ปฏิบัติการ กปปส.-คสช.รุกคืบ ปชป. “อภิสิทธิ์” กอดประชาธิปไตยต่อตั๋วหัวหน้าพรรค

ทุกจังหวะก้าวของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นับจากนี้ต้องจับตาอย่ากะพริบ เพราะไม่เพียงแต่เป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” เก้าอี้ “หัวหน้าพรรค” เท่านั้น แต่ยังเป็นการกำหนดทิศทาง-อนาคตของพรรคที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดกว่า 71 ปี

การ “ผูกปี” แพ้เลือกตั้งตลอด 13 ปี-ช่ำชองการเป็นฝ่ายค้านภายใต้การ “กุมบังเหียน” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคคนที่ 7-คนปัจจุบัน ทำให้คนใน-นอก และกองเชียร์พรรคสีฟ้า “โหยหาความสำเร็จ”

เพราะเป็นพรรคที่มีหัวหน้าพรรคเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี 4 คน 11 สมัย

ประชาธิปัตย์ในยุคของ “อภิสิทธิ์” ห่างหายจากความสำเร็จ คู่ขนานไปกับการแพ้การเลือกตั้ง 2 ครั้ง ในปี 2550 และปี 2554 และ “บอยคอต” การเลือกตั้ง 2 ครั้ง ในปี 2549 และปี 2557 ไม่นับรวมความสำเร็จการ “พลิกขั้ว” เป็นนายกรัฐมนตรี-รัฐบาลผสม 7 พรรค

สำหรับ “ผู้ท้าชิง” เก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ถึงแม้ว่าการเสนอชื่อ-ตัวออกกล้าวัดกระแสนายอภิสิทธิ์ ที่มีผู้ติดตามเพจในเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ กว่า 2.2 ล้านคน เกือบเท่าจำนวนตัวเลขสมาชิกก่อน คสช.รีสตาร์ต 2.8 ล้านคน

อาทิ “คนในพรรค” อย่าง “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีต ส.ส.พิษณุโลก ที่มียอดผู้กดไลก์-ติดตามเฟซบุ๊กเพจส่วนตัว

“Warong Dechgitvigrom” หลัก 3 หมื่นคน ขณะที่เพจกัดติด-โชว์ผลงานเฉพาะตัวในโครงการรับจำนำข้าว “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” มีผู้กดไลก์-ติดตามหลัก 3.7 หมื่นคน

โดยมี “ถาวร เสนเนียม” อดีตแกนนำ กปปส.-ร่างทรง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตหัวหน้าม็อบ กปปส. ทั้งผลัก ทั้งดัน

และ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองหัวหน้าพรรค ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่ได้เสนอชื่อ-เสนอตัว เป็น “คู่ต่อกร” กับนายอภิสิทธิ์ชัดเจน แต่คนในพรรค-คนเก่าแก่นอกพรรค อย่าง “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 4 เห็นแวว-สนับสนุนเต็มที่

สำหรับ “คนนอกพรรค” อย่าง “อลงกรณ์ พลบุตร” อดีต ส.ส.ปชป. ก็ขอท้าดวล-ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคกับนายอภิสิทธิ์ เช่นกัน

“เสี่ยจ้อน” อลงกรณ์ ภายหลัง คสช.ยึดอำนาจ การบ้านการเมือง จึงหันหลังออกจากประชาธิปัตย์ ไปกินตำแหน่ง-เงินเดือนในแม่น้ำ 5 สาย จนถูกตั้งคำถามว่า เป็นคนของ คสช. ถูกส่งมา “ยึดพรรค”

ขณะที่หลักเกณฑ์การได้รับการเสนอผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตาม “ข้อบังคับพรรค” เพื่อเสนอชื่อ “หยั่งเสียง” แบ่งออกเป็น “เกณฑ์คนในพรรค” และ “เกณฑ์คนนอกพรรค”

เกณฑ์คนในพรรค 1.ต้องเป็นอดีต ส.ส.ของพรรค และปัจจุบันยังเป็นสมาชิกพรรค 2.ต้องมีอดีต ส.ส.ของพรรครับรอง 20 คน และสมาชิกพรรค ภาคละ 500 คน รวม 4 ภาค 2,000 คน รับรอง

เกณฑ์คนนอกพรรคไม่เคยเป็นอดีต ส.ส.ของพรรค และ/หรือเคยเป็น-ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรค ต้องมีอดีต ส.ส.ของพรรคเป็นผู้รับรอง 40 คน และสมาชิกพรรครับรองภาคละ 1,000 คน รวม 4 ภาค 4,000 คน

“ถวิล ไพรสณฑ์” อดีต ส.ส.ปชป. มือร่างข้อบังคับพรรค บอกว่า ถึงแม้เกณฑ์คนนอกพรรคจะ “สูงกว่า” เกณฑ์คนในพรรคเท่าตัว แต่เขามั่นใจว่า “พรรคเปิดกว้าง” สำหรับคนนอกพอสมควร

ขณะที่การแพ้-ชนะจะใช้ “สนามออนไลน์-แอปพลิเคชั่น” ของพรรค โดยผู้ชนะ การหยั่งเสียงให้เป็นหัวหน้าพรรค ต้องได้คะแนน “โหวตมากที่สุด” จึงจะเป็นผู้ชนะ หรือชนะกันเพียงแค่คะแนนเดียว ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

โดยหลังจากได้ผู้ขอรับการหยั่งเสียงชิงหัวหน้าพรรคครบแล้ว จะให้ผู้สมัครร่วมกันเลือก “คณะกรรมการตัดสิน” เพื่อกำหนดกติกากลาง-ตรวจสอบคุณสมบัติ

เกณฑ์การรับรองการเลือกหัวหน้าพรรคในที่ประชุมใหญ่ คือ ต้องได้เสียงรับรองเกินกว่าครึ่งของที่ประชุมใหญ่ 250 คนหรือ 125 คนขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม “อภิสิทธิ์” กล่าวภายหลังการประชุมพรรคนัดแรกในรอบ 4 ปี เมื่อ 17 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่เสนอให้มีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคทั้ง ๆ ที่ไม่มีกฎหมายบังคับ เป็นเพราะต้องการพัฒนาความเป็นสถาบันการเมือง ไม่ต้องรอให้กฎหมายบังคับ ถือเป็นการสร้างจารีตทางการเมืองให้สมาชิกมาชี้อนาคตของพรรค เพราะเราเชื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้คนมองเห็นคุณค่าของกระบวนการประชาธิปไตย และเชื่อว่าที่ประชุมใหญ่จะเคารพเสียงของสมาชิก


นอมินี กปปส.-คสช.แม้ฝ่าด่านมาถึงรอบการเสนอชื่อชิงหัวหน้าพรรค แต่เมื่อกระแสเลือกตั้ง-คืนประชาธิปไตยกำลังมา “อภิสิทธิ์” จึงเด้งเชือก กอดหลัก “ประชาธิปไตย” ใช้ต่อสู้อำนาจนอกระบบ เพื่อต่อตั๋วหัวหน้าพรรคอีกสมัย