แพทองธาร มั่นใจ ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ สร้างไทยมีตัวตนบนเวทีโลก

แพทองธาร ชี้ ซอฟต์พาวเวอร์ไม่มีทางลัด ไม่มีสูตรชัดเจน แต่รัฐบาลทำแล้ว พร้อมดันกฎหมาย THACCA เข้าสภากลางปี 2567 สร้างไทยมีตัวตนบนเวทีโลกอีกครั้ง

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวบรรยายในหัวข้อ Soft power The great challenger ในงานสัมมนา “Thailand 2024 Beyond Red Ocean” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ตอนหนึ่งว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการเรียบร้อย มีคนพูดถึงกันเยอะ ทั้งคำนิยามของมัน เหตุผลที่จะทำ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร รูปแบบไหน

ซอฟต์พาวเวอร์คืออำนาจหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นในสังคมหนึ่ง หรือประเทศหนึ่ง พร้อมที่จะโอบรับวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เข้ามาได้ โดยไม่มีการบีบบังคับ เช่น แอปเปิล ในไอโฟน 15 ราคาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เราก็ซื้อไอโฟนอยู่ดีโดยไม่มีการบีบบังคับ รวมถึงแอร์พอด นาฬิกา ออกมาทีไรก็ขายหมด ลิปสติกของผู้หญิง มีแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย 4u2 laurel mac

ทั้งที่เทกเจอร์หรือสีก็ใกล้กันและคล้ายกันมาก แต่ทำไมเราถึงเลือกแบรนด์เหล่านี้อยู่ แน่นอนอาจเป็นเรื่องความไว้ใจในแบรนด์ คุณค่าแบรนด์ที่ตรงกับเรา แบรนด์รอยัลตี้จึงเกิดขึ้น แบรนด์เหล่านี้จึงสร้างกลยุทธ์ สร้างนวัตกรรม สร้างสตอรี่ เพื่อให้เราเข้าถึง โอบรัดสิ่งต่าง ๆ ที่นำเสนอ นี่คือซอฟต์พาวเวอร์ที่มาในรูปแบบของแบรนด์

ถ้าอยากให้ดูเรื่องของประเทศต่าง ๆ ที่เรานึกถึง สมัย 20 ปีที่แล้วเราพูดเรื่องเทคโนโลยี เราพูดถึงญี่ปุ่น เวลาจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เรานึกถึงญี่ปุ่นในใจเรา จะได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก แต่ในเวลา 10 ปีมานี้ มีเกาหลี จีน อยู่ในใจของเรามากขึ้น เพราะเขาได้โปรโมตสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งมาในรูปแบบวัฒนธรรมของเขา ผ่านมาทางภาพยนตร์ สถานที่ท่องเที่ยว โซเชียลมีเดียต่าง ๆ

ทำให้เราได้เห็น และเราก็โอบรับวัฒนธรรมนั้นเข้ามาโดยไม่รู้ตัว และเทคโนโลยีต่าง ๆ เขาก็มีมากขึ้นอีก ทำให้อยู่ในใจเรา และซื้อโปรดักต์ของเขาโดยไม่เคอะเขิน

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ภาพยนตร์ หนังอินเดีย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราคงนึกไม่ออกและไม่สนใจหนังอินเดียด้วย มีการร้องเพลง มีการเต้น เราเข้าไม่ถึง แต่สมัยนี้ มีอิทธิพลเข้ามาอย่างมาก ตอนนี้มีบอลลีวูด แม้ทำเงินไม่เท่าฮอลลีวูด แต่กราฟขึ้นแน่นอน

หนังที่ฉายในออสเตรเลีย 1 ใน 3 คือหนังอินเดีย เพราะฉะนั้น มีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก และรัฐบาลอินเดียลงทุนอย่างมากที่จะจัดเฟสติวัลขึ้นในอินเดีย เพื่อให้หนังอินเดียได้ฉาย และคนทั่วโลกก็เห็นว่าหนังอินเดียสนุกจริง มีคุณภาพมากขึ้น สนุกขึ้น จึงกลายเป็นหนังเรื่องโปรดของใครหลาย ๆ คนทั่วโลก

“เราได้บอกผู้บริโภคว่า space ของซอฟต์พาวเวอร์ ยังมีอยู่ สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ แค่เราเริ่มต้นแล้วและเราต้องไม่หยุด โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลตอนนี้คือ จะทำอย่างไรให้ต้นทุนวัฒนธรรมที่เรามีสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โอกาสที่ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนอย่างไร” น.ส.แพทองธารกล่าว

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์จะต้องมีต้นทุนทางวัฒนธรรม ต้องอาศัย creativity อาศัย innovation และ story คุณค่าทางการเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ กฎหมายบางกฎหมายใช้มาแล้ว 20-30 ปี ไม่สามารถเข้ากับปัจจุบันได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนตรงนี้

เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของคนที่มี creativity ทั้งผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้สร้างหนัง จะได้รับการปลดล็อกต่าง ๆ มากมาย ก่อนที่เราจะเป็นรัฐบาลได้คุยกับเอกชน คนลงมือจริง ได้รับการสนับสนุนที่น้อย ติดเรื่องกฎหมายที่มีมากมาย ทำให้ปิดกั้นความคิดของเขา

ที่สำคัญและขาดไม่ได้คือนโยบายต่างประเทศ การช่วยส่งออกวัฒนธรรมเหล่านี้ส่งออกไปถึงมือต่างประเทศ ในรัฐบาลไทยรักไทย เคยทำกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น เป็นการจุดพลุครั้งใหญ่ ให้ต่างชาติมองเห็นถึงฝีมือของดีไซเนอร์ของไทย รวมถึงครัวไทยสู่ครัวโลก สร้างเชฟต่าง ๆ ส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลที่ตามมาคือ เกิดร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้นมากมายในต่างประเทศ

ทุกนโยบายจะเป็นการพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ยาว การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ต้องทำทั้งระบบ สร้างกลไกยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องพัฒนาทั้งเรื่องตัวอุตสาหกรรมและตัวของคน คือ พัฒนาอุตสาหกรรม THACCA Thailand Creative Content Agency เป็นกลไก เสียงสะท้อนจากเอกชนร่วมกับรัฐบาล รัฐบาลเป็นคนสนับสนุน แต่เสียงสะท้อนทั้งหมดมาจากเอกชนที่ทำจริงทั้งหมด

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์จะมี พ.ร.บ. THACCA ขณะนี้เรากำลังยกร่างอยู่ จะแล้วเสร็จและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในกลางปี 2567 เพราะเรามีบทเรียนแล้ว พอมีการเปลี่ยนของรัฐบาลต้องถูกพับเก็บ การทำ พ.ร.บ. THACCA ขึ้นมาจะ make sure สิ่งนี้จะอยู่คู่กับคนไทยไปตลอด ถ้าจะต้องพับเก็บจะต้องเป็นเสียงโหวตจากพี่น้องประชาชนเท่านั้น

ส่วนการพัฒนาคน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เรามีเป้าหมายยกระดับรายได้ของประชาชน ขณะนี้เส้นของความยากจนอยู่ที่ 2,800 บาท เมื่อครอบครัวมี 4 คน รายได้รวม 11,200 บาท

ถ้า 1 คน เข้ามา One Family One Soft Power (OFOS) ได้รายได้ 16,000 บาท 1 คนจะพาทั้งครอบครัว ผ่านเส้นรายได้ของความยากจนทันที โดยจะให้ลงทะเบียนผ่านกองทุนหมู่บ้าน 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว ว่าถนัดด้านไหน อยู่เลเวลอะไร และส่วนที่ 3 ขาดไม่ได้เลยคือเราต้องมีนโยบายต่างประเทศเชิงรุก

“การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ทำทางลัดได้ เร่งกระบวนการทุกอย่างได้ แต่รัฐบาลเริ่มแล้ว เอกชนก็เริ่มแล้ว ตอนนี้ต่างประเทศก็พร้อมที่จะเปิดรับวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เราจะวางยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ให้ประเทศไทยกลับมามีตัวตนอีกครั้ง พร้อมที่จะยกระดับชีวิตของประชาชนสู่สายตาโลกอีกครั้ง” น.ส.แพทองธารกล่าว