ล้อมคอก “งบฯแก้จน” แสนล้าน อนุพงษ์-กฤษฎา ตั้งทีมพิเศษชงเอง-ตรวจเอง

โครงการไทยนิยมยั่งยืน คิกออฟไปได้สักระยะ ตั้งแต่ 21 ก.พ. จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ขนรัฐมนตรีลงพื้นที่ออกตรวจความเป็นอยู่ชาวบ้านเดือนละ 2 ครั้ง

พร้อมตั้งงบประมาณกว่า 150,000 ล้านบาท ผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “งบฯกลางปี” 

งบฯแบ่งตามกรม-กระทรวงออกเป็นงบฯกลาง 4,600,000,000 บาท กระทรวงการคลัง 5,325,000 บาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 106,291,000 บาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 72,000,000 บาท กระทรวงพาณิชย์ 258,400,300 บาท กระทรวงแรงงาน 2,120,025,400 บาท กระทรวงวัฒนธรรม 68,118,500 บาท กระทรวงอุตสาหกรรม 498,602,100 บาท รัฐวิสาหกิจ 3,988,866,800 บาท กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 34,022,513,200 บาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 49,641,923,000 บาท

แต่มีอยู่ 2 กระทรวงที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการคือ กระทรวงมหาดไทย ได้งบฯ 31,875,769,000 บาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ 22,742,165,700 บาท

ตั้งเป้าว่าหลังสงกรานต์จะได้ใช้งบฯ-เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทันทีที่ พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มท.1 กางแผน อัพเกรดรากหญ้า

“พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนฯมี 3 ระดับ บวกกับ 1 ทีม ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.คณะกรรมการขับเคลื่อนฯระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และ 3.คณะกรรมการขับเคลื่อนฯระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน และ 4 ทีม ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล

“ทีมลงพื้นที่จะแบ่งออกเป็น 2 ชุด ทีมที่หนึ่ง เป็นทีมของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นทีมดูแลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เรียกว่าทีมประชารัฐสุขใจ(ปรจ.) ประกอบด้วยข้าราชการกระทรวงการคลัง เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน กับ ธ.ก.ส. เดินทางไปสัมภาษณ์ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ 11 ล้านคน โดยใช้งบฯราว 2 พันล้านบาทลงผ่านมหาดไทยเป็นค่าดำเนินการ เพราะกระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่ จึงต้องให้นายอำเภอไปจ้างคนลงในพื้นที่ไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน ว่าจะไปพัฒนาอะไร เช่น ต้องการความรู้ ส่งเสริมอาชีพ เราต้องไปทั้ง 11 ล้านคน”

“ทีมที่สอง เรียกว่าทีมตำบล งานหลักทำ 2 เรื่อง 1.เอางานของราชการไปสร้างการรับรู้ เช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตย 2.รับฟังปัญหาความต้องการของชาวบ้าน ลงพื้นที่ทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งมีองค์ประกอบ เช่น ข้าราชการ ปราชญ์ชาวบ้าน ลงพื้นที่จะไปพูดคุยสอบถามว่าเป็นอย่างไร ต้องการเรื่องอะไร ชุดนี้นอกจากถามความต้องการแล้วยังไปพูดคุยให้ความรู้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยาเสพติดด้วย”

เงินที่กระทรวงมหาดไทยได้มาประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จึงแบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 จะให้กับหมู่บ้าน ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ 83,151 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 แสนบาท โดยให้เสนอโครงการขึ้นมาไม่เกิน 1-2 โครงการ แต่ละหมู่บ้านพยายามคิดว่าอยากได้อะไร ประโยชน์จากโครงการคืออะไร จะทำให้เกิดผลอะไรขึ้นมา ดังนั้น งบประมาณที่ลงไปต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนว่าเขาต้องการอะไร คณะกรรมการหมู่บ้านต้องดูความต้องการของประชาชน

“แผนงานที่เราต้องการให้ทำคือสร้างรายได้ให้เป็นหลัก ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อคณะกรรมการหมู่บ้านทำแผนงานโครงการขึ้นมา ก็จะผ่านที่คณะกรรมการระดับอำเภอ ซึ่งจะมีคณะกรรมการระดับอำเภอจะมีองค์ประกอบจากภาคประชาชน ภาคเอกชน และสถานศึกษาในพื้นที่ ร่วมพิจารณาถึงความเหมาะสม และดูว่าจะต้องดำเนินการหรือไม่”

การันตีเงินทุกเม็ดไม่รั่วไหล

“ถ้าผ่านคณะกรรมการชุดนี้ก็จะไปที่จังหวัด จากจังหวัด ผู้ว่าฯก็จะส่งไปสำนักงบประมาณพิจารณา ถ้าสำนักงบประมาณเห็นด้วยก็จะโอนเงินลงไปที่คณะกรรมการหมู่บ้านเลย กรรมการหมู่บ้านจะมี 3 ชุด แบ่งออกเป็น ชุดจัดซื้อ ชุดจัดจ้าง ตรวจรับงาน”

พล.อ.อนุพงษ์มั่นใจว่า เงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอัดฉีดลงพื้นที่หมู่บ้านละ 2 แสนบาท จะไม่มีการทุจริต

“เงิน 2 หมื่นกว่าล้านบาทที่จะให้หมู่บ้านละ 2 แสนบาทนั้น เวลาอนุมัติใช้คณะกรรมการระดับอำเภอ ประชาสังคม มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ เช่น เขาห้ามซื้อของแจกแล้วไปซื้อของแจกคณะกรรมการก็จะไม่ให้ จะดูว่าผิดประเภทไหม ถ้าเห็นว่าโครงการนี้ดีก็จะเอาเงินลงที่หมู่บ้านเลย เงินไม่ผ่านกระทรวงมหาดไทย ทีมจัดซื้อ ทีมตรวจรับงานและกรรมการหมู่บ้านก็จะเข้ามาตรวจสอบ มั่นใจได้ว่าจะได้ความเหมาะสม และไม่เกิดการทุจริต” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

เงินส่วนที่ 2 คือเงินด้านการพัฒนาโอท็อป โดยกรมพัฒนาชุมชน 9,000 ล้านบาท โดยดูเรื่องภาพใหญ่ของการท่องเที่ยวชุมชนเมืองหลัก เมืองรอง แล้วมาดูว่าโอท็อปในพื้นที่มาเป็นจุดเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้อย่างไร

เงินส่วนที่ 3 อีก 2,000 กว่าล้านบาท เป็นค่าเจ้าหน้าที่ทีมของกระทรวงการคลัง คือ “ทีม ปรจ.” ลงไปสัมภาษณ์ในโครงการบัตรสวัสดิการของรัฐ

“พล.อ.อนุพงษ์” ปิดท้ายว่า หากดูดี ๆ เงินในโครงการที่กระทรวงมหาดไทยได้รับ จะไม่ผ่านกระทรวง แต่จะถูกยิงไปสู่หมู่บ้าน และมีกลไกตรวจสอบจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะไม่มีการทุจริต

ดึงองค์กรอิสระตรวจสอบ

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี “กฤษฎา บุญราช” เป็นรัฐมนตรี ได้งบฯกว่า 22,742,165,700 บาท ภายใต้ภารกิจยกเครื่องการเกษตรให้ทันสมัย มีทีมขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมระดับตำบลทั้ง 7,663 ทีม ลงพื้นที่ไปคลุกฝุ่นเอกซเรย์ความต้องการของเกษตรกร

“กฤษฎา” ประกาศว่า “สิ่งแรกที่ผมทำคือตัวผมเองและ รมช.อีก 2 คนต้องซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริต มีนอกมีใน เงิน 2.2 หมื่นล้าน ได้บอกกรมทุกกรมแล้วว่า 1.การคัดเลือกเกษตรกร ไม่ใช่รู้จักกับใครแล้วเอาคนนั้นมา ต้องมีทะเบียนเกษตรกร การเลือกพื้นที่ต้องให้ประชาชนทำประชาคม จะไปสร้างอ่างเก็บน้ำตรงไหนต้องให้ทำประชาคมเลือกขึ้นมา 2.เมื่อมีปัจจัยการผลิตไปแจกเกษตรกร มีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเซ็นรับของ แล้วเอาใบเซ็นไปเบิกเงิน”

“แต่ในยุคผมต้องมีเกษตรกรอย่างน้อย 2 คน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง ตรวจรับวัสดุครุภัณฑ์ที่แจกชาวบ้านด้วย 3.ขณะนี้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อรายละเอียดโครงการทั้ง 2.2 หมื่นล้านไปให้รับทราบ ถ้าหากพบรอยรั่วตรงไหนให้รีบบอก ไม่ใช่ตรวจตอนทำงานเสร็จแล้วพบความเสียหายเงินก็หมดแล้ว”

“ขณะนี้ได้แต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวง 12 คน และผู้ตรวจกระทรวง 14 กรม ลงไปตรวจติดตามงาน เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือออกไปสุ่มตรวจ ถ้าตรวจเจอให้ย้ายคนนั้นออกจากพื้นที่ก่อนแล้วตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ภายใน 30 วัน”

“ถ้าตรวจแล้วไม่เจอการทุจริตก็จะดูว่าประสิทธิภาพการบริหารงานของคนคนนั้นเป็นอย่างไร ถ้าด้อยประสิทธิภาพก็ยังลงโทษคนคนนั้นไม่ได้ แต่จะย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่นอย่างน้อย 3 ปี เพื่อปรับปรุงพฤติกรรมการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพแล้วให้กลับมาที่เดิม”

เม็ดเงิน 1.5 แสนล้านถูกขับเคลื่อนลงทุกพื้นที่ บนความคาดหวังของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะใช้งบประมาณทุกเม็ดอย่างคุ้มค่า


และเรียกแต้มการเมืองในช่วงปลายโรดแมปอำนาจ