
คอลัมน์ : Politics policy people forum
นโยบาย soft power เป็นนโยบายเรือธง ลำดับต้น ๆ ของพรรคเพื่อไทย ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ตั้งเป้าสร้างงานให้คนไทย 20 ล้านตำแหน่ง และทำให้คนไทย “พ้นเส้นความยากจน”
เมื่อเข้าสู่อำนาจเป็น “รัฐบาลเพื่อไทย” จึงเดินหน้าขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ทันที โดยตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขึ้นมาตั้งแต่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
แต่คนหนึ่งที่เป็น “ฟันเฟือง” คนสำคัญในโปรเจ็กต์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลคือ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่รับตำแหน่ง รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
ในงานสัมมนา “Thailand 2024 Beyond Red Ocean” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” “แพทองธาร” ได้ฉายภาพให้เห็นความสำคัญ-ความคืบหน้าของซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะเป็น “The great challenger” ในวันข้างหน้า
นิยามซอฟต์พาวเวอร์
“แพทองธาร” ฉายภาพว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามา คำว่าซอฟต์พาวเวอร์คือหนึ่งในคำที่สังคมไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งคำนิยามและรูปแบบ ซึ่งวันนี้คนเข้าใจในภาพรวมว่าไม่ใช่สินค้า แต่เป็นการพยายามสร้างสินค้าที่มีอยู่แล้วให้เป็นพลังซอฟต์พาวเวอร์
ซอฟต์พาวเวอร์ คืออำนาจในการทำให้ประเทศหนึ่งหรือสังคมหนึ่งพร้อมโอบรับวัฒนธรรมอื่น ๆ ให้เข้ามา โดยที่ไม่ได้มีการบังคับ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ Apple ซึ่งเราสมัครใจซื้อไอโฟนที่ออกมาทุกรุ่น ในไอโฟน 15 ราคาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เราก็ซื้อไอโฟนอยู่ดี โดยไม่มีการบีบบังคับ
หรืออย่างเครื่องสำอาง ลิปสติก มีแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย 4U2 Naree Loreal Mac GUERLAIN Tom Ford ทั้งที่เนื้อสัมผัสและสีก็ใกล้เคียงกัน แต่เราก็จะเลือกซื้อยี่ห้อที่ใช้อยู่ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของความไว้ใจในแบรนด์
คุณค่าในแบรนด์ที่ตรงกับเรา แบรนด์ลอยัลตี้จึงเกิดขึ้น และเป็นธรรมดาที่แบรนด์เหล่านี้จะสร้างกลยุทธ์ นวัตกรรม สตอรี่ เพื่อให้เราเข้าถึงและโอบรับสิ่งต่าง ๆ ที่แบรนด์เสนอ นี่ก็คือซอฟต์พาวเวอร์ที่มาในแบบของแบรนด์
ยังมี Space ให้ต่อยอด
ถ้าอยากให้ดูเรื่องของประเทศต่าง ๆ ที่เรานึกถึงสมัย 20 ปีที่แล้ว เราพูดเรื่องเทคโนโลยี เราพูดถึงญี่ปุ่น เวลาจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เรานึกถึงญี่ปุ่นในใจเรา จะได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก แต่ในเวลา 10 ปีมานี้ มีเกาหลี จีน อยู่ในใจของเรามากขึ้น เพราะเขาได้โปรโมตสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งมาในรูปแบบวัฒนธรรมของเขา ผ่านมาทางภาพยนตร์ สถานที่ท่องเที่ยว โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทำให้เราได้เห็น และเราก็โอบรับวัฒนธรรมนั้นเข้ามาโดยไม่รู้ตัว และเทคโนโลยีต่าง ๆ เขาก็มีมากขึ้นอีก ทำให้อยู่ในใจเรา และซื้อโปรดักต์ของเขาโดยไม่เคอะเขิน
หรืออย่างเรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อาทิ หนังอินเดีย หากคิดถึงภาพจำเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว คนจะนึกถึงการร้องเพลง การเต้น บางอย่างเข้าไม่ถึง แต่ขณะนี้ อินเดียมี Bollywood ทำเงินไม่เท่า Hollywood แต่กราฟขึ้นแน่นอน
หนังที่ฉายในออสเตรเลีย 1 ใน 3 คือหนังอินเดีย เพราะฉะนั้น มีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก และรัฐบาลอินเดียลงทุนอย่างมากที่จะจัดเฟสติวัลขึ้นในอินเดีย เพื่อให้หนังอินเดียได้ฉาย และคนทั่วโลกก็เห็นว่าหนังอินเดียสนุกจริง มีคุณภาพมากขึ้น สนุกขึ้น จึงกลายเป็นหนังเรื่องโปรดของใครหลาย ๆ คนทั่วโลก
จากที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมด จึงชี้ให้เห็นว่า space ของซอฟต์พาวเวอร์ ยังมีอยู่เสมอ สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ แค่เราเริ่มแล้วต้องไม่หยุด โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือ เราจะทำอย่างไรให้ต้นทุนวัฒนธรรมที่เรามีสร้างซอฟต์พาวเวอร์ที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และโอกาสให้ประชาชนได้อย่างไร
ปั้น 11 อุตสาหกรรม
แพทองธารกล่าวว่า การจะสร้างซอฟต์พาวเวอร์จะต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก ซึ่งตามทฤษฎีของโจเซฟ ไนล์ ที่ได้พูดไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วคือ 1.เราต้องมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดี และต้องมี creative, innovation และ story
2.คุณค่าทางการเมือง เป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ กฎหมายบางฉบับใช้มาแล้ว 20-30 ปีไม่สามารถเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อปลดล็อกเสรีภาพในการสร้างสรรค์งาน
3.นโยบายต่างประเทศ จะช่วยส่งออกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไปในต่างประเทศ
หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยรักไทยเคยสร้างนโยบายที่สร้างให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของเราสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ เช่น นโยบาย OTOP ที่สนับสนุนการเติบโตของสินค้าที่มาจากวัฒนธรรม รวบรวมทำแบรนดิ้งของสินค้าทั่วประเทศ แล้วโปรโมตออกไปในต่างประเทศให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจที่สินค้าของเขาได้ประจักษ์ในสายตาชาวโลก
TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ที่มีตัวอย่างวัตถุดิบต่าง ๆ ให้ผู้ออกแบบได้เห็น ได้สัมผัส เพื่อปลดล็อกศักยภาพในการสร้างสรรค์ รวมถึงยังมีห้องแล็บสำหรับทดลองการออกแบบ หรือกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ที่จุดพลุใหญ่ให้วงการแฟชั่นไทย ให้ทั่วโลกหันมาสนใจ หรือโครงการใหญ่อย่าง ครัวไทยสู่ครัวโลก ที่สร้างเชฟอาหารไทยส่งออกไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้นมากมายในต่างประเทศ
ทุกนโยบายที่กล่าวมา จะเป็นการพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรม แต่เราได้เรียนรู้จากนโยบายที่เคยทำไว้ คือการจะสร้างซอฟต์พาวเวอร์จะต้องทำทั้งระบบ สร้างกลไกพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาทั้งอุตสาหกรรมและตัวคน
ส่วนแรก คือการพัฒนาอุตสาหกรรม เราจะตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า Thacca-Thailand Creative Content Agency ซึ่งจะเป็นกลไกสะท้อนเสียงจากภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบาย จะประกอบไปด้วยคณะอนุกรรมการทั้งหมด 12 คณะ ประกอบไปด้วย
1.แฟชั่น 2.หนังสือ 3.ภาพยนตร์ 4.ละครและซีรีส์ 5.เฟสติวัล 6.อาหาร 7.ออกแบบ 8.ท่องเที่ยว 9.เกม 10.ดนตรี 11.ศิลปะ 12.กีฬา
ในแต่ละอนุกรรมการจะขับเคลื่อนด้วยคนในอุตสาหกรรมทั้งหมด ที่อยู่กับงาน รู้ปัญหาจริง และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมของตัวเองไปสู่เป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมหนังสือ ที่เราตั้งเป้าว่าหนังสือไทยจะได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศ โดยที่จะเริ่มที่งานหนังสือนานาชาติไทเป เดือนมีนาคมปีหน้า หรือวงการแฟชั่นก็จะมีการวางแผน การให้ความสำคัญกับ net zero การทำอุตสาหกรรมที่ไม่ทำร้ายโลกเป็นค่านิยมที่ได้รับการพูดถึงในต่างประเทศ อีกทั้งทุกวงการที่จะมีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป
ยกระดับรายได้คนไทย
ซึ่งในยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ เราจะรวมแผนในเรื่องการพัฒนา Thacca ด้วยการใช้ พ.ร.บ. ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการร่าง ซึ่งคิดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในกลางปีหน้า เพราะเรามีบทเรียนแล้ว พอมีการเปลี่ยนของรัฐบาลต้องถูกพับเก็บ การทำ พ.ร.บ.Thacca ขึ้นมาจะ make sure สิ่งนี้จะอยู่คู่กับคนไทยไปตลอด ถ้าจะต้องพับเก็บจะต้องเป็นเสียงโหวตจากพี่น้องประชาชนเท่านั้น
ส่วนที่ 2 คือการพัฒนาคนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมด้วยนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์-One Family One Soft Power หรือ OFOS”
เรามีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับรายได้ทุกครอบครัวให้ถึง 200,000 บาทต่อปี ด้วยการพัฒนาศักยภาพอย่างน้อย 1 คนในแต่ละครอบครัว อาจมีรายได้สูงถึง 16,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะพาทั้งครอบครัวหลุดพ้นจากเส้นความยากจนได้ทันที โดยการยกระดับครั้งนี้จะใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านเป็นช่องทาง ให้พี่น้องประชาชนทุกครอบครัวลงทะเบียน ตามความถนัดแต่ละด้าน
อย่างเช่นในวงอาหาร ที่จะสามารถผลักดันไปสู่โลกได้ โดยได้มีการทำโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ตั้งเป้าว่าจะมีการอบรมถึง 70,000 คน โดยจะสร้างเชฟที่ได้มาตรฐาน ผ่านการควบคุมจากเชฟมืออาชีพ ในเรื่องของการกีฬาเรากำลังเริ่มวางแผนการยกระดับมวยไทย ให้มีหลักสูตรที่ชัดเจน ได้มาตรฐานเกิดขึ้น
ขณะนี้ในต่างประเทศมีค่ายมวยไทยมากกว่า 40,000 แห่งทั่วโลก จัดให้มีหลักสูตรที่ชัดเจน และพร้อมที่จะไปอยู่ในแต่ละประเทศมากขึ้น
สร้างตัวตนบนเวทีโลก
ส่วนที่ 3 ที่สำคัญมาก ๆ คือจะต้องมีนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบร่วมกับภาคเอกชน
การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เรื่องที่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำทางลัดได้ ไม่ใช่เรื่องที่สามารถเร่งกระบวนการทุกอย่างได้ แต่วันนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เริ่มแล้ว ภาคเอกชนก็เริ่มแล้ว ต่างประเทศก็พร้อมที่จะเปิดรับวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก
“จึงอยากบอกว่า เราจะวางยุทธศาสตร์สร้าง soft power ให้ประเทศไทยกลับมามีตัวตนอีกครั้ง พร้อมที่จะยกระดับชีวิตพี่น้องประชาชนสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง”