สัมภาษณ์พิเศษ
มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เป็น “รัฐมนตรีวงใน” ตลอด 14 เดือน หลังได้รับโปรดเกล้าฯตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
ภารกิจในกระทรวงราชรถ นอกจากภารกิจ “ทางน้ำ” อันมีโปรเจ็กต์ยักษ์อย่างการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือคลองเตย ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเป็นหนึ่งในหมุดสำคัญที่จะเป็นต้นทางโครงการ Entertainment Complex
“มนพร” ยังได้รับภารกิจใหม่ให้รับผิดชอบทั้งกรมการบินพลเรือน กรมท่าอากาศยาน วิทยุการบิน ต่อยอดสู่การเป็น Aviation Hub
ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “มนพร” ถึงหน้าที่ใหม่ในภารกิจแปลงโฉมสนามบิน 29 แห่ง ที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมแบบด่วนที่สุดในธันวาคมนี้
อัพเกรดสนามบินภูธร
มนพรฉายภาพว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่กำกับดูแลสนามบินทั่วประเทศ 29 แห่ง แต่เมื่อเข้ามาดูแล้วที่สามารถดำเนินการได้จริง ๆ มีแค่ 20 แห่ง เพราะ 9 แห่ง ไม่มีเครื่องบินลง เช่น สนามบินแพร่ สนามบินตาก เราโอนให้กรมฝนหลวง สนามบินลำปางมี 1 ไฟลต์ สนามบินหัวหิน มีเที่ยวบิน หัวหิน-เชียงใหม่ 1 ไฟลต์
แล้วจะทำอย่างไรให้สนามบินในการกำกับของ ทย.มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า สนามบินคือด่านหน้าการเข้าสู่เมือง จึงควรมีการปรับลุกให้ทันสมัยเหมือนสนามบินที่อยู่ในกำกับของ AOT จึงมาดูว่าสนามบินแต่ละแห่งที่สร้างรายได้ให้ ทย. ซึ่งพบว่าสนามบินแต่ละแห่งแตกต่างด้วยกายภาพ ไฟลต์บิน การดูแลรักษา บุคลากร จึงต้องจัดเป็นกรุ๊ป A B C D แยกตามจำนวนไฟลต์บิน และผู้โดยสาร
กลุ่ม A ซึ่งมีผู้โดยสารมากที่สุดตั้งแต่ 1,000-2,500 คนต่อวัน คือ กระบี่ อุดรธานี ขอนแก่น นครศรีธรรมราช และอุบลราชธานี
กลุ่ม B มีผู้โดยสาร 500-1,000 คนต่อวัน คือ น่าน นครพนม ร้อยเอ็ด สกลนคร เลย บุรีรัมย์ นราธิวาส ตรัง และพิษณุโลก
กลุ่ม C มีผู้โดยสาร 500 คนต่อวัน คือ หัวหิน ระนอง ชุมพร ลำปาง แม่สอด และแม่ฮ่องสอน
กลุ่ม D คือ สนามบินที่ไม่ได้ใช้ คือ แพร่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ปาย และเบตง
การจัดกลุ่มเพื่อดูว่า ถ้ากลุ่ม A ขาดอะไรในงบประมาณนี้จะได้เติมให้ กลุ่ม B กลุ่ม C จะต้องเติมงบประมาณเท่าไหร่ จัดงบประมาณตามภารกิจและตามไฟลต์บิน
เช่น สนามบินตรัง อยู่ในกลุ่ม B อาคาร Terminal ก่อสร้างพันกว่าล้านบาท แต่เครื่องบินลงวันละ 6 ไฟลต์ เพราะรันเวย์สั้น ต้องเพิ่มรันเวย์ให้ยาวขึ้น จะได้มีไฟลต์บินมาลง เพราะตัวรันเวย์เป็นตัวทำให้เกิดรายได้
ดังนั้น เราเปลี่ยนโจทย์ใหม่เราทำ Terminal ให้เล็ก เพราะคนอยู่ไม่นาน คนที่จะบินอยู่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ขาเข้าคนอยู่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ไปลงทุนเรื่องสร้างรันเวย์ดีกว่า
ปรับภาพลักษณ์ให้เช้งวับ
ข้อจำกัดของ ทย.เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องมุ่งทำงานที่สอดคล้องกับงบประมาณ การจัดทำใหม่จะเช้งวับต่อเมื่อได้รับงบฯเพิ่ม ซึ่งงบฯ ปี’68 เสร็จไปแล้ว ได้รับงบฯ 4,400 ล้าน แต่กำลังจะไปของบฯกลางกับนายกฯ เรื่องทำ Aviation Hub ทำเมืองรองเป็นเมืองหลัก พัฒนาสนามบินไปเป็นเมืองหน้าด่านแต่ละจังหวัด
“ต้องละเอียดเรื่องการใช้งบฯ ใช้เงินไปแล้ว ผลตอบแทนคืออะไร เงินประชาชนถูกใช้ไปเพื่ออะไร จะเพิ่มรายได้ให้กับสนามบินแต่ละแห่งได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าทำแล้วถูกทิ้งร้าง ขาดทุน และยังต้องคิดถึงสนามบินกรุ๊ป D ที่ไม่มีเครื่องบินลง เช่น สนามบินโคราช ต้องให้เอกชนมาใช้พื้นที่เป็นศูนย์ฝึกซ่อม สนามบินเพชรบูรณ์ มีสายการบินพาณิชย์ขอเช่า ก็ต้องให้เขาเช่า ไม่ใช่กอดไว้ทิ้งร้างไปเรื่อย ๆ เพราะรันเวย์ 4-5 ปี รันเวย์ก็แตก”
ทำสนามบินให้มีชีวิต
รมช.คมนาคม บอกว่า การจะเป็น Aviation Hub (ศูนย์กลางการบิน) ได้ เราต้องทำให้สนามบินมีชีวิต มีกิจกรรม ต้องมีอัตลักษณ์ของเมือง มีความปลอดภัย มีรันเวย์ที่ยาวพอที่จะสามารถรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้
อันดับแรกจะต้องทำให้สนามบินมีอัตลักษณ์ของเมือง ยกตัวอย่าง สนามบินกระบี่ จังหวัดกระบี่มีเทศกาลกินเจที่ขึ้นชื่อระดับโลก ดังนั้นต้องเพิ่มพื้นที่ให้กับการทำกิจกรรมของจังหวัด จัดงานตรงไหน มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจตรงไหน
“เรามองเห็นว่า นายกฯแพทองธาร ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ จึงสั่งงานให้ทุกสนามบิน จัดกิจกรรมงานลอยกระทงขึ้น”
ขณะที่ร้านค้าภายในสนามบิน ต้องทำให้เป็นระเบียบ แยกเป็นโซน ทั้งร้านค้า ประเภทสินค้าที่ขาย ของฝากซึ่งขาดการวางหลักเกณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ ดังนั้นต้องกำชับเรื่องการวางพื้นที่ ราคาอาหารในสนามบินจะต้องมีราคาเท่ากับในเมือง รวมถึงเปิดพื้นที่ให้กรมพัฒนาชุมชนเข้ามาจำหน่ายสินค้า OTOP ด้วย
เรื่องของห้องน้ำภายในสนามบินก็สำคัญ ที่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ในฐานะเจ้ากระทรวงสั่งการ ให้ดูเรื่องห้องน้ำ เพราะการจัดอันดับสนามบินนานาชาติ คะแนนส่วนใหญ่ก็มาจากห้องน้ำ “มนพร” จึงรับนโยบายนี้มาใช้กับ ห้องน้ำในสนามบินของ ทย.
“ห้องน้ำจะต้องสะอาด เพียงพอ และมีกลิ่นหอม ต้องเวียนทำความสะอาด ทุก 15-30 นาที”
มนพรบอกว่า โจทย์พัฒนาสนามบิน ไม่ใช่แค่สนามบินใดสนามบินหนึ่ง ไม่ได้พัฒนาเฉพาะสนามบินที่อยู่ในกำกับของ AOT แต่เราต้องเอาจุดด้อยของสนามบินในกำกับของ ทย.มาเป็นจุดเด่น เพราะราคาเราถูกกว่าทั้งค่าจอดสลอต ค่าแตะรันเวย์ ค่าเช็กอินของเราถูกกว่า
ตั้งกรรมการบูรณาการสนามบิน
มนพรลงไปตรวจสนามบินกระบี่ แล้วพบปัญหาหลายจุด จึงออกไอเดียเลยว่า ให้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาสนามบินกระบี่ขึ้นมาต้องเอาจังหวัดเข้ามาเกี่ยวข้อง เอาการท่องเที่ยว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะสนามบินกระบี่มีปัญหาคือ การก่อสร้างทางที่มีปัญหากับนักท่องเที่ยว หน่วยงานในกระทรวงคมนาคมต้องเป็นทุกพาร์ตเนอร์ และประสานกับท้องถิ่น ทั้ง อบต. และ อบจ. ดังนั้นสั่งการว่า ทุกสนามบินของ ทย.ให้มีองค์ประกอบแบบเดียวกัน
“พอเข้าไปก็ขอไปตรวจสนามบินกระบี่ก่อน เนื่องจากอาคารสถานที่ยังไม่พร้อม 100% เพราะอาคารบางโซนยังสร้างไม่เสร็จ ปรากฏว่าไม่มีการจัดรถบัสรับส่งผู้โดยสารเข้าเมือง ซึ่งผู้โดยสาร Complain มาตลอด แต่ไม่มีการจัดการ กลับปล่อยให้แท็กซี่ หรือ เอกชนเข้ามาบริการ จึงปรากฏข่าวว่าตบตีแย่งผู้โดยสารกัน ดังนั้นจึงขอรถโดยสารประจำทางเข้ามารับผู้โดยสารถึงตัวอาคาร”
รื้อสัญญาเช่าคู่ค้าสนามบิน
ขณะที่อาคารที่จอดรถของสนามบินแต่ละแห่ง ทย.ให้ผู้ประกอบการเช่าแค่ 3 ปี เพราะสนามบินบางแห่งมีอาคารที่จอดรถ ที่มีหน่วยงานทับซ้อนกัน บางที่สร้างในพื้นที่กองทัพอากาศ ก็ต้องไปเจรจา หรือบางแห่งสร้างในพื้นที่กรมธนารักษ์ ก็ต้องไปเจรจากับกรมธนารักษ์ แต่เวลาเราให้สัญญาเช่ากับเอกชนจะต้องเป็นในนามของ ทย.
ซึ่งแต่เดิมกรมธนารักษ์ให้สัญญาเช่า 3 ปี จึงทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุน เพราะระยะเวลาน้อย จึงเชิญรองอธิบดีกรมธนารักษ์มาหารือ ซึ่ง ทย.ขอให้กรมธนารักษ์อนุญาตในการทำสัญญาเช่าอย่างน้อย 10 ปี เอกชนก็กล้าที่จะลงทุนที่จอดรถใช้ระบบ AI จัดการ เพราะเขาคิดว่าจะบริหารภายใน 10 ปี โดยเราได้ปลดล็อกตรงนี้เรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่กองทัพอากาศก็ให้เจรจาเฉกเช่นเดียวกับกรมธนารักษ์
มนพรยืนยันว่า เดือนธันวาคม 2567 ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในเทศกาลเดินทางใหญ่ของคนไทย เทศกาลปีใหม่จะเห็นภาพเป็นรูปธรรม
ปรับปรุงสถาบันการบินพลเรือน
มนพร กล่าวว่า ส่วนสถาบันการบินพลเรือน พัฒนาให้มีความทันสมัย มีการเพิ่มหลักสูตร จัดหาครุภัณฑ์ ยกระดับสถาบันการบินพลเรือนให้เป็นแนวหน้าของไทย ให้ผ่านมาตรฐานของอาเซียน เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลในปลายปี 2566 ปัญหาขณะนั้นไม่มีเฮลิคอปเตอร์ไปฝึกบิน เพิ่มชั่วโมงบิน หลังจากโควิด-19 ไม่มีนักศึกษาฝึกบินเลย ทำให้สถาบันลดลง
มีผู้รับจ้างประมูลเฮลิคอปเตอร์ไป 1 ลำ แต่ส่งมอบไม่ทัน ไปซื้อเฮลิคอปเตอร์จากออสเตรเลีย ก็ทิ้งงาน จึงหาวิธีการให้หาซื้อตรง 30 ล้านได้ โดยประหยัดงบประมาณ 7 ล้าน แต่เฮลิคอปเตอร์ลำเดียวก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น ตอนตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำ ปี 2567 ได้ตั้งงบประมาณซื้อเฮลิคอปเตอร์อีก 2 ลำ เป็นการซื้อตรงเช่นกัน
มนพร สั่งการให้สถาบันการบินพลเรือน ทำงานกับหน่วยงานราชการ อย่านั่งเฉยๆ เพื่อรอนักเรียนมาหา จึงติดต่อกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ส่งกลุ่มนักเรียนเพื่อต้องการเพิ่มชั่วโมงบิน, มาฝึกกับเรา เหมือนกับการหาลูกค้า จนถึงวันนี้มีคนมาลงชื่อเข้าฝึก 26-27 คน แต่เราบอกว่าไม่ใช่ ต้องมากกว่านี้
นอกจากนี้ ที่เราบอกว่าเราจะเป็น Aviation hub ต้องมีความโมเดิร์นของอาคารสถานที่ การพัฒนาหลักสูตร การมีนักเรียน จึงจัดทำงบประมาณ 2568 มาปรับปรุง เพราะมีมาสเตอร์แพลนของศูนย์ฝึกการบินหัวหิน ซึ่งไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณ และตัวอาคารเป็นเรือนไม้เก่าๆ เหมือนโรงเรียนประชาบาล แล้วจะเป็น aviation hub ได้อย่างไร ดังนั้น จึงของบประมาณไปแล้ว 400 กว่าล้าน และได้รับงบประมาณแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมหาผู้รับจ้าง
ขณะเดียวกันยังประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง วิทยุการบิน กรมการบินพลเรือน กับ โรงเรียนภาคเอกชน ว่าต้องการหลักสูตรไหนบ้าง เช่น วิทยุการบินต้องการคนที่ผ่านหลักสูตร air traffic control เยอะ เรื่องช่างซ่อมเครื่องบินเขาก็ต้องการ เราจะได้รู้ว่าตลาดที่เขาต้องการคืออะไร และวางเป้าว่า สถาบันการบินพลเรือน เทอมนี้ต้องรับนักศึกษาหลักสูตรไหน ทำแผนการตลาด 4 ปี ตลาดต้องการอะไรเราก็เพิ่มหลักสูตรตรงนั้น
สถาบันการบินพลเรือนเป็นพลเรือน เป็นสถาบันที่ต้องผลิตนักบิน ช่างซ่อม เข้าธุรกิจการบิน เราต้องมีความพร้อม และมองไปถึงอนาคตข้างหน้า และต้องยกระดับคุณภาพการศึกษา เดิมทีอยู่ในอันดับ 5 แต่หลังจากเราเข้ามาทำผลงาน สร้างภาพลักษณ์ ปรับปรุงคุณภาพ ทำให้ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ของประเทศ
เราอยากเห็นลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มของคนกรุงเทพ เราเชื่อว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน ซึ่งสถาบันการบินพลเรือนเป็นความหวังของคนต่างจังหวัด จึงอยากสร้างให้เด็กต่างจังหวัดมาเรียน ไม่คิดค่าเทอมแพงๆ
เปิดแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย
ส่วนอีกโปรเจ็กต์ใหญ่ยักษ์ของรัฐบาลแพทองธาร คือ การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ตามข้อสั่งการของนายกฯ มนพรกล่าวว่า เรื่องการพัฒนาท่าเรือคลองเตย ผลการศึกษาเดิมการใช้พื้นที่ท่าเรือคลองเตย 2,353 ไร่ แบ่งเป็นเฟสไหนต้องพัฒนาอะไร
เฟสหน้าท่า ต้องทำ Cruise Terminal พัฒนาเรือท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น สร้างมิกซ์ยูส ห้างสรรพสินค้า แต่เรื่องการอำนวยความสะดวก อาคารสถานที่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองยังไม่มี
และหน้าท่าของท่าเรือคลองเตยสวยงามมาก แต่ยังมีหน่วยงานของกรมศุลกากรขอใช้พื้นที่อยู่ ไม่ควรเป็นแค่เพียงพื้นที่ทำเลทองถูกวางตู้คอนเทนเนอร์แล้วไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งในแผนงานศึกษาเดิมเขาก็อยากทำอยู่แล้ว พอเราเข้ามาก็เห็นว่าน่าทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเอา Entertainment Complex ไปใส่ทั้งหมด แต่จะเป็น Smart Port
เป็น Cruise Terminal ช็อปปิ้งมอลล์ ซึ่งกาสิโนอาจเป็นหน่วยเล็ก ๆ อยู่ในโรงแรม โรงละคร น่าจะมีสัก 1 ใบอนุญาต แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดถึง แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อใช้พื้นที่การท่าเรือให้เกิดประโยชน์
“นายกฯแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาท่าเรือ มีการแบ่งเป็น 4 อนุกรรมการ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการจราจร การขนย้าย การชดเชยและการทำความเข้าใจมวลชน”
“ส่วนท่าเรือกรุงเทพทั้งหมดเราไม่มีแผนย้ายออกไป แต่จะใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเรื่องคุณภาพชีวิตของพี่น้องชุมชนคลองเตย เราไม่ได้ไปรบกวนที่อยู่อาศัยของชุมชน แต่เราจะสร้างปอดให้กับคนกรุงเทพฯ ให้กับชุมชนคลองเตย”
“ความเหมาะสมไม่ได้แค่ Entertainment Complex อย่างเดียว แต่มันเหมาะสมด้าน Location มีเรือโดยสารท่องเที่ยวก็เข้ามา เสน่ห์ของแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่องของวิว” มนพรปิดท้าย