ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นตำแหน่ง คดีนอมินีบุรีเจริญ
วันที่ 17 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
ทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้น หรือกิจการของห้างหุ้นส่วน
เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
ผลคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า จากข้อพิรุธหลายประการ ประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวงแห่งคดี จึงฟังได้ว่าผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม) กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตกลงนำเงินของผู้ถูกร้อง ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามของนายศุภวัฒน์
โดยขั้นตอนสุดท้ายมีการนำเงินนั้นซื้อกองทุน TMB-T-ES-DPlus และกองทุน TMB-T-ES-IPlus ชื่อนายศุภวัฒน์ และขายกองทุนดังกล่าวชำระค่าหุ้นให้ผู้ถูกร้อง 119,500,000 ล้านบาท ยังเป็นของผู้ถูกร้อง
ผู้ถูกร้องจึงยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญฯ และดูแล หจก.บุรีเจริญฯ แทนผู้ถูกร้องมาโดยตลอด อันเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรี อันเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางใด ๆ อันเป็นการกระทำต้องห้าม รัฐธรรมนูญมาตรา 187 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
และให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงนับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566
ที่มา ที่ไปคดี
คดีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม กรณีซุกหุ้นบุรีเจริญ และใช้นอมินีในการถือหุ้น ฝ่ายค้าน โดยรวบรวมพยานหลักฐาน-เอกสาร ยื่นประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของ “ศักดิ์สยาม” เมื่อ 25 มกราคม 2566
โดยรวบรวม สส.ฝ่ายค้านจํานวน 54 คน หอบเอกสาร 14 รายการ ยื่นคําร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจํากัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทําให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน
เป็นการกระทําอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคําร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82
ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องแล้ว เห็นว่ากรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (4) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคําสั่งรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
พร้อมกับพิจารณาให้ “ศักดิ์สยาม” ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้อง ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยแจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ
“ศักดิ์สยาม” กล่าวหลังทราบข่าว จะหยุดปฏิบัติหน้าที่หลังจากได้รับคำสั่งจากศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ และระหว่างหยุดปฎิบัติหน้าที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน
จากนั้นศักดิ์สยามหลบเข้าหลังม่านการเมือง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานรวม 6 ปากคือ นางวราภรณ์ เทศเซ็น, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์, นางสาววรางสิริ ระกิติ, นางสาวฐิติมา เกลาพิมาย และนางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566
อนุทิน ให้กำลังใจ
“อนุชิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนได้ให้กำลังใจ และ 17 มกราคม ในที่ประชุมพรรคภูมิใจไทย ตนก็เป็นตัวแทนลูกพรรคกล่าวให้กำลังใจนายศักดิ์สยาม ซึ่งในวันนี้ตนจะไม่ได้เดินทางไปร่วมฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาล เนื่องจากตรงกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายศักดิ์สยามรอดในคดีนี้จะมีการพิจารณาปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การปรับ ครม.เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทยพิสูจน์ให้เห็นแล้วตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งการปรับ ครม.ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายของพรรคภูมิใจไทย เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ถ้านายกฯจะปรับก็ค่อยมาพิจารณา ถ้าไม่ปรับก็ตามนั้น ไปขอแล้วยังไง นายกฯจะปรับให้หรือไม่ ตนมองว่ามันมีอะไรสำคัญกว่านั้นเยอะ