วิสัยทัศน์ 3 หน.ปชป. ศึกดีเบต 61 ประชาธิปัตย์ถือธงหาฉันทามติ แก้ รธน.60

ดีเบต

ดีเบต 61 ประชาธิปัตย์ คนไทยได้อะไร ? จบลงด้วยการแข่งขัน-ฉันท์พี่น้อง ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีดีกรีเป็นถึง “แชมป์เก่า” ผู้สมัครรับการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคหมายเลข 1 กับ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผู้สมัครรับการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคหมายเลข 2 และ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ในฐานะผู้ท้าชิง หัวหน้าพรรคแห่งประชาธิปัตย์ คนที่ 8

9 คำถาม 3 คนตอบของการแสดงวิสัยทัศน์ของ (ว่าที่) หัวหน้าพรรคเก่าแก่ 72 ปี เต็มไปด้วยการเกทับ-บลัฟ (ผลงาน) แลก แต่ก็เป็นไปด้วยบรรยากาศ “ถ้อยทีถ้อยอาศัย”

ทว่าในหลักการนำพรรค-ทิศทางก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งในเรื่องจุดยืนการเลือกข้างระหว่างเอา-ไม่เอาทหาร การแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นไปด้วยการขับเน้นให้อุณหภูมิในห้องดีเบต ชั้น 3 อาคารเสนีย์ ปราโมช ขึ้นสูง ไม่ทำให้การดีเบตครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์-การเมืองไทยจืดชืดเพราะเป็นคนกันเอง

ในคำถามเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ครอบนโยบายพรรคอีกชั้นหนึ่งนั้น ในฐานะหัวหน้าพรรคและอาจเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะเป็นนายก ฯ ถ้ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขัดกับนโยบายของพรรคจะทำอย่างไร

แก้ยุทธศาสตร์ชาติที่ขัดกับนโยบายพรรค

นายอภิสิทธิ์-ผู้ต้องตอบคำถามเป็นคนแรกฟันธงทันที ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะไม่มีใครเก่งกาจสามารถมองเห็นล่วงหน้าว่า โลกและประเทศอีก 20 ปีจะเป็นอย่างไร ใครที่คิดว่าเก่ง ลองนึกย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 คิดหรือไม่ว่าปี 2561 เศรษฐกิจ-การเมืองของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ประเด็นอยู่ที่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีขณะนี้ ไม่มีอะไรผิด ความมั่นคง ความมั่นคั่ง ความยั่งยืน การพัฒนาคน แต่จะมีประเด็นรายระเอียดที่เป็นอุปสรรค

“จุดยืนของผม คือ นโยบายที่จำเป็นในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ถ้าไปติดขัดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผม ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ทำให้กลไกตามกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ปรับแก้ยุทธศาสตร์ชาตินั้นให้สอดรับกับนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นทักษะของการบริหาร”

“ถ้าถึงที่สุด ทำแบบนี้แล้ว ยุทธศาสตร์ชาติยังเป็นอุปสรรคมากขึ้น ๆ เราก็ต้องพร้อมและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งหมดต้องสื่อสารให้คนเข้าใจได้ว่า เป็นการแก้เพื่อรองรับการแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่แก้เพื่อจะดึงอำนาจกลับคืนมาให้ได้”

ยุทธศาสตร์ชาติต้องไม่เป็นอุปสรรคแก้ปัญหาปากท้อง

ขณะที่ “หมอวรงค์” แม้ยังไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคแต่ก็พร้อมจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นอุปสรรคเพื่อไม่เป็นข้ดจำกัดการอยู่ดีกินดีของประชาชน

“เนื่องจากเป็นหลักการที่ไม่มีใครปฏิเสธ ถามว่าราชการควรปรับเปลี่ยนหรือไม่ ควรปรับเปลี่ยน ต้องพัฒนาคนหรือไม่ ควร สิ่งแวดล้อมต้องดูหรือไม่ ต้องดู เป็นหลักการที่ดี”

“ดังนั้น ถ้ายุทธศาสตร์ใดไม่เป็นอุปสรรคต่อผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ไม่มีปัญหา เพราะผมเชื่อว่านโยบายส่วนใหญ่มันสอดคล้องกันได้ แต่ถ้ายุทธศาสตร์ใดเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ที่จะสร้างการอยู่ดี กินดี ให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่ากี่ข้อ ผมก็ต้องแก้ไข

ต้องมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อความต่อเนื่อง

ด้านนายอลงกรณ์ ก็พร้อมที่จะนำความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเขียนเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ ในฐานะอดีตเคยเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายที่ลงลำเรือแป๊ะกับรัฐบาล-คสช.รู้ตื้น-ลึก-หนา-บางของยุทธศาสตร์ชาติเป็นอย่างดี

“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ใช่ของคสช. เกิดขึ้นโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพราะที่ผ่านมาประเทศไม่มีความต่อเนื่องในเรื่องนโยบาย”

ผมจะปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติแน่นอน เป็นเรื่องของกลไกที่จะนำไปสู่ความรัดตึง ความไม่คล่องตัว แต่เป้าหมาย ทิศทาง คือสิ่งที่เราสามารถเดินได้ในยุคนี้ กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ยกระดับรายได้ประชาชน 3 เท่าตัวภายใน 20 ปี เป็นเป้าหมายที่เราต้องเดิน แต่การเมือง รัฐบาลอยู่ไม่ถึง 4 ปีก็ล้ม ความต่อเนื่องของรัฐบาลไม่มี เราถึงตามมาเลเซียไม่ทัน”

รธน.ขัดหลักปชต-สิทธิเสรีภาพต้องแก้

ขณะที่ “ปมร้อน” ในเรื่องจุดยืนการแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่พรรคการเมือง-พันธมิตรเพื่อไทย ตั้งธงฉีก-รื้อรัฐธรรมนูญเพราะเปรียบเสมือนเป็นมรดกการรัฐประหาร

นายอลงกรณ์-ผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคหมายเลข 2 กล่าวว่า อะไรที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย ต้องแก้ให้เป็นประชาธิปไตย ประเทศต้องการความเชื่อมั่น เมื่อกลับสู่การเลือกตั้ง ความเชื่อมั่นกลับคืนมา ภายใต้สโลแกนการเมืองสีขาว เราจะสร้างการเมืองใหม่

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำ แต่ต้องดูประเด็นที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย การทำให้หลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกจัดกัด เราต้องกลับสู่ประชาธิปไตย ถ้าจะต้องปรับให้เป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด”

“รัฐธรรมนูญนั้น หลายคนบอกว่าเป็นผลไม้พิษ แต่ทุกคนก็กินผลไม้พิษเพราะลงเลือกตั้ง การเมืองเวียนว่ายตายเกิด เกิดการคอร์รัปชั่น มีรัฐบาลทุจริต เกิดความขัดแย้ง นองเลือดและนำไปสู่การรัฐประหาร 13 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เราจะเวียนว่ายอย่างนี้ต่อไปอีกไม่ได้”

“แนวทางการเมืองสีขาวเท่านั้น ที่จะทำให้ทุกอย่างหยุดและประชาธิปไตยจะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง ยั่งยืน พรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลับมาเป็นพรรคอันดับ 1 ขอ

งประเทศ และเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างของพรรคของประชาชน เป็นพรรคประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เราจะต้องแก้ไข”

หาฉันทามติทุกพรรคการเมือง แก้รธน.

ขณะที่นายอภิสิทธิ์-ผู้ถือธงต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตั้งแต่ออกเสียงประชามติ ไม่ลังเลที่จะแก้รัฐธรรมนูญในปม-ประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ยังรักษารูปมวย-ชั้นเชิง จะไม่นำการแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญปี 60 มาเป็นเงื่อนไขจนสร้างความขัดแย้ง-นองเลือด-รัฐประหาร

“รัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูป รวมไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ บางเรื่องเป็นปัญหาเพราะเขียนไว้ขัดกันเองและสับสน เช่น บทบาทของท้องถิ่น ผมเห็นด้วย 100 % ว่า คนที่เป็นประชาธิปัตย์ ยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปัตย์ ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ การให้อำนาจบางองค์กร เช่น วุฒิสภา (ส.ว.) ที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง บทบัญญัติที่เป็นปัญหาต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น”

“จะรัฐธรรมนูญ จะยุทธศาสตร์ชาติ หรือ แผนการปฏิรูป จุดยืนของผม แม้จะต้องแก้ไข แต่ผมจะไม่เอาเรื่องเหล่านี้มาเล่นการเมืองให้ประชาชนขัดแย้งกัน เลือกตั้งเสร็จแล้ว ประชาชนรอคอยการเดินหน้าแก้ปัญหาเร่งด่วนของเขาก่อน”

“เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องหาฉันทามติ ทุกฝ่าย ทุกพรรคต้องเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะแก้ แต่การแก้จะไปบอกว่า รื้อมันทิ้งแต่ไม่รู้จะเอาอะไรมาแทน ไม่ได้ เพราะบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ดีก็มี เช่น การจำกัดการใช้อำนาจของนักการเมือง การตรวจสอบถ่วงดุล”

“ดังนั้น สิ่งใดที่จำเป็นต้องแก้แต่แก้อย่างสร้างสรรค์และอย่าเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองให้เกิดความวุ่นวาย”

กลับลำรธน.มีทั้งดี-ไม่ดี

ด้านหมอวงรงค์-ผู้ที่ประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งลงประชามติเปรียบรัฐธรรมนูญเหมือนคนมีแฟนที่ดูใจกันไปนานเข้าอาจเห็นข้อเสียและพร้อมจะแก้รัฐธรรมนูญได้ตลอดเวลาถ้าเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ต่างอะไรกับคนมีแฟน ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง 10 ปี 20 ปี อาจจะมีปัญหาและต้องเลิกรากันไป หรือ ต้องมีการปรับตัวเอง เหมือนกัน ถ้าเราเป็นนักประชาธิปไตย เราเคารพวิจารญาณของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชน 16 ล้านคน ร่วมลงประชามติเห็นชอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าชอบทั้งหมด 16 ล้านคน”

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เช่นกัน ผมเองคิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดี แต่บางสิ่งบางอย่างเป็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำหน้าที่รัฐบาล ดูแลประชาชน รัฐธรรมนูญทางไหนที่เป็นอุปสรรคในการดูแลประชาชน เราต้องแก้ให้ประชาชน”

กำหนดเกมเอง-ไม่เป็นเป็นคู่ขัดแย้ง

สำหรับความคลุมเครือในจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์เพราะถูกมองว่าเป็น “พรรคตัวแปร” ของฝ่ายที่เอา-ไม่เอาทหาร ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จึงถูกจับจ้องเป็นพิเศษ จะวางตำแหน่ง (Position) ของพรรคอยู่ตรงไหนกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลคสช.กับกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลคสช.- เผด็จการ

หมอวรงค์ เลือกที่จะโชว์เหลี่ยมความเจนจัดในเกมการเมืองว่า เป็นกระแสของสื่อ-เกมการเมือง เพราะถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมต้องกำหนดเกมเล่น ผมจะไม่เล่นเกมที่ถูกกำหนดมา ว่า จะต้องเลือกซ้ายหรือว่าเลือกขวา

ผมมีเป้าหมายชนะเลือกตั้ง ถ้าผมชนะเลือกตั้ง ผมต้องสิทธิในการเลือกคนมาทำงานกับผม ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็แล้วแต่ ผมมีข้อกำหนด 4 ข้อ หนึ่ง ผมต้องต้านและต้องการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังเพราะการโกง คือ อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศชั้นนำของโลกได้ สอง พรรคการเมืองต้องเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สาม ไม่ส่งเสริมการใช้อำนาจในทางมิชอบ ต้องทำเพื่อประชาชน และข้อที่สี่ สำคัญที่สุด ความจงรักภักดี เทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์”

ไม่เอานายก ฯ คนนอก

ด้านนายอลงกรณ์ ประกาศจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่า ประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคหลัก ทั้งก่อน-หลังเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งถ้าพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 เราจัดตั้งรัฐบาลเองแน่นอน แต่ถ้าเราไม่ใช่พรรคอันดับ 1 เป็นพรรคอันดับ 2 ผมมีจุดยืนให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน เพื่อสร้างครรลองมาตรฐานการเมืองที่ถูกต้อง ถ้าจัดตั้งไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะจัดตั้ง ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคพร้อมจะเป็นฝ่ายค้านและพร้อมจะเป็นรัฐบาล

“ผมไม่เอานายก ฯ คนนอก เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตของชาติ ผมจะไม่ยอมให้พี่น้องประชาชนทุกพรรค หรือ สมาชิกพรรคการเมืองคู่แข่งต้องไปสูญเสียเลือดเนื้อกันอีกและนำไปสู่การรัฐประหาร การเมืองจะเดินหน้า ไม่มีรัฐประหารอีกต่อไป”

ประชาธิปัตย์เป็นทางหลัก

ขณะที่นายอภิสิทธิ์-คนแรก ๆ ที่ออกมาผลิต “คำใหม่” ว่า การเมืองยุคนี้ เป็น “การเมือง 3 ก๊ก” คนไทยและประเทศไทยควรจะมีสิทธิ์เลือกมากกว่า “เผด็จการ” หรือ “ขี้โกง”

“ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของผม จะเป็นเส้นทางหลักสำหรับประชาธิปไตยและประเทศชาติ หัวใจสำคัญที่สุด คือ นโยบายที่พรรคจะหยิบยื่นให้กับประชาชนภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยที่เราสืบสานมา 72 ปี สิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าพรรคจะยืนอยู่ตรงจุดไหน”

“ถ้าเราชนะเลือกตั้ง เราต้องเป็นคนกำหนดวาระ ถ้าเราได้เสียงเข้ามามากแต่ไม่มีใครได้เสียงเด็ดขาด ในระบบรัฐสภา ใครรวบรวมเสียงข้างมากก็มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คือ เสียงที่มาจากประชาชนส่วนใหญ่ ใครรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ก็มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล สมาชิก ส.ว.250 คน แม้จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ควรฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน”

“ส่วนเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลอยู่ที่นโยบาย ผมไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ไปเป็นรัฐบาลกับใคร หรือ ชวนใครมาเป็นรัฐบาลถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถทำตามนโยบาย ตามคำมั่นสัญญาได้ ประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นรัฐบาลเพื่อให้คนประชาธิปัตย์อยู่ในอำนาจ แต่ประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ เราถึงอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้”

อ่านต่อ วิสัยทัศน์ (ว่าที่) หัวหน้าประชาธิปัตย์ 3 นาทีสุดท้ายของการดีเบต