คำต่อคำ พท.-ปชป.-อนค. ชู 376 เสียงแก้รัฐธรรมนูญ ออกจากกับดัก คสช.-ยุทธศาสตร์ 20 ปี

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยไทย : ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง ?”

โดยมีผู้ร่วมเสวนา จาก 4 พรรค คือ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ และประชาชนปฏิรูป ซึ่งตัวแทนจาก 3 พรรค คือประชาติปัตย์-เพื่อไทย-อนาคตใหม่ มีรายละเอียดหลักการ-เหตุผลและรูปแบบ ต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกันคือ มุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และออกจากกับดักที่ คสช.วางไว้ ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเว้นพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ให้อยู่ใน “กับดัก” รัฐธรรมนูญและระบอบ คสช.ต่อไปอีก 5 ปี

กับดัก-ทางออกของพรรคประชาธิปัตย์ และ 4 อุปสรรคประชาธิปไตย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่คิดตรงกันการคืนสู่วิถีประชาธิปไตยและสามารถรักษารูปแบบและสาระของประชาธิปไตยได้ในที่สุด การจะกลับสู่รูปแบบประชาธิปไตยและรักษาประชาธิปไตยทั้งในรูปแบบและสาระนั้น

กับดักที่หนึ่ง คือ ประกาศคำสั่งของคสช.ที่ไม่สามารถทำให้ประเทศเดินตามโรดแมปที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกซึ่งคสช.เป็นผู้ออกกำหนดไว้เอง เช่น คำสั่งไม่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองและคำสั่งคสช.ไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้ปกติ

กับดักที่สอง แม้จะผ่านกับดักที่หนึ่งไปแล้ว แต่กระบวนการประชาธิปไตยต้องไปเริ่มที่การเลือกตั้ง แต่กระบวนการเลือกตั้งที่จะทำให้ประชาธิปไตยตั้งต้นได้ แต่เกิดเครื่องหมายคำถามว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ตามมาตรฐานของประชาธิปไตยได้จริง

ภายใต้ข้อสังเกต 2 ประการ ประการที่ 1 มีการใช้มาตรา 44 ปลดกกต.เกิดเป็นการตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของกกต และ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันจากเดิมที่ทำตัวเป็นกรรมการ แต่วันนี้แสดงตัวว่าจะเข้ามาเป็นผู้เล่นด้วย นำไปสู่ประการที่ 2 ว่า เมื่อเข้าไปสู่กระบวนการการเลือกตั้งแล้วจะเสรีเป็นธรรม หรือ สุจริตเที่ยงธรรม หรือไม่

กับดักที่สาม คือ มีสมาชิกวุฒิสภานั่งอยู่ 250 คน ที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งแต่จะมามีสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกหัวหน้ารัฐบาล เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะมีบทบาทเป็นผู้เล่น โดยไม่ได้ยึดโยงและอาจใช้อำนาจนั้นสวนทางประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

กับดักที่สี่ มี 2 ปัญหา 1.กติกาสูงสุดของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มีหลายบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคการพัฒนาประชาธิปไตย หรือ การให้ตัวแทนประชาชนใช้อำนาจแทนประชาชน
2.ประชาธิปไตยแบบเสรินิยมถูกตั้งคำถาม ฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะกอบกู้ศรัทธาจากประชาชน ว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คือ คำตอบสำหรับเศรษฐกิจและสังคมในชีวิตของคนรุ่นใหม่

ดึง ส.ว.สรรหา 1 ใน 3 ร่วมแก้รธน.

นายอภิสิทธิ์ชี้ทางออกจากกับดักว่า การแก้รัฐธรรมนูญในเชิงโครงสร้างต้องได้เสียง 1 ใน 3 ของรัฐสภา ต้องทำประชามติอีกรอบ กว่าจะถึงตรงนั้น คนที่มีอำนาจหลังการเลือกตั้งต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่า อุปสรรคที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นเป็นอุปสรรคชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างไร และระดมการสนับสนุนของประชาชนให้ได้ ถ้าเราต้องการสิ่งที่ดีกว่า จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนไม่ใช่เพื่อนักการเมือง แต่ถ้าตั้งธงต่อสู้เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้ง จะติดกับดักเดิม ต้องมีกระบวนการของสังคม ทุกกับดักข้ามได้ แต่ต้องข้ามด้วยหลัก จิตวิญญาณและกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้คนเห็นคุณค่าของกระบวนการประชาธิปไตย แก้กับดักต่าง ๆ ที่ถูกวางไว้ จะทำให้ก้าวพ้นไปได้และยั่งยืนที่สุด

ชัดเจนว่าเราจะแก้กติกาตามที่คสช.ร่างกติกาเอาไว้ มั่นใจ ว่า จำนวน ส.ส.ในสภาที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญหลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนเกิน 375 เสียง มั่นใจว่าพรรคการเมืองที่บอกว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญเลยมีจำนวนเสียงไม่ถึง 125 เสียง

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า วิธีที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะแก้อย่างไร ไปเขียนว่า ถ้าจะแก้ต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย ดังนั้นขึ้นอยู่กับการออกแบบวิธีการที่ทำอย่างไรจะดึงส.ว. 1 ใน 3 มาร่วมแก้ด้วย ซึ่งกลไกการทำประชามติเป็นทางหนึ่ง ซึ่งต้องทำประชามติถึง 4 ครั้ง

อย่างไรก็ตามยังมีเหตุผลหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ประการแรก ไม่แน่ใจว่า ณ วันเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่ของประเทศคาดหวังกับเรื่องอื่นมากกว่าหรือไม่เพราะเศรษฐกิจแย่จริง ๆ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ไม่มีทางออก จึงไม่ง่ายที่สังคมจะร่วมแก้รัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่ามีหลายช่องทางที่จะดึงส.ว. 1 ใน 3 มาร่วมด้วยกับสังคมได้

ปลุกปชช.ร่วมรื้อยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูป

รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่จะทำงานต่อไป แต่คนที่จะอาสามาทำงานในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้ามีข้อเสนอที่ดีกว่ายุทธศาสตร์ชาติ ข้อเสนอที่ดีกว่าแผนปฏิรูป ขอให้เสนอมาและถ้าประชาชนสนับสนุนให้แก้ยุทธศาสตร์ชาติต้องทำให้ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริง ๆ มั่นใจว่าทำได้
สาเหตุที่ไม่กระโดดไปเรื่องรัฐธรรมนูญเลยเพราะจะทำให้กลับไปติดกับดักเดิม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่สามารถเป็นกติกาถาวรที่ดีได้แน่นอน ต้องแก้รัฐธรรมนูญแน่นอน

กับดักเดิม คือ นักการเมืองถูกมองว่าขอเพิ่มอำนาจตัวเอง

ย้อนรธน.ปี 21 อุบัติเหตุนายก ฯ คนนอก

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การจะทำให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยและรักษาประชาธิปไตยได้…เราไม่อยากกลับไปสู่ความวุ่นวายเหมือนใช่ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถไปโทษว่าเป็นเพราะการเลือกตั้งหรือประชาธิปไตย เราไม่อยากกลับไปเหมือนเหตุการณ์พฤษภา ฯ 35 หรือ เรามั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่กลับไปสู่การเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนนารมณ์ของประชาชนประเทศไทยจะไม่กลับไปสู่เหตุการณ์พฤษภา ฯ 35

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่บอกว่าถูกออกแบบมาในระยะเปลี่ยนผ่าน ความจริงเป็นการลอกแนวคิดของรัฐธรรมนูญปี 21 เพื่อให้พล.อ.เกรียงศักดิ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็นต้องมีเสียงข้างมากในสภา ไม่คิดว่าประเทศไทยต้องการกลับไปในยุคพล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องเก็บเกี่ยวบทเรียนจากทุกสถานการณ์เพื่อนำมากำหนดอนาคตร่วมกันว่าจะเป็นอย่างไรเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

รัฐธรรมนูญปี 21 ตั้งใจไว้อย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่เป็นไปตามสคริปส์ สิ่งที่ทำให้ไม่เป็นไปตามสคริปส์ คือ ปรากฏการณ์ที่ผูกติดอยู่กับพล.อ.เปรม

พล.อ.เกรียงศักดิ์ใช้รัฐธรรมนูญปี 21 ค้ำรัฐบาลของตัวเองแต่ไปไม่ได้ แต่พอจะหาคนมาแทนพล.อ.เกรียงศักดิ์ พล.อ.เปรมไม่ได้ใช้กลไกของรัฐธรรมนูญปี 21

พล.อ.เปรมตัดสินใจว่ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเอาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและความยินยอมของทุกพรรคการเมืองจึงมาเป็นนายกรัฐมนตรี

นับจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ได้ใช้กลไกรัฐธรรมนูญปี 21 อีก จึงไม่ได้ให้เครดิตรัฐธรรมนูญปี 21 เพราะรัฐธรรมนูญปี 21 ไม่เป็นไปตามแผน แต่บังเอิญมาเรื่องพล.อ.เปรมเข้ามาและประคับประคองสถานการณ์มา

สุดท้าย ถึงจุดหนึ่งสังคมก็เรียกร้องว่าต้องยุติลง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งและยืนยันต่อมาในปี 31 ปี 35

วันนี้ประเทศไทยต้องวิ่งเร็วมากกับความสูญเสียโอกาสที่ผ่านมาแต่อย่าไปเน้นจุดขายเรื่องประชาธิปไตยโดยเน้นผลลัพธ์เพราะจะติดกับดักเดิม

คุณค่าของประชาธิปไตย คือ สามารถแก้ไขตัวเองได้ ด้วยความยินยอมพร้อมใจของคนทั้งประเทศ ถ้าเราเชื่อมั่นว่าในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คือ คำตอบในทุกด้านแต่จะไม่ราบรื่น การเมืองแบบแบ่งขั้วในตัวเองไม่เป็นปัญหา

หลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและประสบความสำเร็จในแง่การเมืองก็เป็นการเมืองที่แบ่งขั้ว แต่การแบ่งขั้วเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพและอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้ด้วยคือ การหลีกเลี่ยงความรุนแรง

ถ้าไม่มีรูปแบบก็ไม่มีประชาธิปไตย ถึงแม้สาระจะตรงกันหมดก็ตาม ระบบตัวแทนที่ผ่านมาไม่ใช่ 4 วินาที ประชาชนมีส่วนร่วมหลายอย่างในการกำหนดทิศทางประเทศ ถึงแม้จะบอกว่าเป็น 4 วินาทีแต่ก็เป็น 4 วินาทีที่มีการเลือกตั้ง

ฉะนั้นต้องกับมาสู่รูปแบบการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม ทำให้ผ่านการเลือกตั้งแล้วไม่ย้อนกลับไปอดีต ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมกับการสร้างปัญหาทั้งสิ้น แต่ทุกคนต้องมาเรียนรู้เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันอย่างไร ไม่ให้ย้อนกลับไปที่เดิม นอกจากนี้ยังเท่ากับว่าเป็นการรักษาสถาบันที่จะสนับสนุนประชาธิปไตย

พ้นกับดัก-ทางออกของพรรคเพื่อไทย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กับดักไม่ใช่กับดักของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองแต่กับดักที่จะเจอในวันข้างหน้า คือ กับดักต่อประเทศไทย เป็นกับดักต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย

เรามีกับดักที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต มีเงื่อนไขที่ปลูกฝังมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมานี้ ว่า สังคมไทยขาดผู้มีอำนาตที่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ คือขาด คสช.ไม่ได้

ในอนาคตเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตยังไม่ได้เป็นหลักประกันและแก้ไข คือ เกิดการทำผิดกฎหมายมาก ๆ แล้วไม่มีการลงโทษ กลไกชของของรัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐบาล เกิดการร่วมมือของหลายฝ่ายเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร

ฉะนั้นจึงมีกับดัก 2 เรื่อง คือ กับดักของประเทศในการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างราบรื่น และ กับดักที่จะเกิดเงื่อนไขสู่ความขัดแย้งและเกิดข้ออ้างในการรัฐประหารในอนาคต

ออกจากกับดักยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูป

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กติกาที่เขียนขึ้นได้นำประเทศไทยย้อนกลับไปในช่วงเมื่อ 30-50 ปีที่แล้ว ทำให้ประเทศถอยหลังไปมาก ที่ผ่านมามีพัฒนาการที่ดีและส่วนที่เป็นปัญหา ถ้าบอกว่าเรื่องการทุจริตแต่ระบบการป้องกันการทุจริตถูกแทรกแซงจากคสช. ทำให้เป็นจุดอ่อน

การเมืองจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการปัญหาความขัดแย้งที่ไม่ถูกนำมาหาทางออกจากความขัดแย้งเวลาเกิดความเห็นที่แตกต่างกัน การใช้กติกาที่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาไม่ถูกปลูกฝังและทำให้เกิดขึ้น

ในแง่ของการพัฒนาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาในเชิงระบบเลือกตั้ง คือ ประชาชนให้ความสำคัญกับนักการเมือง พรรคการเมือง เลือกนโยบายพรรคการเมือง รู้ว่าเลือกแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนร่วม
สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ยากมากเพราะมีกับดักสำคัญ…ในการเลือกตั้งมีคสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสามารถแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างไรก็ได้ มีคำสั่งคสช.ที่ไม่เป็นไปตามวิธีพินิติธรรม

มีการตั้งรัฐบาล มีส.ว. มีโอกาสที่จะเกิดการแทรกแซงได้อีกมาก หมายความว่าผลการเลือกตั้งออกมาอาจจะไม่นำไปสู่สิ่งที่ประชาชนแสดงออกมาในการเลือกตั้ง

เมื่อมีการตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นรัฐบาล รายละเอียดแตกต่างกันที่พรรคการเมืองตั้งรัฐบาล หรือ คนนอก หรือ คนของคสช.ตั้งรัฐบาล แต่จะมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง

กระบวนการพัฒนาของระบบการเมือง ระบบรัฐสภา ระบบการเลือกตั้ง 15 -20 ปีที่ผ่านมา มีกับดัก อุปสรรคที่สำคัญมาก คือ มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกับแผนปฏิรูป รัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐบาล องค์กรของรัฐต่าง ๆ ต้องทำตามแผนปฏิรูป ถ้าไม่ทำตามจะมีกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการปฏิรูปคอยตรวจสอบ ถ้าไม่ทำตามก็จะเสนอป.ป.ช.และนำไปสู่การถอดถอน หรือ การลงโทษทางอาญาในที่สุด

หมายความว่า กระบวนการที่เกิดพัฒนาการมาในรอบ 15-20 ปีที่ผ่านมาเกิดยากมาก ถ้าเป็น คสช.มารัฐบาลแสดงว่า คสช.ได้วางแผนกำหนดทิศทางของประเทสไทยล่วงหน้าไว้แล้วและต้องการให้เป็นต่อไปอีก 20 ปี กับดักดังกล่าวจะมีอายุไปอีก 20 ปี

คสช.ไม่แก้ปัญหาเก่า-สร้างปัญหาใหม่

คสช.วางแผนไว้แล้วล่วงหน้าในยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปและถ้าคสช.กลับมาบริหารได้ ตั้งรัฐบาลได้ บ้านเมืองก็จะถูกบริหารภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจึงไม่ตรงตามความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศไทย

ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่บังคับทุกฝ่ายต้องทำตามจะทำให้ประเทศไทยไม่มีทางปรับตัวได้ทันกับพัฒนาการ ภาระและปัญหาจะไม่ตกเฉพาะคนรุ่นนี้แต่จะตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเพราะปรับตัวไม่ได้ เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศตามที่คสช.วางแผนไว้

สิ่งที่คุณไพบูลย์บอกว่าระบบเลือกตั้งนิยมจะไม่กลับมาแล้ว มันจะไม่กลับมา แต่รวมถึงสิ่งที่พัฒนาแล้ว ระบบการเมือง ระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมืองที่มันพัฒนามาระดับหนึ่งแล้ว มันกำลังจะถูกกับดับจนไปไหนไม่ได้

ปัญหาต่อมาสังคมจะเรียนรู้ ว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญแต่จะพบว่ารัฐธรรมนูญถูกเขียนไว้จนเกือบแก้ไม่ได้ เกิดเป็นความขัดแย้งของสังคม สังคม 4 ปีมานี้ไม่ได้เรียนรู้ ว่า จะแก้ปัญหาเวลาที่คนมีความเห็นต่างอย่างไร ไม่พอใจรัฐบาล ไม่พอใจรัฐธรรมนูญ

สังคมที่อยู่กับอย่างปกติสุขมาได้ ถ้าขัดแย่งกันสามารถแก้ได้เมื่อกติกาไม่เป็นธรรม แก้ให้เกิดความเป็นธรรมได้และอาศัยกติกานั้นจัดการกับความขัดแย้ง แต่สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นและได้สะสมปัญหาไว้ นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาเก่าแต่ยังสร้างปัญหาสำหรับอนาคตเป็นกับดักสำหรับประชาชนเอง

รุกปลดล็อคคำสั่งคสช.- ม.44

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ขั้นตอนในการกำจัดกับดัก ช่วงแรกก่อนเลือกตั้ง 1.กำหนดวันเลือกตั้ง ระบุวันมาเลย อย่าระบุเป็นเดือน 2.เมื่อรู้วันแน่นอน คสช.ต้องงดการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่จะกระทบต่อการเลือกตั้งทั้งหมด

ก่อนวันเลือกตั้ง 3 เดือน เสนอว่า ให้นายกฯและครม.ลาออกลาออก โดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 จากนั้นให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 169 ห้ามครม.ทำอะไรบ้าง เช่น ใช้งบประมาณในการประชุมครม. แต่งตั้งโยกย้ายต้องผ่านกกต.ไม่อนุมัติโครงการผูกพัน ไม่อนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน ให้นำมาใช้

ให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ไม่เป็นไปตามนิติธรรม ได้แก่ การกำจัดสิทธิเสรีภาพประชาชนเกินจำเป็นและไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในการตั้งรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้คสช.สืบทอดอำนาจ เสนอว่า พรรคการเมืองที่ต้องการสนับสนุนประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยจะยืนยันไม่สนับสนุนคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้าน ขัดขวางคสช.สืบทอดอำนาจ

ชูธงแก้รธน.-รื้อยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูป

เรื่องรัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป พรรคการเมืองต้องมุ่งมั่นที่จะแก้รัฐธรรมนูญถ้าได้เป็นรัฐบาล โดยประกาศเป็นนโยบายให้ชัดเจน ว่า พรรคจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งเป้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

นอกจากต้องใช้เสียงส.ว. 1 ใน 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ในการลงมติวาระ 3 ยังต้องใช้เสียงส.ส.จากฝ่ายค้านอีก 20 % เพราะให้อำนาจเสียงข้างน้อยมากกว่าเสียงข้างมาก จึงยากมากที่จะแก้รัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ต้องประกาศให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความมุ่งมั่น และ เป็นหน้าที่พรรคการเมืองที่จะรณรงค์อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อคนทั้งประเทศ ถ้าประชาชนทั่วประเทศเข้าใจและจริงจัง การแก้รัฐธรรมนูญจึงจะเกิดขึ้นได้

ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป พรรคเพื่อไทยเข้าใจดีว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญเราจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่าเคร่งครัด แต่จะชูธงแก้รัฐธรรมนูญ จะปฏิบัติตามและเสนอนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปเพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามติดคุก

อย่างไรก็ตาม เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า มีสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ที่จะเสนอว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราจะยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป แต่ระหว่างที่ยกเลิกไม่ได้แต่แก้ได้ โดยจะรณรงค์ให้แก้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป แต่จะแก้ไขอย่างไรเป็นหน้าที่พรรคการเมืองที่จะเสนอนโยบาย ว่า ต้องการแก้ปัญหาประเทศอย่างไรและมันขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปอย่างไร และชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปเป็นปัญหาต่อประเทศอย่างไร เป็นปัญหาต่อการก้าวหน้าของประเทศอย่างไร ทั้งหมด คือ การรับมือกับดักภายหลังตั้งรัฐบาลไปแล้ว

กับดัก-ทางออกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ใช้ Super majority ชนะในคูหา 3 ครั้ง ปลดล็อค แก้ รธน.

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า วิธีก้าวข้ามพ้นจากกับดัก ปัจจุบันไม่มีฉันทามติในการอยู่ร่วมกัน ข้อตกลงว่าสังคมคนไทยจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ฉะนั้นการจะเดินไปข้างหน้าให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่งได้ ต้องสร้างฉันทามติได้และฉันทามตินี้จะถูกสร้างโดยคนไม่กี่คนไม่ได้ ต้องสร้างจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

ข้อเสนอ คือ ส.ส.500 คน ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน รวม 750 คน ถ้าอยากจะนำสังคมออกจากความขัดแย้งนี้ได้และนำไปสู่การสร้างฉันทามติได้ การตั้งครั้งที่จะถึง พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงรวมกันต้องได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง จาก 750 เสียง เพื่อเป็นรัฐบาลให้ได้

เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การทำประชามติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาใหม่ ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นฉันทามติใหม่ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนใหม่ และทำประชามติจากประชาชนอีก 1 ครั้ง เราจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน

ฉะนั้น เราจะชนะได้ นำสังคมกลับมาเป็นประชาธิปไตยได้ โดยไม่เกิดความวุ่นวาย ต้องชนะการเมืองในคูหา 3 ครั้ง

ครั้งแรก 376 เสียง จาก 500 เสียง หรือ 75 % คือ ต้องชนะแบบ Super majority ชนะแบบเด็ดขาด เพื่อไปชนะ 376 เสียง จาก 750 เสียง Super majority 3 ใน 4 หรือ 75 %

ถ้าต้องการสร้างประชาธิปไตยโดยไม่สร้างความวุ่นวาย เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองที่เชิดชูประชาธิปไตยทั้งหมดต้องรวมกันให้ได้ 376 เสียง อนาคตอยู่กับคุณ อนาคตขึ้นอยู่กับคุณ คุณจะเลือกอะไร ถ้าอยากได้คุณต้องรวมกันเป็น Super majority หรือ ชนะขาดให้ได้ 251 เสียงไม่พอ ต้อง 376 เสียง

376 เสียงแล้ว ชนะคูหาครั้งที่ 1 ชนะคูหาครั้งที่ 2 ประชามติเพื่อขอความเห็นจากประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน ครั้งที่ 3 ประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นต้องชนะการเมืองในคูหา 3 ครั้งจะทำให้ไม่เกิดความวุ่นวาย แต่ต้องการพลังจากคนไทยทุกคนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย 376 เสียง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขอเสียงให้ทุกท่านเพื่อพรรรคที่เชิดชูและฝักใฝ่ประชาธิปไตย

แพ้ครั้งนี้ก็ต้องยอมรับเพราะยังมีการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นการเดินทางระยะยาว การทำงานประชาธิปไตยต้องไม่ใจร้อน ต่อให้แพ้ครั้งนี้แต่ก็อยู่ในเกม เพราะส.ว.250 คน มีวาระ 5 ปี เท่ากับการเลือกตั้ง 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นถ้าแพ้ครั้งนี้ต้องอยู่กับคสช.ไปอีก 13 ปี ไม่ใช่ 4 ปี อยากอยู่กับคสช.ไปอีก 14 ปีหรือไม่ ถ้าไม่อยากอยู่ต้องจบตรงนี้ ครั้งนี้ ด้วย Super majority ด้วยเสียงข้างมากมาก ๆ

รัฐประหารกับดักเศรษฐกิจไทย

เวลาเราพูดถึงกับดักของความขัดแย้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 มีเพียง 24 ปี 310 วันเท่านั้น ที่นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ใน 86 ปี ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คิดเป็นเพียงแค่ 29 % ไม่ถึง 1 ใน 3 ของการพัฒนาประชาธิปไตยที่ผ่านมา

กับดักที่เกิดขึ้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเฉพาะในรอบนี้ ชีวิตผมผ่านการรัฐประหาร 5 ครั้ง สำเร็จ 3 ไม่สำเร็จ 2 และภายใน 5 ปีนี้ ไม่เคยมีผู้นำรัฐประหารคนใดถูกนำตัวมาลงโทษ

การรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทยส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ย้อนหลังไป 50 ปีที่ผ่านมา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน อยู่ในระนาบเดียวกัน แต่ปัจจุบันมาเลเซียมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทย 2 เท่า เกาหลีสูงกว่าไทย 4 ไทย สิงคโปร์สูงกว่าเรา 9 เท่า

นอกจากนี้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก มีเพียง 5 % ที่เป็นคนที่มีความมั่งคั่งในประเทศไทย ทรัพย์สินรวมกัน 3 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับงบประมาณของประเทศใน 1 ปี คนเพียง 1 % มีความมั่นคั่งมากกว่าคนอีก 60 ล้านคนที่เหลือรวมกัน

แสดงให้เห็นว่าในรอบ 86 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งใดบางอย่างที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงการก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทยไว้และเป็นกับดักที่วนเวียนมาตั้งแต่ปี 2475 คือ การทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าของคนกลุ่มน้อยที่ต้องการรักษาอำนาจ รักษาสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองเอาไว้ คนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ต้องการฉุดรั้งสังคมไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า โดยผ่านการรัฐประหาร

อนค.ปวรนาตัวเองว่า ต้องยุติกับดักนี้ให้สิ้นสุดที่ยุคเราเพื่อที่จะไม่ต้องส่งผ่านอนาคตที่มีการรัฐประหารทุก 8 ปี ทุก 10 ปี ไปให้ลูกหลานเรา โลกปัจจุบันหมุนเร็วมา เพียงแค่จะตามโลกให้ทันเราต้องหมุนเร็วเท่าโลก เป็นเส้นการพัฒนามาตรฐานที่ต่ำที่สุด ถ้าจะรักษาประเทศไทย ประเทศไทยต้องวิ่งให้เท่ากับความเร็วโลก ถ้าจะพัฒนาให้เร็วกว่านี้ต้องหมุนให้เร็วกว่าโลก

อย่างไรก็ตามระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยตามไม่ทัน ดังนั้น ทางออกเดียวของสังคมไทย คือ พาสังคมไทยให้เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาอีกครั้ง

ทางออกของพรรคประชาชนปฎิรูป (ปชช.) ทนไปอีก 5 ปี ใช้ธรรมาธิปไตยแก้ขัดแย้ง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวว่า กับดักในนิยามของผม ขอย้อนไปเมื่อปี 2551 หรือ 2549 ซึ่งเป็นช่วงก่อนรัฐประหาร 49

ปี 51 ขณะเป็น ส.ว. ครั้งแรก เจอความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหว การชุมนุมของประชาชน หรือ จะเรียกว่านักเคลื่อนไหวก็แล้วแต่ ผลัดเปลี่ยน ต่อเนื่องมาถึงเมื่อปี 57 เกิดวาทะกรรมว่า เป็นการเมืองแบบแบ่งขั้ว ถือเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์หรือไม่ ชอบอย่างนั้นใช่หรือไม่ เกิดการชุลมุนวุ่นวายตลอด เกิดการกล่าวหาว่า ส.ส.ทำมาหากินกันจนกระทั่งเป็นตัวแทนประชาชน ประชาชนใช้สิทธิ์เพียง 4 วินาที จากนั้นตัวแทนก็รับมอบสัมปทานอำนาจมา

จากนั้นก็มาทำทุจริต วาจาอ้างประชาชน วาจาอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ขอบอกว่าครั้งหน้าไม่เจอเพราะช่วงเวลาจาก 57-ปัจจุบันได้วางไกกลไม่ให้กลับไปสู่แบบเก่าอีกแล้ว จะมีประชาธิปไตยอีกมิติหนึ่ง

เราอยากจะได้ประชาธิปไตยแบบไหนในอนาคตที่จะถึง ผมมีความหวังเพราะถ้าไม่มีความหวังผมไม่ตั้งพรรคประชาชนเพื่อปฎิรูปขึ้นมาแน่ เหตุผลที่ตั้งพรรคประชาชนเพื่อปฏิรูปเพราะเห็นโอกาส โอกาสจากวิกฤติปี 57 จนมีผลต่อเนื่องมีรัฐธรรมนูญปี 60

กลไกที่ออกแบบไว้ เป็นกลไกการแบ่งช่วงของการเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้ย้อนกลับไปก่อนปี 57 หรือ 5 ปีแรกหลังจากมีสภาชุดแรก เป็นช่วงของ ส.ว.ชุดแรก…ผมไม่อยากให้เกิดการรัฐประหาร (เสียงโห่)

ข้างหน้าต่อไปนี้ มุ่งให้ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นควรจะน้อมนำหลักธรรมาธิปไตยของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติด้วย (เสียงโห่) เพราะอนาคตของประชาธิปไตย ถ้าจะก้าวพ้นกับดักไป…(เสียงโห่-ติเตียน “มือถือสาก ปากถือศีล”)

อนาคตประชาธิปไตยในนิยามของตนต้องประกอบไปด้วย ธรรมาธิปไตย สังคมสงบไม่มีความวุ่นวาย การใช้สิทธิเสรีภาพสามารถทำได้ภายใต้กฎหมาย สังคมประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้งเป็นสังคมไปสู่นิติรัฐที่มีมากขึ้น มีความหวังว่า ประเทศไทยจะไปได้ ไม่มีอะไรมาลายประเทศไทยได้ ไม่มีใครที่มีความสามารถมาทำร้ายประเทศไทยได้ ฉะนั้น ขอให้มั่นใจในประเทศไทยเพื่อผลักดันไปสู่สิ่งที่ดีได้

ไม่ใช่เพียงผู้ที่มาดำรงตำแหน่งส.ส. ส.ว. แต่หมายถึงสังคมโดยรวมในครั้งนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกสี ทุกค่าย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกับดักขึ้นในสมัยนั้น รวมทั้งตนเองด้วย

จะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ล็อคส.ว. 80 คน ต้องเห็นด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์กล่าวว่า หลังการเลือกตั้ง 5 ปี ต้องมี ส.ว.250 คนที่มาจากการแต่งตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่าน การแก้รัฐธรรมนูญในวาระแรกต้องได้เสียงรับรองจากส.ว.1 ใน 3 คือ 80 คน เห็นด้วย ถึงจะสามารถไปแก้ไขในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ก็ต้องใช้เสียงส.ว.แต่งตั้งเห็นด้วย 1 ใน 3 เช่นกัน สำคัญ คือ ส.ส.จากฝ่ายค้านต้องเห็นด้วยทุกพรรคถึงจะนำไปสู่การทำประชามติ

ฉะนั้นการออกแบบไว้เช่นนี้เพื่อต้องการให้รัฐธรรมนูญแก้ค่อนข้างยากใน 5 ปี เพื่อให้นิ่งจากบทเรียนความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมาหรือปี 51

ดังนั้น สิ่งที่อยากให้ผ่านกับดักไปสู่ความหวังนั้น ส่วนตัวไม่อยากพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าหลังเลือกตั้งยังมีความหวัง ว่าจะได้ความหลากหลาย มีพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้ามาและทุกอย่างจะเคลื่อนไป

อย่างไรก็ตามเมื่อพ้น 5 ปี ส.ว.จะเปลี่ยน จะมาจากการคัดสรรจากสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เชื่อว่า ส.ว.80 คนที่จะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหามีแน่

เชื่อมาตลอดว่าการแก้ไขรัฐมนตรีตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมา ยกเว้นปี 51-57 การแก้รัฐธรรมนูญก่อนสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 40 การแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยเกือบเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเป็นหัวใจในการแก้รัฐธรรมนูญ

อย่าไปติดกับดักตรงนี้กว่า ทำการเมืองให้เป็นของประชาชน ขอเสนอให้เป็นประชาธิปไตยทางตรง

 

คลิกอ่าน >>> “อภิสิทธิ์-จาตุรนต์-ธนาธร” สัญญาฝ่า 4 เดดล็อก แก้รัฐธรรมนูญ 2560