
กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยมติ 5 ต่อ 4 และเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
นำมาสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คนที่ 31 คือ “แพทองธาร ชินวัตร”
แต่คนที่เผชิญฝันร้ายไม่ต่างจาก “เศรษฐา” คือ “พิชิต ชื่นบาน” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 19 วัน
เพราะเรื่องราวของเขาเมื่อ 16 ปีที่แล้ว กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้นายกฯ คนที่ 30 ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ทั้งที่คดี มาจาก 40 สว.ชุดที่แล้ว ที่ยื่นฟ้อง “เศรษฐา” และ “พิชิต” ทิ้งทวน แม้จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีไปแล้ว เป็นเพียงแค่ สว. “รักษาการ”
แต่การ “ใช้สิทธิ” อื่นตามรัฐธรรมนูญเช่นการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ทั้งที่ครบวาระดำรงตำแหน่งไปแล้วทำได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่โต้แย้งกันเองในกลุ่ม สว.ที่ลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ กับ สว.ฝ่ายที่ไม่ลงชื่อ
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567ที่ทำให้ เศรษฐา และ ครม.ต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ระบุตอนหนึ่งว่า
“โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
“ข้อเท็จจริงปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงาน ประสานงานให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) นำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาโดยที่รู้หรือควรรู้ว่าภายใน ถุงกระดาษดังกล่าวมีเงินสดอยู่ และผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วยใน ลักษณะเป็นตัวการร่วม โดยมีเจตนาจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ที่อาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2550 ซึ่งเป็นลูกความของผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต)”
และคำวินิจฉัยอีกตอน ระบุว่า “ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ที่ข้อเท็จจริงปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่ศาลสั่งลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ล้วนเป็นข้อเท็จจริง ที่สาธารณะชนต่างรู้กันโดยทั่วไป แม้กรณีดังกล่าวพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) และพวกเป็นคดีอาญา ในข้อหาให้สินบนต่อเจ้าพนักงานหน้าที่ หรือความผิดอาญาอื่นก็ตาม”
“แต่การฟ้องคดีอาญาเป็นการดำเนินคดีทางกฎหมายที่มุ่งจะกล่าวโทษความผิดต่อบุคคลที่ให้ต้องถูกลงโทษอาญา ซึ่งเป็นโทษที่ถึงแก่ชีวิตสิทธิเสรีภาพ เนื้อตัว ร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง”
“ดังนั้น มาตรฐานในการพิจารณาว่าจะฟ้องหรือจะลงโทษอาญาต่อบุคคลใดจึงต้องพิสูจน์ความผิดให้ครบองค์ประกอบความผิดฐานนั้น การที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้น ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือหรือความน่าไว้วางใจทางการเมือง ที่พิจารณาจากมาตรฐานของวิญญูชน” คำวินิจฉัยของศาลระบุ
แต่อีกด้านหนึ่งคดีดังกล่าวของ “พิชิต” ยังไม่ถูกพิสูจน์ความผิดให้ครบองค์ประกอบ เพราะคำตัดสินให้จำคุก 6 เดือน เป็นเพียง “คำสั่ง” เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ไม่มีอุทธรณ์ หรือ ฎีกา ต่างจากคดีอื่นที่พิสูจน์กัน 3 ศาล
ถุงขนม 2 ล้านของใคร?
หลังจากผ่านมา 16 ปี สำนักงานอัยการยังเก็บบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา “นาย ธ.” ผู้ที่ถือถุงขนมไปให้กับเจ้าหน้าที่ศาล ที่ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม โดยเข้าไปสอบปากคำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
โดย นาย ธ. อธิบายหน้าที่ของเขาในฐานะเป็นผู้ประสานงานในการเดินทางมาศาลและรักษาความปลอดภัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) และ คุณหญิงพจนมาน ชินวัตร (นามสกุลในเวลานั้น) ในคดีที่ดินรัชดา
ส่วนการดำเนินคดีมีทนายความรับผิดชอบอยู่แล้ว โดยมีนายพิชิต เป็นหัวหน้าที่ทนายความ ซึ่งตัว นาย ธ.ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง
เรื่องถุงขนม 2 ล้าน บันทึกคำให้การนาย ธ. ระบุว่า
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันนัดรายงานตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ และคุณหญิงพจมาน หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศ ข้าฯ จึงออกจากที่พักแฟลตตำรวจ เพื่อจะเดินทางไปประสานงานการไปศาลและรักษาความปลอดภัยที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยช้าฯ เดินลงมาจากที่พักพร้อมภรรยาและบุตรสองคนไปขึ้นรถ
“ข้าฯ ได้หยิบถุงใส่เงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่ข้าฯ ได้มาจากการขายบ้านโดย ตั้งใจจะนำไปฝากธนาคาร หลังจากทำธุระที่ศาลฎีกาเสร็จแล้ว ส่วนภรรยาได้ถือถุงใส่ช็อคโกแลต ที่ ข้าฯ ให้ไปซื้อมาเพื่อนำไปฝากเจ้าหน้าที่ศาล บุตรของข้าฯ ทั้งสองคนได้วิ่งนำหน้าไปขึ้นรถ นั่งเบาะหลังด้านขวา ส่วนที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับ มีลูกของเพื่อนบ้านที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนเดียวกันกับบุตรของข้าฯ ได้ขอนั่งอาศัยไปด้วย”
เมื่อ บุตรขึ้นรถเสร็จ ข้าฯ ได้เดินเอาถุงใส่เงินไปเก็บไว้ที่กระโปรงท้ายรถ ส่วนภรรยาข้าฯ ได้นำถุงใส่ช็อคโกแลตไปวางไว้ที่วางเท้าด้านซ้ายของที่นั่งเบาะหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่ข้าฯ นั่ง จากนั้น ข้าฯ เดินทางไปส่งบุตรที่โรงเรียน
เมื่อเดินทางถึงศาลฎีกา นาย ธ.ได้พบกับนายพิชิต และนายตำรวจรักษาความปลอดภัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศขณะนั้น) หลังจากนั้น นายพิชิต พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ได้ขึ้นลิฟต์ของอาคารศาลฎีกา แต่ระหว่างเดิน นายธ.นึกขึ้นได้ว่าลืมถุงช็อกโกแลตที่จะนำไปฝากเจ้าหน้าที่ศาล จึงเดินไปบอกคนขับรถให้ไปหยิบถุงขนมเบาะหลังแล้วตามขึ้นไป
“แล้วข้าฯ ก็เข้าไปใน ห้องพักหนายความ นั่งคุยกับนายพิชิตอยู่สองคน ครู่หนึ่งคนขับรถของข้าฯ ก็ถือถุงเข้ามาในห้องวางไว้บนโต๊ะแล้วเดินออกไป จากนั้น นายพิชิต ก็เดินออกไปข้างนอก ขณะเดียวกันได้มีเจ้าหน้าที่ศาล คนที่เจ้าหน้าที่ศาลเรียกกันว่า “พี่หม่อม” เดินเข้ามาพร้อมกับถือแพ้มเอกสารมาหนึ่งแพ้ม เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวนั่งลงตรงกันข้ามกับข้าฯ เมื่อแนะนำตัวเสร็จ ข้าฯ ก็ได้พูดกับเจ้าหน้าที่คนนั้น โดยกล่าวขอบคุณในการประสานงานในเรื่องการรักษาความปลอดภัย และการนัดหมายที่ได้รับความสะดวกตลอดมาไม่มีอุปสรรค”
“และข้าฯ บอกว่ามีของฝากเล็กน้อยมาให้พี่หม่อม และน้องๆ ของฝากวางอยู่บนโต๊ะ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ลุกขึ้นแล้วหิ้วถุงดังกล่าวไปด้วย และถามข้าฯ ว่าเอาอะไรมาฝาก ข้าฯ ตอบว่าเป็นขนมเล็กน้อยให้พี่หม่อม และน้องๆ ไปแบ่งกันทาน”
นาย ธ. ให้การว่า สักพักหนึ่งมีคนมาเคาะประตูและเรียกออกไปพบเจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้เปิดช่องกระจกบานเลื่อนออกมาแล้วยื่นถุงใบที่มอบให้กับเจ้าหน้าที่ พร้อมบอกว่า “พี่หม่อมให้เอาของมาคืน” จึงรับถุงดังกล่าวแล้วฝากให้นายตำรวจรักษาความปลอดภัย พ.ต.ท.ทักษิณนำไปให้คนขับรถเพื่อไปเก็บไว้ที่รถ
“ข้าฯ รู้สึกงงๆ อยู่ว่าทำไมถึงเอาขนมมาคืน แต่ก็ไม่ได้ถามอะไร เพราะคนที่รับถุงจากข้าฯ เป็นเจ้าหน้าที่คนชื่อหม่อม แต่คนที่เอามาคืนเป็นเจ้าหน้าที่อีกคน”
ต่อมา คนขับรถได้บอกกับนาย ธ.ว่าได้นำถุงดังกล่าวเก็บไว้ที่ท้ายรถเหมือนเดิม จึงเอะใจ เดินไปเปิดกระโปรงท้ายรถ และแกะถุงดังกล่าวดู ปรากฏว่าเป็นเงิน 2,000,000 บาท ที่เตรียมไว้จะเอาไปฝากธนาคารหลังจากเสร็จธุระที่ศาล
“ข้าฯ ตกใจจึงพูดขึ้นว่าอย่างนี้เกิดเรื่องยุ่งแน่ แล้วเดินไปหานายพิชิต ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ที่ลานจอดรถ แล้วเล่าให้นายพิชิตฟังว่าเมื่อเช้าคนขับรถหยิบถุงผิดไป โดยไปหยิบถุงเงินที่จะนำไปฝากธนาคารแทนที่จะหยิบถุงขนมไปให้”
“ข้าฯ จึงขอให้ นายพิชิต ช่วยนัดหมายเจ้าหน้าที่ชื่อหม่อม เพื่อทำความเข้าใจกัน หลังจากนั้น ข้าฯ ก็ไปที่ตึกชินวัตร 3 เพื่อไปทำธุระ ต่อมาเวลาประมาณเกือบบ่ายโมง นายพิชิต ได้โทรศัพท์แจ้ง ข้าฯ ว่าได้คุย กับเจ้าหน้าที่คนชื่อหม่อมแล้ว เจ้าหน้าที่คนชื่อหม่อมบอกว่า ได้รายงานให้ผู้ใหญ่ทราบแล้ว ข้าฯ จึงไม่ได้เข้าไป ชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ศาลคนที่ชื่อหม่อม”
คำถามสำคัญที่พนักงานสอบสวนได้ถาม นาย ธ. คือ การที่นำช็อกโกแลตไปฝากเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาได้ปรึกษากับผู้ใดหรือไม่ นาย ธ. ตอบว่า “ข้าฯ ไม่ได้ปรึกากับผู้ใดเลย รวมทั้งนายพิชิต และ น.ส.ศุภศรี” (เสมียนทนาย)
ฟังความฝั่ง “พี่หม่อม”
ขณะที่ตัวละครสำคัญอีกคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่ง นาย ธ. เรียกว่า “พี่หม่อม” ได้ให้การกับ สน.ชนะสงคราม เรื่องการรับถุงขนม 2,000,000 บาท
“เมื่อเข้าไปในห้องพักทนาย นาย ธ.ไม่ได้พูดปรึกษาคดีหรือพูดเรื่องอื่นใดกับข้าฯ โดยพูดว่า “ในระยะนี้ต้องติดต่อบ่อย เห็นเจ้าหน้าที่เหนื่อยก็มีของมาฝากให้กับทุกคน” และนาย ธ. ได้ไปหยิบถุงสีขาวมีเทปปิดปากถุงตามความยาวของปากถุง ไม่สามารถมองเห็นภายในถุงได้ โดยถุงดังกล่าววางอยู่ที่ตู้ข้างโต๊ะ มาส่งมอบให้กับข้าฯ ซึ่งอยู่ 2 ต่อ 2 ไม่มีผู้ใดเห็นแต่อย่างใด ซึ่งข้าฯ คิดว่าเป็นขนมตามที่ได้ให้การไว้แล้ว ภายหลัง นาย ธ.ส่งถุงกระดาษให้ข้าฯ แล้วไม่พูดจาอะไรกับข้าฯ อีก ข้าฯ จึงได้ถือถุงกระดาษสีขาวดังกล่าวออกจากห้องไป”
“เหตุที่ไม่ปฏิเสธที่จะรับถุงกระดาษจากนาย ธ.เนื่องจากคิดว่าภายในถุงกระดาษเป็นขนม และนาย ธ.บอกให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน”
“พี่หม่อม” ตอบคำถามพนักงานสอบสวนที่ถามว่า การที่จะมอบชนมช็อคโกแลตให้กัน แต่ไปมอบกันในที่ลับสองต่อสอง (ห้องพักทนาย) ทั้งๆ ที่ควรมอบกันอย่างเปิดเผยในแผนกธุรการ และลักษณะการบรรจุอยู่ในถุงกระดาษใช้สก็อตเทปปิดปากถุงอย่างมิดชิด ผิดปกติของการบรรจุขนมหรือช็อคโกแลตเช่นนี้ เหตุใดจึงไม่มมีข้อพิรุธหรือสงสัยในสิ่งของที่รับมาหรือตอบปฏิเสธรับไป ว่า
“ด้วยเหตุที่ข้าฯ ไม่ทันได้คิดระแวงสงสัยว่า นาย ธ.จะนำเงินมามอบให้โดยในความในขณะนั้นเข้าใจว่าเป็นขนม จึงไม่ได้ตอบปฏิเสธไปในทันที การที่ไปมอบกันในห้องทนายก็เป็นเหตุกรณีที่ข้าฯ ไม่ทันตั้งตัวหรือรู้ล่วงหน้ามาก่อน เนื่องจาก นาย ธ.ขอปรึกษาคดีตามทีข้าฯ ให้การไว้แล้ว”
ขณะที่คำถามของพนักงานสอบสวนถามว่า “การกระทำของ นายธ. เห็นว่า นายพิชิต และ น.ส.ศุภศรี (เสมียนทนาย) มีส่วนร่วมในการกระทำหรือไม่อย่างไร
ตัวละคร “พี่หม่อม” ตอบว่า เนื่องจาก นาย ธ. อยู่ในคณะทนายความซึ่งมีนายพิชิตเป็นทนายความและมี น.ส.ศุภศรี เป็นผู้ช่วยทนายความ มาศาลด้วยกันทุกครั้ง ในวันเกิดเหตุ ทั้ง 3 คน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่ให้การไว้แล้วในคำเบิกความของข้าฯ
“ตามความเห็นของข้าฯ เชื่อว่าบุคคลทั้ง 3 น่าจะมีส่วนร่วมรู้เห็น ซึ่งคำสั่งไต่สวนของศาลฎีกาได้ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลทั้ง 3 ร่วมกันกระทำโดยบางหน้าที่กันกระทำ ข้าฯ ขอถือคำสั่งไต่สวนของศาลฎีกาเป็นเหตุผลในการตอบคำถามของพนักงานสอบสวนในครั้งนี้ด้วย”
พิชิต ยัน ไม่ได้ให้สินบน จนท.ศาล
“พิชิต” บอกว่า ในที่สุดเรื่องเดียวกันนี้ฝั่งตำรวจ ฝั่งอัยการไม่ดำเนินคดี ไม่สั่งฟ้อง เพราะไม่พบข้อเท็จจริงว่าพิขิตจะเอาเงินไปให้ใคร เพื่อการใด และประสงค์สิ่งใด ไม่เข้าองค์ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144
“ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ขณะที่ในรายงานการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ระบุเหตุผลที่ “สั่งไม่ฟ้อง” ได้อ้างถึงแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 342/2506, 1403/2512, 1262/2547 ที่ระบุว่า
การจะผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 เจ้าพนักงานที่เป็นผู้รับจากการให้ จะต้องมีหน้าที่โดยตรงในเรื่องที่ถูกจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือ ประวิงเวลากระทำการนั้น หากไม่มีหน้าที่โดยตรง หรือ เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่ หรือ พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว ทั้งผู้ให้ และผู้รับ ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144
“หม่อม… ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะให้คุณให้โทษแก่คู่ความในคดีได้และตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ศาลคนอื่นก็ไม่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ศาลคนใดจะมีหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่คู่ความในคดีได้แต่อย่างใด ซึ่งอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ธุรการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดไว้ในเอกสาร หน้าที่ความรับผิดชอบและการแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานศาลยุติธรรม” รายงานการสอบสวนระบุ
พิชิต กล่าวว่า “เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องตามคำสั่งของศาลฎีกา เพราะศาลฎีกาใช้ดุลพินิจให้เป็นตัวการร่วม วินิจฉัยว่า ผมร่วมรู้เห็นหรือให้ความร่วมมือในการกระทำหรือไม่ แต่ไม่มีพยานหลักฐานชัดแจ้ง โดยอ้างว่าผู้กระทำซึ่งมิใช่ทีมทนายความเป็นคณะทำงานเดียวกันกับนายพิชิต และนายพิชิตเป็นหัวหน้าคณะทนายความ “น่าจะรู้” ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่กลับโทรศัพท์ไปขอโทษและปรับความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ศาล และวินิจฉัยว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำในลักษณะตัวการร่วม ซึ่งผมโทรไปหลังจากนั้น 3 ชั่วโมง”
ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ระบุ “ตัวการร่วม” ไว้ว่า ตัวการร่วมต้องอยู่ด้วยกันในขณะกระทำความผิด พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน แต่ผมไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยซ้ำ
คดีถุงขนม 2 ล้าน กลายเป็นตราบาป และกลายเป็นการถอดถอนนายกฯ ออกจากตำแหน่ง
พิชิต จึงขอความเป็นธรรมครั้งสุดท้าย…ก่อนตาย