ภูมิธรรม ชง ครม.ประชามติ มกราคม 67 ขีดเส้น 4 ปี เลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายภูมิธรรม เวชยชัย

ภูมิธรรม ปิดจ็อบรับฟังความเห็นทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเวที กทม. กางไทม์ไลน์ได้ข้อยุติ 4 ภาค ก่อนชง ครม. มกราคม 67 ขีดเส้น 4 ปี เลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติกล่าวเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า

รัฐบาลมีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี’60 เพราะเป็นประชาธิปไตยน้อยมาก หรือไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ หนึ่ง อยากเห็นรัฐธรรมนูญแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม โดยก่อนสิ้นรัฐธรรมนูญ 4 ปี ต้องมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก “การเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” สอง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่แล้วต้องผ่าน ต้องเป็นฉันทานุมัติ เป็นที่ยอมรับมากที่สุด และสาม รับฟังความคิดเห็นให้กว้างขวางมากที่สุด

“ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่แตะต้อง ถ้าเกินเลยมากกว่านี้ไปไม่ได้ ก็จะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ 60 ต่อไป” ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติกล่าว

โดยผู้ร่วมรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของกลุ่มอาชีพและภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย 15 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศิลปินนักดนตรี กลุ่มความมั่นคง กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มเกษตร กลุ่มแรงงาน กลุ่มสลัม 4 ภาค กลุ่ม P-move กลุ่ม iLaw กลุ่มรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กลุ่ม Wemove กลุ่มสมาคมสันนิบาต กลุ่มสื่อมวลชน และกลุ่มผู้สังเกตการณ์

ครม.ประชามติ

ADVERTISMENT

ส่วนคำถามสำหรับการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของกลุ่มอาชีพ/ภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จำนวน 6 คำถามหลัก อาทิ

1.ท่านเห็นว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่ โดยมี 3 ตัวเลือก ได้แก่

ADVERTISMENT

-เห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ยังคงไว้ตามเดิม

-เห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ

-ไม่เห็นสมควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2.ในกรณีที่เห็นว่าไม่ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นสมควรแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่

-สมควร

-ไม่สมควร ระบุ …

ครม.ประชามติ

3.ในกรณีที่ท่านเห็นว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ท่านเห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีปัญหาประการใดที่จำเป็นต้องแก้ไข (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ)

-การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน

-การมีส่วนร่วมทางการเมือง

-ระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ

-วิธีและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก

-อื่น ๆ (โปรดระบุ) …

4.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับนั้น ท่านเห็นว่า

4.1 สมควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด

-สมควร

-ไม่สมควร

5.สมควรจัดตั้ง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนและวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด

-สมควร

-ไม่สมควร

6.ในการจัดทำประชามติ

6.1 ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการใด ๆ ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ซึ่งระบุว่า

“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน”

-เห็นด้วย

-ไม่เห็นด้วย

6.2 ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

-เห็นด้วย

-ไม่เห็นด้วย

ตัวแทนกลุ่ม P-move แสดงความคิดเห็นว่า “ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นหลัก สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลควรยุบสภาให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่”

นายภูมิธรรมกล่าวถึงไทม์ไลน์เดินสายต่างจังหวัดหลังจากจบเวทีสุดท้ายที่กรุงเทพมหานคร ณ ตึกสันติไมตรี ดังนี้

-วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ภาคอีสาน โดยจะไปรับฟังความของประชาชนและเกษตรกร

-วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ภาคตะวันออก รับฟังความเห็นของภาคอุตสาหกรรม

-วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 จังหวัดเชียงใหม่ รับฟังความเห็นของกลุ่มชาติพันธุ์

-วันที่ 7 ธันวาคม 2566 จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็น “เวทีสุดท้าย” รับฟังความเห็นของพี่น้องชาวมุสลิม

“ผมคาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จะได้ข้อยุติ เพราะฉะนั้น ต้นเดือนหรือไตรมาสแรกของปี’67 จะพยายามทำให้ได้ข้อยุติจบภายในเดือนมกราคม และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา” นายภูมิธรรมแถลงข่าวปิดท้ายเวทีที่กรุงเทพฯ

ครม.ประชามติ

ครม.ประชามติ