KKP ชี้เศรษฐกิจไทยปี’67 เจอ “ทางแพร่ง” ท่องเที่ยวหนุน มาตรการกระตุ้นยังต้องลุ้น

“พิพัฒน์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP มองเศรษฐกิจไทยปี’67 อยู่ใน Cross Road ทางแพร่งสำคัญ ชี้หลังโควิด-19 จีดีพีโตเฉลี่ยแค่ 2.5% ส่งสัญญาณเตือนการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง-การลงทุน-สินเชื่อโตช้า ต้นทุนดอกเบี้ยสูงกดดันครัวเรือน-ภาคธุรกิจทนไม่ไหว มองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลความหวัง แต่ยังมีความไม่แน่นอน

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2024 Beyond Red Ocean” ภายใต้หัวข้อ “Thailand Outlook 2024”

ดร.พิพัฒน์ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะอยู่ภายใต้ 3 ธีมหลัก คือ

1.เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมกัน และค่อนข้างเปราะบาง โดยแรงส่งสำคัญยังคงเป็นการท่องเที่ยวจากปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 27-28 ล้านคน และการส่งออกจะเริ่มกลับมาบวกหลังจากปีนี้ที่ติดลบทั้งปี แต่แรงส่งจะแผ่วลง เพราะเศรษฐกิจโลกจะชะลอและมีความเสี่ยงสูง

2.สัญญาณการลงทุน ซึ่งไม่เห็นสัญญาณการลงทุน สะท้อนผ่านอาการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่อยู่ 0.6% เป็นสัญญาณสะท้อนว่าไม่มีแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 3-4% หมายความว่า ไม่มีแรงกระตุ้นทางด้านอุปสงค์เลย

และ 3.สัญญาณเตือนภัยผ่านการเติบโตสินเชื่อ จะเห็นว่าในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมามีอัตราติดลบ โดยหากดูสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราการเติบโตเพียง 0.5%

ดังนั้น คำถามเศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างไรเมื่อสินเชื่อโตไม่ได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะหากดูความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจลดลง ทำให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจไม่มีแหล่งเงินในการบริโภค ซึ่งจะไม่หนุนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวโน้มในระยะสั้น ประเทศไทยอยู่ใน Cross Road ทางแพร่งที่สำคัญ ซึ่งไทยเจอปัญหามาหลายปี หากย้อนไปในปี 1990 ก่อนจะเจอวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 จีดีพีไทยเติบโตสูง 7% แต่หลังจากฟื้นหลังวิกฤตไทยมีการเปลี่ยนเครื่องจักรเศรษฐกิจ ทำให้จีดีพีขยายตัวเพียง 5% และทยอยลดลงเหลือ 3-4% และหลังโควิด-19 เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.5%

ดังนั้น เทรนด์การเติบโตในระยะยาว ชี้ให้เห็นว่ามีบางอย่างที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเจอความท้าทายขนาดหนัก หากเราไม่ทำอะไร แนวโน้มการเติบโตจะอยู่ในระดับนี้ และจะลงมาต่ำกว่าระดับนี้ด้วย หากท่องเที่ยวกลับมาอยู่ที่ 40 ล้านคนเหมือนเดิม แต่ไทยจะนำอะไรจะมาโต อะไรจะเป็น Engine of Growth ต่อไป จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตขึ้นไปได้ ทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจถูกยกระดับไปในระดับที่ควรโตกว่านี้

ทั้งนี้ หากดูแรงกดดันสำคัญต่อการเติบโตมีอยู่ 4 ประเด็น 1.โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปไปสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่มีผลต่อการคลัง การใช้จ่าย และทักษะแรงงาน 2.ความสามารถในการแข่งขัน โดยจะเห็นว่าการลงทุนมีการเปลี่ยนไปอย่างมาก

เพราะหากย้อนไปในช่วง 20 ปีก่อน สัดส่วนเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยสูงถึง 40% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดในภูมิภาค แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10% ซึ่งไทยจะทำอย่างไรให้อยู่ใน Stay in Game ได้

และ 3.หนี้ จะเห็นว่าเศรษฐกิจโตช้า เพราะงบดุลของครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กมีปัญหา Debt Overhang ซึ่งเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ลากยาว เพราะอีกฝ่ายจะลดหนี้ครัวเรือนโดยการปล่อยสินเชื่อน้อยลง แต่อีกฝั่งจะมีอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ และ 4.เรื่องของกรีนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยจะวางตำแหน่งอยู่ตรงไหน

“เศรษฐกิจไทยในปี’67 การท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งต่อเนื่อง และการส่งออกมีสัญญาณดีขึ้น โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเป็นอีกหนึ่งความหวัง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะทำอย่างไร จะออกมาแบบไหน และจะเกิดอะไรขึ้น เป็นสิ่งที่คนจับตาดูอยู่

แต่ในระยะยาวเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่า เราจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างไรให้ธุรกิจและแรงงานไทยสามารถสู้กับเขาได้ เพราะหากดูจะเห็นว่าจากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงทั้งต่างประเทศและในประเทศ จะเป็นแรงกดดันให้ธุรกิจที่มีต้นทุนที่สูงขึ้น และใครจะสามารถทนต้นทุนที่สูงได้

ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ แต่เชื่อว่าไม่เกิดภาวะถดถอย (Recession) แต่การเติบโตจะเป็นแบบ Divergence โดยดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงและค่อยทยอยลดลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเป็นปัจจัยกระทบราคาน้ำมัน”