สนช.ไฟเขียว กม.อีเพย์เมนต์ ฝาก-รับโอนเกิน 3 พันครั้ง/ปี ยอดรวม 2 ล้าน ต้องรายงานสรรพากร

สนช.ไฟเขียว กฎหมายอีเพย์เมนต์ ฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือฝากหรือรับโอนเงิน 200 ครั้ง รวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ต้องรายงานให้กรมสรรพากรตรวจสอบ ยันร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น

ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล ที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีรับโอน และฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝากหรือรับโอนเงิน 200 ครั้ง รวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบ และนำไปสู่การเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวาระ 2 และวาระ 3

ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ชี้แจงว่า ไม่ใช่การบังคับจนเกินไป แต่เพื่อให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้กรมสรรพากรพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ยั่งยืน และไม่สร้างภาระทางภาษีในอนาคต รวมถึงต้องการยกระดับธุรกิจแบบเอสเอ็มอีด้วย ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น

“จากตัวเลขของกลุ่มที่ใช้แรงงาน อายุ 30 – 39 ปีที่มี 10.7 ล้านคน พบว่าเป็นผู้มีเงินเดือนประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนราย และไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน ขณะที่ส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษี มี 6.4 แสนราย และยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4.2 แสนราย ทำให้สร้างภาระทางการคลัง  ผมยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้ด้วย” นายวิสุทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าว สนช. ได้แสดงความเห็นคัดค้าน และขอให้แก้ไขสาระเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรา 3 สัตตรส ที่เกี่ยวข้องกับอัตราการรับโอนเงินต้องรายงานให้สรรพากรทราบ ทั้งนี้ เนื่องจากการรับฟังความเห็นประชาชนไม่ทั่วถึง และเนื้อหาสร้างภาระเกินความจำเป็น รวมถึงขาดหลักเกณฑ์รายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้อาจกระทบกับ สนช. ที่ได้รับเงินโอนจากค่าเบี้ยประชุม หรือรายได้อื่น เช่น เงินทำบุญทอดกฐิน ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

ทั้งนี้ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สนช. อภิปรายคัดค้านหลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องการแจ้งรายการความเคลื่อนไหวทางบัญชี พร้อมมองว่ารัฐใช้อำนาจ และสร้างภาระเกินความจำเป็น ทั้งที่ตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้สามารถตรวจสอบรายละเอียด และความเคลื่อนไหวทางการเงินได้ ขณะเดียวกันการรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมาย ผ่านทางเว็บไซต์ ยังไม่กว้างขวาง และพบประชาชนที่ให้ความเห็นคัดค้านกว่า 300 ราย

“ผมเชื่อว่าร่างกฎหมายนี้กระทบทุกภาคส่วน รวมถึงสนช.ที่ปัจจุบันมีการรับค่าธรรมเนียม และค่าเบี้ยประชุมผ่านการโอนเงิน กว่า 200 ครั้งใน 1 ปี ดังนั้น การให้รายงานว่าใครก็ตามที่ได้โอนเงินเข้าบัญชีต้องถูกบันทึกไว้หมด เท่ากับการกวาดคนทั้งหมดเข้าระบบนี้ ทั้งที่หน้าที่สำคัญคือ ต้องตรวจสอบคนที่ไม่ยอมเสียภาษี ดังนั้น ผมขอให้ทบทวน โดยเฉพาะการเพิ่มความถี่เรื่องการฝากหรือโอนเงินที่มากกว่า 200 รายการมูลค่ารวม 2 ล้านบาท” นายวรพล กล่าว

ขณะที่ นายตวง อันทะไชย สนช. คัดค้านเช่นเดียวกัน พร้อมระบุว่าสนช. อาจจะเข้าข่ายถูกตรวจสอบด้วย เพราะปัจจุบันพบว่า เบี้ยประชุม รวมถึงเงินทำบุญกฐิน ยังรับโอนผ่านบัญชีธนาคาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การถกเถียงยังไม่ได้ข้อสรุปทำให้ต้องพักการประชุมนาน 45 นาที เพื่อให้ กมธ. และสนช. ที่ยังติดใจหารือนอกรอบ และผลการหารือนอกรอบดังกล่าวทำให้ กมธ. ยอมแก้ไข มาตรา 3 สัตตรส วรรคสอง (2) ว่าด้วยการรายงานข้อมูลการฝาก หรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง เป็น 400 ครั้ง ขณะที่ยอดรวมของธุรกรรมดังกล่าวยังคงเดิม คือ ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 3 ผลปรากฏว่า ที่ประชุมสนช. ที่มีผู้แสดงตนต่อที่ประชุม 146 คน ลงมติเห็นชอบ 139 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง