เลือกตั้ง 2566 : ประธานสภาฯ สำคัญอย่างไร ทำไมพรรคการเมืองจึงหมายปอง

ในช่วงระหว่างที่มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากเสียงข้างมาก 313 เสียง นำโดยพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นอกจากโผของเก้าอี้รัฐมนตรีแล้วที่มีรายงานข่าวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งอีกตำแหน่ง คือ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ที่ถูกจับตาว่าจะเป็นผู้มาจากพรรคที่คะแนนเสียงอันดับหนึ่งหรือจากพรรคร่วมรัฐบาล

รัฐธรรมนูญของไทยฉบับตั้งแต่หลังเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 เป็นต้นมา รวมทั้งฉบับปี 2560 ได้บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง

ความสำคัญของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาด้วยอีกตำแหน่ง บทบาทแรกที่ชัดเจน คือ การเป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ หลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ

บีบีซีไทยประมวลที่มาที่ไป ประวัติศาสตร์ของประธานสภาชุดที่แล้ว และบางเหตุการณ์ที่ชี้ว่า เหตุใดตำแหน่งประธานสภาฯ จึงสำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาล

หน้าที่ของประธานสภาฯ มีอะไรบ้าง

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความสำคัญในฐานะผู้กำกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเห็นตัวอย่างได้ในช่วงสภาชุดที่ 25 หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มี.ค. 2562

ประธานสภาฯ จะเป็นผู้วินิจฉัยอนุญาต หรือจำกัดการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภา ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายงบประมาณประจำปี หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

แม้ว่าข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเขียนไว้ชัดเจนว่าประธานสภาฯ ซึ่งเป็นประธานของที่ประชุม “ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่” แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งทำให้เกิดความ “ได้เปรียบ-เสียเปรียบ” ระหว่างพรรคการเมืองแต่ละฝ่ายระหว่างที่มีการประชุมหรืออภิปราย

สำหรับหน้าที่ของประธานสภาฯ มีดังนี้

  • เป็นประธานของที่ประชุม และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
  • กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภา
  • ควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุม ตลอดถึงบริเวณสภา เช่น การยุติการอภิปรายของสมาชิก ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวด้วยวาจา ปิดไมค์ ใช้ค้อนทุบ หรือยืนขึ้น
  • เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอก
  • แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา
  • หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เช่น การบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม กำหนดวิธีการตรวจสอบองค์ประชุม สั่งพักการประชุม เลื่อนการประชุมหรือเลิกการประชุมได้ตามที่เห็นสมควร
  • เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ หลังสภาฯ มีมติเลือก
  • เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

ย้อนหลัง 20 ปี ประธานสภาฯ ล้วนมาจากพรรคอันดับหนึ่ง ยกเว้นสภาฯ ชุดปี 2562

จากประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา นับตั้งแต่อย่างน้อยปี 2535 ประธานสภาฯ ล้วนมาจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในสภา

ทว่า ในการลงมติเลือกประธานสภาฯ เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ของประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่ประธานสภาฯ มาจากพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่งได้นั่งเก้าอี้นี้ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งมีที่นั่งในสภา 52 เสียง

  • 2535 นายมารุต บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ ในรัฐบาลนำโดยนายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์ ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 79 เสียง)
  • 2538 พล.ต. บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ จากพรรคชาติไทย ภายใต้รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา (พรรคชาติไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 92 เสียง)
  • 2539 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคความหวังใหม่ รัฐบาลนายชวลิต ยงใจยุทธ์ (พรรความหวังใหม่ ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 125 เสียง)
  • 2543 นายพิชัย รัตตกุล พรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย หรือ “รัฐบาลชวน 2” (มิ.ย.- พ.ย. 2543 โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลในเดือน พ.ย. 2540 จากการดึง ส.ส. พรรคประชากรไทย ชิงตั้งรัฐบาล หลังจากนายชวลิต ยุงใจยุทธ์ ลาออกจากนายกฯ )
  • 2544 นายอุทัย พิมพ์ใจชน พรรคไทยรักไทย รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 248 เสียง)
  • 2548 นายโภคิน พลกุล พรรคไทยรักไทย รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 377 เสียง
  • 2551 นายยงยุทธ์ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (พรรคพลังประชาชนที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 233 เสียง)
  • 2551 นายชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย (ก่อนหน้านั้นะหว่างดำรงตำแหน่งสังกัดพรรคพลังประชาชน) สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน, ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย นายชัย ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมรัฐบาลกับ ปชป.
  • 2554 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 265 เสียง)
  • 2557 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
  • 2562 นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ (ที่นั่งในสภา 52 เสียง พรรคอันดับ 4 ) รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง)

ตำแหน่งประธานสภา ตัวต่อรองร่วมรัฐบาล?

การเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เกิดขึ้นในการประชุมสภาฯ ชุดที่ 25 นัดแรก เป็นการชิงชัยระหว่างผู้ที่ถูกเสนอชื่อ 2 ชื่อ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาปัตย์ เสนอโดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หมายเลข 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ถูกเสนอชื่อ โดย ส.ส. พรรคประชาชาติ (ปช.)

ประเด็นที่น่าสนใจในเวลานั้น สืบเนื่องจากว่า มี 2 พรรคการเมือง ที่ยังไม่ประกาศจุดยืนทางการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มี 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 51 เสียง

แต่ช่วงก่อนการโหวต กลับมีการเสนอญัตติจาก ส.ส. พปชร. ขึ้นมา ที่เสนอให้เลื่อนวาระการเลือกประธานสภาออกไป ด้วยปัญหาส่วนตัวที่ว่า “พรรคยังไม่ได้กลับมติ” เรื่องการเสนอชื่อคนใน พปชร. ชิงเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่สุดท้ายญัตติของ พปชร. “แพ้โหวต” ฝ่ายตรงข้ามไปเพียง 2 เสียง โดยที่พรรค ปชป. และ ภท. ร่วมลงมติสนับสนุนญัตติของ พปชร. ด้วย

หลังจากนั้น ในการลงมติ นายชวน หลีกภัย จาก ปชป. ได้รับการลงมติเป็นประธานสภา ด้วยคะแนนเสียง 258 ต่อ 235 งดออกเสียง 1

ผลการลงมติครั้งแรกของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 นอกจากได้ประธานสภาฯ จากพรรคขนาดกลางที่ได้คะแนนเสียงเพียงอันดับ 4 ในสภาแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงพรรคที่หนุนการนำของพรรคพลังประชารัฐ ให้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนับรวมได้ 20 พรรคการเมืองในวันนั้นเอง

ดังนั้น จึงอาจถือว่าตำแหน่งประธานสภาฯ อาจเป็น “ตัวต่อรอง” เงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นรัฐบาล

เพราะก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส. ฉะเชิงเทรา พปชร. ส่งสัญญาณ “พร้อมหมอบ” ให้แก่คู่แคนดิเดตจาก ปชป. ตามความเห็นแกนนำ พปชร. ที่ไปเจรจาจับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองต่าง ๆ เขายอมรับอย่างไม่ปิดบังว่า “ขณะนี้เราตระหนักถึงการจัดตั้งรัฐบาลเป็นหลัก”

มีอำนาจการบรรจุญัตติเข้าสภา

ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ญัตติทั้งหลายต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานสภาฯ และต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน ขณะที่ญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการหรือขอให้คณะกรรมาธิการสามัญคณะใดพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

ในส่วนของญัตติด่วน ประธานสภาฯ จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเป็นญัตติด่วนหรือไม่ และต้องแจ้งผลต่อผู้ยื่นภายใน 5 วัน ส่วนญัตติอื่น ประธานสภาฯ ต้องบรรจุญัตติเข้าระเบียบวาระการประชุมภายใน 7 วัน ตามลำดับก่อนหลัง

ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา มีญัตติหลายประเด็น ที่ไมได้เข้าสภา เช่น พรรคก้าวไกล โดย ส.ส. 44 คน ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่กลับถูกโต้แย้งโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรว่ามีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

หรือญัตติการตั้ง กมธ. ศึกษากระบวนการเจรจาสันติภาพของกลุ่ม ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่เกิดขึ้นในสภาชุดที่แล้ว เป็นต้น

ประธานสภาฯ มาจากไหน ใครเป็นคนเลือก

จากข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้การเลือกประธานสภา มีวิธีการดังนี้

  • การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญสมาชิก ผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการ เลือกประธานสภาและรองประธานสภา
  • การเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ให้ผู้ถูกเสนอชื่อกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยไม่มีการอภิปราย
  • ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว