ชวน กรีด เศรษฐา อย่าหลอกชาวบ้านยางราคาดีเพราะปราบยางเถื่อน

ชวน หลีกภัย

ชวน กรีดนายกฯ ห่วงประชาชนเข้าใจผิดเรื่องราคายางดี เพราะปราบยางเถื่อน ที่จริงเป็นเรื่องอุปสงค์ อุปทาน ขึ้นทุกประเทศ เหน็บไม่ใช่นายกฯอีแอบ ลงพื้นที่นิดเดียวทวงบุญคุณ

วันที่ 4 เมษายน 2567 ที่รัฐสภาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า

ขณะนี้ราคายางพาราขึ้นเป็นเรื่องน่าดีใจ เป็นไปตามหลักอุปสงค์ อุปทาน แต่การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ราคายางขึ้น เป็นเพราะการปราบยางเถื่อนนั้น ขอทำความเข้าใจว่า เป็นห่วงประชาชนจะเข้าใจผิด การปราบยางเถื่อนแล้วราคายางจะดี ไม่เกี่ยวกับหลักอุปสงค์ อุปทาน

ในโลกความจริง ถ้าเหตุการณ์เปลี่ยนไป ราคาอาจเปลี่ยนแปลง เหตุผลหลักที่ราคายางขึ้นคือ อุปสงค์ อุปทาน ราคายางไม่ได้ขึ้นเฉพาะประเทศไทย ขึ้นทุกประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย

“กลัวว่า ถ้าอนาคตยางราคาตก รัฐบาลก็จะโดนตำหนิอย่างหนักว่าหลอกชาวบ้านว่าปราบยางเถื่อนแล้วราคายางจะขึ้นตลอดไป จึงอยากให้รัฐบาลได้ทบทวนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ และต้องบอกความจริงกับชาวสวนยางด้วย จึงอยากถามรัฐบาลว่า 1.คิดว่ายางราคาจะดีอย่างนี้ตลอดไปหรือไม่โดยไม่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์อุปทานในอนาคต หากวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ยางราคาตกลง รัฐบาลมีเป้าหมายหรือไม่ว่าควรจะได้ราคาไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่” นายชวนกล่าว

นายชวนยังกล่าวถึงความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตนเป็นคนทักท้วงตอนรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าไม่ได้มีการเขียนเรื่องนโยบายภาคใต้ไว้เลย การแก้ปัญหาความไม่สงบ ตนถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดโดยเอาชีวิตคนเป็นหลัก เราขาดทุนจากการขายพืชเกษตรไปหลายแสนล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับชีวิตจริงแล้วชีวิตคนสำคัญกว่า ความผิดพลาดจากนโยบายในอดีตทำให้เสียชีวิตคนไปมาก เราเกือบจะไม่รู้ว่าเหตุการณ์ภาคใต้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างเพราะเกิดบ่อย เพราะสื่อไม่ค่อยเขียนแล้ว

ADVERTISMENT

ถ้าเราอยากจะรู้ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไรต้องดูข่าวพระราชสำนัก ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ เป็นผู้แทนพระองค์ไปมอบสิ่งของ ไปวางพวงมาลา ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาใจใส่ให้ความสำคัญจะหนีเพราะเห็นว่าเหตุเกิดขึ้นสมัยที่รัฐบาลท่านปกครองอยู่ใช้นโยบาย 8 เม.ย. 2544

คือนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วยวิธีการจัดการเดือนละ 10 คน 2 เดือนก็หมด พูดง่าย ๆคือฆ่าทิ้ง หัวโจกมีไม่เกิน 17-18 คน ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ เมื่อถึงตอนนี้เหตุไม่ได้จบ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องทบทวนโดยละเอียดว่าจะมีมาตรการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

นายชวนกล่าวอีกว่า เรื่องความมั่นคงเราทดลองไม่ได้ ถ้าเราไม่แน่ใจอย่าไปทดลอง พอพลาดแล้วเอาคืนยากมาก เหมือนวันนี้ก็ต้องดูใจคนแก้ปัญหา ตนมีโอกาสได้เจอแม่ทัพน้อยก็ให้กำลังใจ แต่ไม่แน่ใจว่าปัญหาที่ไปทำนั้นจะแก้ได้หรือไม่ ถึงขั้นมีทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ากลัวจะเสียเมือง ก็ให้กำลังใจทุกฝ่ายว่าขอให้แก้ปัญหาได้ แต่ต้องศึกษาว่าเหตุคืออะไร บางเรื่องต้องให้เกียรติคนที่เขาหวังดีและเตือน ดังนั้นรัฐบาลอย่าดูดายสิ่งที่ท้วงติง

นายชวนกล่าวต่อว่า ส่วนที่นายกฯพูดว่าลงพื้นที่ภาคใต้ 2 วัน 3 คืนไม่เห็นมีใครใส่เสื้อเกราะ หรือทหารขับรถถังตามมา เพราะมั่นใจว่าไปด้วยเจตนาที่ดี ไปด้วยใจจริงเพราะพรรคเพื่อไทยไม่มี สส.ที่นั่น ขออย่าไปเชื่อวาทกรรมที่ผู้นำบางท่านพูดว่าเพื่อไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับภาคใต้ สนามบิน จ.ภูเก็ต พรรคเพื่อไทยไม่มี สส.แต่ลงทุนไปหลายหมื่นล้านบาท

“ผมฝากไว้ด้วยความเคารพ เมื่อคิดว่าเป็นนายกฯ อย่าไปคิดว่ามี สส.พรรคเพื่อไทยอยู่หรือไม่ หน้าที่ท่านต้องไป ไปนิดเดียวอย่าทวงบุญคุณ นั่นคือหน้าที่อยู่แล้ว ท่านไปภูเก็ต ก็เข้าใจ ความจริงท่านไปก่อนแล้วเพราะท่านมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่นั่น แต่สิ่งที่อยากกราบเรียนคือภูเก็ตเป็นเมืองที่ทำรายได้ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งรองจากกรุงเทพฯ เราต้องช่วยพัฒนาเขา เพราะรายได้นั้นคือส่วนหนึ่งของภาษีที่จะมาเลี้ยงประเทศเรา นายกฯเศรษฐา ท่านไม่ใช่นายกฯอีแอบ ท่านเป็นายกฯมาครึ่งปีแล้ว ผมติดภาษาใต้เศรษฐา เขาเรียกว่า เสดสา แปลว่าลำบาก และว่าผู้นำบางท่านเพื่อไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับภาคใต้ ท่านไปเอามาจากไหน ผมไม่เคยพูด ผมพูดในวันแถลงนโยบายว่า ภาคใต้ถูกเลือกปฏิบัติ คนที่เลือกปฏิบัติเขาไม่ได้ทำโดยแอบทำหรืออีแอบ เขาพูดตรงไปตรงมา ว่าพัฒนาจังหวัดที่เลือกเราก่อน จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง หากนายกฯไม่ทราบว่าคนพูดคือใคร ผมจะบอกให้ ท่านทักษิณ พูดโดยประกาศกับประชาชนตรง ๆ” นายชวนกล่าว

ทำให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ประท้วงทันทีเพราะพูดพาดพิงถึงคนนอกที่ไม่มีสิทธิมาชี้แจง เพราะพูดถึงนายทักษิณในทางเสียหายเรื่องการเลือกปฏิบัติในภาคใต้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้อภิปรายอยู่กรอบด้วย ทำให้นายชวนโต้กลับทันทีว่า “ไม่มีใครอยู่ในกรอบเท่าผม” ซึ่งนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม ขอความร่วมมือนายชวน หลีกเลี่ยงการเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก ก่อนที่นายชวนอภิปรายต่อไปยืนยันว่า

ในวันแถลงนโยบายรัฐบาลไม่เคยพูดว่า เพื่อไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับภาคใต้ แค่พูดถึงการเลือกปฏิบัติทำให้เสียโอกาส และขอให้รัฐบาลช่วยชดเชยการเสียโอกาสอันเกิดจากการเลือกปฏิบัติเท่านั้น แต่จนถึงทุกวันนี้การชดเชยก็ยังไม่มี

“ผมไม่ใช่คนพูดพล่อย ๆ ในชีวิตการเมืองมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่คนพูดบ่อย พูดพล่อย พูดบ้าน้ำลายรายวัน พูดอะไรเป็นเรื่องจริง และรับผิดชอบ ถ้านายกฯข้องใจอะไรที่ผมพูดกระทบ เมื่อท่านไปเข้าใจผิดและพูดกระทบผมก็ไม่ได้โกรธเคือง แต่สิ่งที่ท่านพูดไป คนฟังมีความรู้สึกทำไมนายกฯต้องมานินทานายชวน หลีกภัย”

นายชวนกล่าวว่า อีกเรื่องที่อยากพูดถึงคือ นโยบายรัฐบาลที่ระบุจะสร้างความชอบธรรมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยฟื้นฟูหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่เข้มแข็ง แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ 6 เดือนกว่า เข้าใจว่าการเปิดอภิปรายรัฐบาลให้รัฐบาลมีผลงานออกมาในช่วง 6 เดือนกว่า ๆ เป็นไปไม่ได้ นี่คือความจริง ในช่วงที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน 3 สมัย ก็ให้เวลารัฐบาลบริหารอย่างน้อย 1 ปี แต่สิ่งที่สามารถอภิปรายได้ โดยไม่ต้องรอให้ครบ 1 ปีคือ

ถ้ารัฐบาลชุดนั้นโกง ทุจริต หรือปฏิบัตินอกหลักนิติธรรม ก็สามารถเปิดอภิปรายได้ วันนี้สิ่งที่รัฐบาลปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องรอเวลาคือ การยึดหลักนิติธรรม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากกรณีนักโทษที่ไม่ขอเอ่ยชื่อ การที่คนป่วยหายป่วยเป็นเรื่องดีไม่ว่าใครก็ตาม มีโอกาสที่จะมาชื่นชมผลงาน และรับกรรมกับสิ่งไม่ดีที่ทำไว้

แต่ประเด็นที่อยากเตือนคือ กฎกระทรวงที่ออกเกี่ยวกับนักโทษเป็นเรื่องดี ไม่ว่าออกสมัยใด ปัญหามีเพียงว่า แต่ละข้อได้มีการปฏิบัติหรือไม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลปล่อยปะละเลยไม่ให้กฎเกณฑ์กติกา ความถูกต้อง เสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติเกิดขึ้น กลับละเลยอ้างว่าเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่

“จึงต้องมีคำถามว่า รัฐบาลจะดำเนินการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ไม่เกี่ยวข้องกับคนป่วย แต่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ถ้ารัฐบาลจะบอกเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ รัฐบาลที่เป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไร ด้วยภารกิจหน้าที่ของนักการเมือง การให้ประชาธิปไตยไปด้วยดี ต้องเคารพกฎหมาย ถ้าเลือกปฏิบัติความสุขประชาชนจะไม่เกิดขึ้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องยอมรับคือ ถ้าต้องการให้ประชาชนมีความสุข ต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น ถ้าไม่รักษาความยุติธรรม ความสุขประชาชนก็ไม่เกิดขึ้น ขอให้ทุกคนยึดหลักความถูกต้อง และหลักนิติธรรม” นายชวนกล่าว