เขย่าราคาที่ดินทั่วประเทศ
โดยหลังจากที่พรรคก้าวไกลพลิกล็อกเอาชนะเลือกตั้ง 2566 ไปแบบพลิกความคาดหมายแบบหักปากกาเซียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ชัยธวัชเป็นตัวแทนพรรคในการประสานงานกับพรรคการเมืองต่าง ๆ รวบรวมพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และเขาคือตัวแทนก้าวไกลในคณะกรรมการเจรจาหาเสียงโหวตในสภาบนสภาล่าง ยกมือให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
ต้องติดตามต่อไปว่า ชัยธวัช ตุลาธน จะสามารถนำทัพก้าวไกลให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ ?
ประวัติ-จุดเริ่มต้นสนใจการเมือง
นายชัยธวัช ตุลาธน อายุ 44 ปี มีชื่อเล่นว่า ต๋อม หรือ ชัยธวัช แซ่โค้ว เกิดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2521 จบ ม.ต้นจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ พญาไท จบ ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชัยธวัชกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มสนใจการเมืองว่า เริ่มทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ม็อบสมัชชาคนจน รอบทำเนียบรัฐบาลที่มีการชุมนุม 99 วัน จึงลงพื้นที่เรียนรู้และพูดคุยกับคนที่อยู่ในม็อบสมัชชาคนจน ว่ามีปัญหาอะไรจึงมาชุมนุม ตอนนั้นเขาไปเพราะอยากรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น หรือมีปัญหาอะไรกัน
“เมื่อได้พูดคุยก็ทราบว่ามีปัญหาเยอะมาก ตรงจุดนั้นเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ผมและเพื่อนได้ไปกินนอนอยู่กับม็อบจนชุมนุมครบ 99 วัน รู้สึกว่าได้เรียนรู้มากมายจากตรงนั้น หลังจากนั้นในปี 2540 จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พอปี 2541 ได้เป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)”
และนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้สนใจปัญหาการเมืองอย่างจริงจัง ย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยมฯก็ติดตามการเมืองผ่านข่าวเป็นหลัก โดยได้รับอิทธิพลการอ่านหนังสือพิมพ์จากคุณพ่อ แต่พอเรียนมหาวิทยาลัยก็เจอเรื่องการเมืองของจริง
ความสัมพันธ์กับธนาธร
ชัยธวัช ตุลาธน พบกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจตั้งแต่ช่วงมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยธนาธรเป็นรุ่นน้องของชัยธวัช 1 ปี โดยเรียนโปรแกรมเดียวกันคือ แผนกเตรียมวิศวะ รู้จักกันในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง พอเข้ามหาวิทยาลัยได้พบกันในแวดวงกิจกรรมเคลื่อนไหว ก่อนจะเข้ามามีตำแหน่งในคณะกรรมการของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)” ชัยธวัช และธนาธรมีแนวคิดทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน โดยหลังเรียนจบ ทั้งคู่ก็ยังติดต่อกันเสมอ
ชัยธวัชเผยว่าหลังจากเรียนจบก็ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับวิศวะเลย เนื่องจากสนใจงานวิชาการ โดยก่อนที่จะเรียนจบก็ได้ไปทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการที่สถาบันพัฒนาการเมือง พอทำไปได้สักพักด้วยความที่ชอบหนังสือและงานวิชาการ จึงไปตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการ และธนาธรก็มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่บ้าง
ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่
ภายหลังการทำรัฐประหารปี 2557 ชัยธวัชเริ่มพูดคุยกับแนวร่วมว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรทางการเมืองของประชาชน ที่จะใช้ต่อสู้ทางการเมือง เพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา จึงพบปะแลกเปลี่ยนกันเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นตกผลึกเรื่องการตั้งพรรคการเมือง จนกระทั่งช่วงรณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ของ คสช. ก็ได้ร่วมช่วยเหลือกันรณรงค์คัดค้านด้วย แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านประชามติ
นายชัยธวัชกล่าวถึงการตั้งพรรคอนาคตใหม่ว่า เห็นบรรยากาศในทางการเมืองไม่ค่อยดี เห็นได้จากประชาชนที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเริ่มรู้สึกที่จะท้อแท้ และหมดหวัง ว่าน่าจะทำอะไรไม่ได้ แล้วเห็นว่าบรรยากาศที่ประชาชนหันหลังให้กับการเมืองเป็นบรรยากาศที่อันตราย เพราะเท่ากับว่าเป็นการช่วยให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อไปได้ จึงกลับมาคิดอีกครั้งอย่างจริงจัง ว่าองค์กรทางการเมืองหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะใช้ต่อสู้เพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมาควรจะเป็นอย่างไร
พอมาช่วงกลางปี 2560 ชัยธวัชเริ่มคุยกับธนาธร อาจจะถึงขั้นต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนจริง ๆ และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจริง ๆ ขึ้นมา จึงเริ่มชวนคนที่มีความคิดใกล้เคียงกันและน่าจะเห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้ เริ่มจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน หลังจากนั้นจึงหารือว่าหากจะมีพรรคการเมืองแล้วจะออกมาในรูปแบบใด จะมีใครมาเข้าร่วมบ้าง กระทั่งมาตกผลึกกันในช่วงสิ้นปี 2560 ก็ตัดสินใจร่วมกับธนาธรตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา
วางยุทธศาสตร์การเมือง ก้าวไกล และคณะก้าวหน้า
นายชัยธวัชกล่าวว่า การเมืองแบบสองขาไม่ใช่ความตั้งใจของเราตั้งแต่แรก แต่มาจากสภาพเงื่อนไขทางการเมืองที่เป็นจริง เพราะแกนนำพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าสภาไม่ได้ ก็ต้องหาแนวทางทำงานทางการเมือง เพื่อการผลักดันข้อเสนอ จึงจำเป็นต้องทำงานนอกสภา ที่อยู่บนพื้นฐานที่เรายืนหยัดว่าต่อให้เจออะไรเราก็จะไม่ถอย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของการวางยุทธศาสตร์การเดินการเมืองแบบสองขา
การถูกตัดสิทธิทางการเมือง คือไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถทำพรรคการเมืองได้ แต่สิทธิทางการเมืองอื่น ๆ ยังเป็นของเขาอย่างสมบูรณ์ สามารถรณรงค์ทางการเมือง แสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการสนับสนุนการกระจายอำนาจ ยุติระบบราชการรวมศูนย์ ผ่านการสนับสนุนการเมืองท้องถิ่นได้ สำหรับพรรคก้าวไกลวันนี้อยู่ในสภาก็ต้องทำงานในสภาให้ดีที่สุด
ในขณะที่ธนาธร ผลักดันคณะก้าวหน้า โดยทำงานด้านมวลชน และการเมืองระดับท้องถิ่นคู่ขนานไป ต้องจับตาว่าชัยธวัช ตุลาธน จะสามารถผลักดัน “พิธา” ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯคนที่ 30 ได้หรือไม่
ข้อมูล : มติชนออนไลน์