“อภิสิทธิ์-จาตุรนต์-ธนาธร” สัญญาฝ่า 4 เดดล็อก แก้รัฐธรรมนูญ 2560

งานเสวนาวิชาการ “อนาคตประชาธิปไตยไทย : ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?” จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โอกาสวันสถาปนาครบ 69 ปี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 61

ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ฉบับปี 2560

พรรคประชาธิปัตย์ : นายอภิสิทธิ์ เสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับ คสช.” ไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และหลายบทบัญญัติเป็นอุปสรรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย “ผมมั่นใจว่าหลังการเลือกตั้งจะมีจำนวน ส.ส. ในสภาที่อยากแก้รัฐธรรมนูญ เกิน 375 เสียง ปัญหาใหญ่อยู่ที่วิธีเขียนว่าจะแก้อย่างไร หนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ คนที่ได้อำนาจ เสียงข้างมากหลังเลือกตั้ง ต้องชี้ให้ประชาชนเห็นอุปสรรค ให้สิ่งที่ดีกว่า และเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง”

“แต่เมื่อถึง ณ วันเลือกตั้ง ประชาชนอาจคาดหวังอะไรที่มากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ คือเรื่องเศรษฐกิจ การแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติถึง 4 ครั้ง เป็นเรื่องไม่ง่าย ที่จะทำให้คนในสังคมมาเห็นด้วยกับเรา”

พรรคเพื่อไทย : นายจาตุรนต์ เสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ว่า “ช่วงรณรงค์หาเสียง พรรคจะประกาศ แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พรรคเพื่อไทยจะไม่ลืมเรื่องนี้ หากบังเอิญได้เป็นรัฐบาล แม้ต้องใช้เสียงฝ่ายค้าน 20% และเสียง ส.ว. อีกราว 80 คน หรือ 1 ใน 3 ของ 250 คน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องรณรงค์ จริงจัง ให้ประชาชนเข้าใจ ร่วมมือกับพรรคการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

พรรคอนาคตใหม่ : นายธนาธร คาดหวังว่า “เราก้าวข้ามเงื่อนไขที่เป็นแท็คติค ต้องดึงจิตวิญญาณ “ธงเขียว” เหมือนช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมาอีกครั้ง และเสียงประชาชนจะเป็นจุดชี้ขาดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต้องชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ โดยได้เสียง ส.ส. เกิน 376 เสียงจาก 500 เสียงในสภาล่าง ต้องเป็น Super majority vote เพื่อไปชนะต่อเป็นเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ส.ส.+ส.ว. 376 เสียงจาก 750 เสียง”

“จากนั้น ทำประชามติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ร.ร.) ที่มาจากประชาชนขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และขอฉันทามติใหม่ ที่เป็นของประชาชนทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย “ล็อค 4 ชั้น” ในการแก้ไข ที่ยากที่สุดกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ขั้นตอนใน-นอกรัฐสภา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเป็นไปได้ยากยิ่งกว่ายาก โดยมีด่านหิน 4 ด่าน ตามบทบัญญัติประกอบด้วย

1. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระนั้น ในส่วนของการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และ “ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด” เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา “ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา” (อย่างน้อย 84 เสียง)

2. การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และ “ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ในวาระนี้ จะเห็นได้ว่า บทบาทของ “พรรคขนาดกลาง-เล็ก” มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็น “เสียงประกอบ” ให้ผ่านด่านไปได้

3. กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ “ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ” ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ

4. ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี สามารถเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 255 คือเป็นการการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือไม่ รวมทั้งมีลักษณะที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

ในล็อคที่ 4 นี้ ซึ่งเป็นล็อคสุดท้าย ยังเปิดโอกาสให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ใช้เสียง แค่ 1 ใน 10 ของ 2 สภา เสนอ “คัดค้าน” ด้วยการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ

 

คลิกอ่าน >> คำต่อคำ พท.-ปชป.-อนค. ชู 376 เสียงแก้รัฐธรรมนูญ ออกจากกับดัก คสช.-ยุทธศาสตร์ 20 ปี