“บิ๊กตู่” อัดฉีดเหล่าทัพ-กลาโหม 6 ปี 1 ล้านล้าน-คุมหางเสือรัฐบาลเลือกตั้ง

รายงานพิเศษ

4 ปีเต็มที่กองทัพเข้ามาเป็นผู้คุมเกมการเมือง ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนผลัดใบเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พร้อมออกแบบโครงสร้างอำนาจให้ กองทัพมีบทบาทอยู่คุมเกมต่อไปอย่างน้อย 20 ปี

ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ผ่านตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่ง….หากไม่มีการฉีก หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560

ควบคู่กับการจัดงบประมาณให้กองทัพไปช็อปปิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์จากมหาอำนาจทางทหาร ทั้งสหรัฐ รัสเซีย จีน

กองทัพในยุค คสช. ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือคานอำนาจการเมือง-การทหาร ระหว่างประเทศ

รวมถึงแผนที่สร้าง lab อาวุธ ขึ้นมาผลิตยุทโธปกรณ์ไว้ใช้-ไว้ขายในอนาคต

นั่นจึงทำให้กองทัพในยุค คสช. ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในรอบ 1 ทศวรรษ

งบฯกองทัพในรอบ 1 ทศวรรษ

เมื่อเจาะงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในปี 2549 ยุครัฐบาลไทยรักไทย ตอนนั้นมีการอนุมัติงบประมาณของกระทรวงกลาโหม จำนวน 85,936 ล้านบาท แต่ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 รัฐบาลไทยรักไทยอนุมัติงบฯกองทัพปี 2550 จำนวน 115,024 ล้านบาท

กระทั่งในปีที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กุมอำนาจบริหารประเทศ ได้ประเคนงบฯให้กองทัพ ปี 2551 จำนวน 143,519 ล้านบาท

จากนั้นงบฯกองทัพก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปี 2552 จำนวน 170,157 ล้านบาท

ปี 2553 จำนวน 154,032 ล้านบาท

ปี 2554 จำนวน 168,501 ล้านบาท

ปี 2555 จำนวน 168,667 ล้านบาท

ปี 2556 จำนวน 180,491 ล้านบาท

กระทั่งรัฐบาลเพื่อไทยอยู่ในภาวะระส่ำทางการเมือง กองทัพถูกจับตาว่าจะเข้ามายึดอำนาจอีกหรือไม่ รัฐบาลในขณะนั้นจึงมีการอนุมัติงบฯกองทัพในปี 2557 เพิ่มขึ้นอีก 183,820 ล้านบาท เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับกองทัพ

ต่อมาเมื่ออำนาจตกอยู่ในมือ คสช. ครองอำนาจบริหารงบฯ-เงินเบ็ดเสร็จ หลัง 22 พ.ค. 2557 ซึ่งเวลานั้น คสช.ได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 จึงทำให้งบฯกองทัพเพิ่มอย่างก้าวกระโดด

ในปี 2558 กองทัพได้รับการจัดสรร 192,949 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 207,718.9 ล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 210,777 ล้านบาท และลดลงในปี 2561 วงเงิน 111,962 ล้านบาท

ปี”62 ถูกหั่นเหลือ 1.17 แสนล้าน

ส่วนปี 2562 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจจาก คสช. ที่คุมเกมเบ็ดเสร็จ สู่การเมืองที่มีทหารกำกับหลังการเลือกตั้ง เม็ดเงินที่ให้กองทัพจึงแฝงนัยสำคัญ

สำรวจงบประมาณกองทัพที่ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 3 จากเดิมงบฯกองทัพมีการตั้งงบฯไว้ทั้งสิ้น 118,117,382,900 บาท แต่ถูกคณะกรรมาธิการวิสามัญ (สนช.) พิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ของ สนช. ปรับลดไป 524,315,700 บาท เหลือ 117,583,067,200 บาท ถึงแม้จะถูกหั่นวงเงินลงเพื่อนำไปไว้กับงบฯกลาง ไว้ให้รัฐบาลใช้สอยในโครงการบิ๊กโปรเจ็กต์ต่าง ๆ แต่งบฯกองทัพก็อยู่ในระดับแสนล้านบาท

เมื่อคลี่งบประมาณกองทัพในแต่ละส่วน พบว่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับงบฯ 6,009,737,800 บาท เพิ่มขึ้น 118,092,600 บาท จากที่ขอไป 5,891,641,200 บาท โดยแบ่งเป็น

1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ได้งบฯทั้งสิ้น 4,485,262,100 บาท

2.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 23,505,000 บาท

3.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง 120,250,000 บาท

4.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ 1,376,083,200 บาท

และ 5.แผนงานยุทธศาสตร์ปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงจากแนวดิ่งสู่แนวราบ 4,637,500 บาท

ทั้งนี้ รายการปรับเพิ่มงบประมาณ เป็นแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทหารผ่านศึก และใช้ขีดความสามารถของทหารผ่านศึกในการสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคง วงเงิน 138,546,200 บาท

กองบัญชาการกองทัพไทย มีการตั้งงบฯไว้ทั้งสิ้น 10,139,232,900 บาท แต่ถูกหั่นลดลง 19,759,600 บาท ได้เบ็ดเสร็จ 10,119,473,300 บาท แบ่งเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 1,432,455,000 บาท 2.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 79,458,000 บาท 3.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง 197,985,300 บาท

4.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ 8,398,113,700 บาท และ 5.แผนงานยุทธศาสตร์ปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงจากแนวดิ่งสู่แนวราบ 11,461,300 บาท

กองทัพบกก็ถูกหั่น

กองทัพบก ตั้งงบฯไป 49,830,791,900 บาท ถูกปรับลดลง 350,472,700 บาท เหลือ 49,480,319,200 บาทแบ่งเป็น 5 แผนงานเช่นกัน 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ได้งบฯทั้งสิ้น 13,044,128,800 บาท จากที่ตั้งงบฯไป 13,161,294,100 บาท ลดลง 117,165,300 บาท 2.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 306,000,000 บาท 3.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง 30,000,000 บาท

4.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ 36,073,190,400 บาท ลดลง 533,307,400 บาท จากที่ขอไป 36,306,497,800 บาท ในแผนนี้มีโครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกองทัพ โครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์

อย่างไรก็ตาม ในรายการ “ปรับเพิ่มงบประมาณ” ในแผนงานโครงการพัฒนาขีดความสามารถกองทัพ มีการปรับงบฯเพิ่มขึ้นอีก 169,192,600 บาท เป็นกิจกรรม “การเสริมสร้างกำลังกองทัพ”

5.แผนงานยุทธศาสตร์ปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงจากแนวดิ่งสู่แนวราบ 27,000,000 บาท

กองทัพเรือ ได้งบฯทั้งสิ้น 23,295,212,200 บาท จากเดิมที่ขอไป 23,486,096,000 บาท ถูกปรับลดลง 190,883,800 บาทมี 5 แผนงาน แบ่งเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 3,934,663,400 บาท 2.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 27,246,100 บาท 3.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง 297,446,800 บาท

4.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ 19,028,029,000 บาท และ 5.แผนงานยุทธศาสตร์ปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงจากแนวดิ่งสู่แนวราบ 7,826,900 บาท

กองทัพอากาศ ได้งบประมาณทั้งสิ้น 28,232,821,800 บาท จากที่ขอไป 28,323,535,600 บาท ลดลง 90,713,800 บาท

มี 5 แผนงาน แบ่งเป็น 1.แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 4,708,341,700 บาท 2.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 23,500,000 บาท 3.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง 34,064,000 บาท

4.แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ 23,463,490,700 บาท และ 5.แผนงานยุทธศาสตร์ปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงจากแนวดิ่งสู่แนวราบ 3,425,400 บาท

หน่วยงานที่ 6 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้งบฯทั้งสิ้น 445,502,900 บาท จากที่ขอไว้ 446,085,300 บาท ลดลง 582,400 บาท

มี 2 แผนงาน คือ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 246,288,900 บาท และแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ 199,214,000 บาท

สนช.หนุนสร้างอาวุธ 

ขณะที่คณะกรรมาธิการได้ให้ข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ของกองทัพ-กระทรวงกลาโหม ไว้ทั้งสิ้น 12 ข้อ ซึ่งข้อที่สำคัญ ๆ อาทิ ข้อ 2 เป้าหมายการทำงานที่สำคัญของกระทรวงกลาโหม ควรเป็นเป้าหมายในภารกิจหลักในภาพรวม คือ 1.สถาบันพระมหากษัตริย์ 2.การเตรียมกำลัง 3.การใช้กำลัง 4.ทหารผ่านศึก 5.กิจการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 6.การพัฒนาประเทศ

งานที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยว แก้ปัญหายาเสพติด ควรเป็นเป้าหมายของหน่วยปฏิบัติ กระทรวงควรเป็นหน่วยงานที่ไปร่วมสนับสนุนเชิงนโยบาย

ข้อ 7 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ควรสนับสนุนให้หน่วยงานจัดซื้อยุทธภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศในสัดส่วนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตกระสุน ยางรถยนต์ทหาร การต่อเรือและอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ปรับปรุงคุณภาพให้ทัดเทียมกับของที่จัดซื้อจากต่างประเทศ ขยายผลนำไปจำหน่ายให้ประเทศอื่น ๆ เพื่อประหยัดงบประมาณกองทัพ

ข้อ 11 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ควรหารือกับเหล่าทัพถึงความต้องการยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อวางแผนการวิจัยที่จะนำไปสู่การผลิต โดยเฉพาะการที่กำหนดให้หน่วยงานในกองทัพ หรือภาคเอกชนเป็นผู้ผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ยุทโธปกรณ์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพเพียงพอกับความต้องการของเหล่าทัพ

ทั้งหมดสะท้อนว่า งบฯกองทัพได้งบฯขึ้น-ลงเฉลี่ย 1.8-2 แสนล้านมาตลอด นับเฉพาะช่วงที่ คสช.เข้ามามีอำนาจบริหารงบฯ-เงิน ตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน กองทัพไทยได้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,023,551 ล้านบาท