อำนาจ หน้าที่ประธานสภา เปิดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง 4 สมัยหลังสุด

ประธานสภาฯ
ภาพจากเว็บไซต์ Thaigov

คุณสมบัติของประธานสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่อย่างไร และย้อนรอย ผู้ดำรงตำแหน่ง 4 สมัยหลังสุด

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่สามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 313 เสียง นอกจากการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ตำแหน่งที่กำลังมีกระแสถกเถียงไม่แพ้กันก็คือ ตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร”

ในขณะนี้ทั้งก้าวไกล (ก.ก.) และเพื่อไทย (พท.) ต่างก็ต้องการตำแหน่งนี้มาครอบครอง ต้องติดตามต่อไปว่าพรรคไหนจะสามารถคว้าเก้าอี้ประธานสภามาได้

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ คือ เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ หลังที่ประชุมสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ

อำนาจและหน้าที่ของประธานสภา

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา (มาตรา 80 วรรคหนึ่ง) ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน (มาตรา 80 วรรคสอง)

หากในกรณีที่ประธานวุฒิสภาต้องทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนแต่ไม่มีประธานวุฒิสภา และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในระหว่างไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ให้รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ถ้าไม่มีรองประธานวุฒิสภา ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอายุมากที่สุดในขณะนั้นทำหน้าที่ประธานรัฐสภาและให้ดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภาโดยเร็ว (มาตรา 80 วรรคสาม)

อำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาถูกกำหนดไว้ในมาตรา 80 วรรคสี่ โดยเป็นหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และดำเนินกิจการของรัฐสภา ในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ นอกจากนี้จะต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 80 วรรคห้า) โดยรองประธานสภามีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย (มาตรา 80 วรรคท้าย)

ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ระบุอำนาจหน้าที่ของประธานสภา ไว้ ดังนี้

  • เป็นประธานที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
  • กำหนดการประชุมรัฐสภา
  • ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
  • รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภา ตลอดจนบริเวณรัฐสภา
  • เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
  • แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการใด ๆ
  • และมีอำนาจหน้าที่อื่น ตามกฎหมายบัญญัติ ที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทเป็น “ประธานรัฐสภา” พร้อมระบุหน้าที่ไว้ ได้แก่ เป็นผู้กราบบังคมทูลตำแหน่งนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เช่น แต่งตั้งประธานองคมนตรี และแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นต้น

เปิดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง 4 สมัยหลังสุด

– ปี2562 นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ (ที่นั่งในสภา 52 เสียง พรรคอันดับ 4) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง) ประธานสภาผู้แทนราษฎร, อดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (15 สมัย) ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม, อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

– ปี 2554 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 265 เสียง) อดีตที่ปรึกษา รมว.กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2539, อดีตประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2531-2533, อดีตที่ปรึกษา รมว.กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2535, อดีตที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2538, อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2539 และอดีตกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2544

– ปี 2551 นายชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย (ก่อนหน้านั้นะหว่างดำรงตำแหน่งสังกัดพรรคพลังประชาชน) สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน, ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย นายชัย ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมรัฐบาลกับ ประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ. 2512, 2522, 2526, 2529, 2535, 2538, 2539

อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พ.ศ. 2548 และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ. 2549

– ปี 2551 นายยงยุทธ์ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (พรรคพลังประชาชนที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 233 เสียง) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2538, 2539, 2544 อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2541-2542, อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2544-2545, อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2545-2548 และอดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2548-2549

การเลือกประธานสภา ใครเป็นคนเลือก

จากข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้การเลือกประธานสภา มีวิธีการดังนี้

– การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญสมาชิก ผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการ เลือกประธานสภาและรองประธานสภา

– การเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ให้ผู้ถูกเสนอชื่อกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยไม่มีการอภิปราย

– ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

ข้อมูล : สมาชิกรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า