เดิมพันเลือกตั้ง 62 นายกฯคนนอก-รัฐบาลแห่งชาติ?

ภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง 24 มี.ค. อันเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ไม่ส่อแววโมฆะในรอบ 8 ปี

สถานการณ์ในพรรคการเมืองใหญ่ๆ ยังลุ้นผลคะแนนแบบตาไม่กระพริบ นาทีต่อนาที

โพลทุกโพล วิเคราะห์ตรงกันหมดว่า พรรคเพื่อไทย จะมาเป็นอันดับ 1 แกนนำพรรคกางตัวเลขตรงกันว่า เลือกตั้งเที่ยวนี้ จะได้เสียง 180 + –

ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง “ประชาธิปัตย์” โดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประกาศว่า ถ้าพรรคได้คะแนน “ต่ำร้อย” จะลาออก

ส่วนคู่ต่อสู้สำคัญ ชื่อว่า “พลังประชารัฐ” อันมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกฯ มีเดิมพันสำคัญแพ้ไม่ได้ เพราะถ้าแพ้หมายถึงระบอบ คสช.ที่สร้างมา 5 ปี ต้องถูกสั่นคลอน
แต่กลับมี “อนาคตใหม่” ภายใต้การนำของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นตัวแปร – เป็นสมการใหม่ ในเกมเลือกตั้งครั้งนี้ ปักธงล้างมรดก คสช. หลังเลือกตั้ง

ต่อไปนี้คือ การคาดการณ์ของ “นักวิชาการ” รัฐศาสตร์ ที่ทำนายสถานการณ์หลังเลือกตั้ง ผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ”

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดการณ์ผลการเลือกตั้งว่า “ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาล 1.เพื่อไทยจะได้ 170 เสียง หากรวมกับพรรคที่อยู่ในตระกร้าของเพื่อไทยจะอยู่ที่ประมาณ 190 เสียง ส่วนอนาคตใหม่คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 30-50 เสียง ซึ่งจะเป็นตัวแปรหลัก ส่วนพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคใหม่ ดึง ส.ส.เก่ามา บวกได้ 44-45 ที่นั่ง แต่ด้วยกลไกต่างๆ จะทำให้ได้เสียง 70 เสียง รวมกับพรรคที่อยู่ในขั้วเดียวกันจะรวม 80 เสียง

“แต่ต่อให้พรรคแนวร่วมต้าน คสช. ชนะมาเป็นอันดับหนึ่งจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ ถ้ารวมเสียงกันไม่ถึง 376 เสียง ในการโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ยกเว้น ส.ว.250 คนจะแปรพักตร์ แนวทางที่ 2 โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่จะเป็นไปได้ยาก แนวทางที่ 3 ฝ่ายประชาธิปัตย์บวก พปชร. พรรคอื่นๆ ไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ถ้าทั้งหมดไม่สำเร็จ และฝั่งไม่เอา คสช.ได้เกิน 251 เสียง ถ้าเป็นรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพจะเป็นไปได้หรือไม่ ดังนั้น ทางที่เป็นไปได้คือ 4.การมีนายกฯ คนนอก ซึ่งจะต้องใช้เสียง 500 จาก 750 เชื่อว่าทำได้ หากมีสัญญาณบางอย่างบอกมา และมีรัฐบาลแห่งชาติ จะประกาศมาตรการระยะสั้น เช่น แก้ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใดเลย และทางสุดท้าย โมฆะเลือกตั้งเป็นช่องไม่อยากเห็นที่สุด”

อย่างไรก็ตาม การกลับมาของพรรคที่สนับสนุนทหารจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับบันได 4 ขั้น ของการสร้างรัฐที่มีพรรคในกำกับเป็นตัวขับเคลื่อน บันไดขั้นที่ 1 ส.ว.250 กฎกติกาในการเลือกนายกฯ ขั้นที่ 2.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ว่าพรรคไหนขึ้นมาก็ยังถูกกำกับ 3.รัฐภายใต้การอุปถัมภ์ของทุนใหญ่ 4.ระบบเลือกตั้ง ที่ไม่ส่งเสริมประสิทธิภาพทางการเมืองทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนกำกวม ให้มีคะแนนแพ้ไม่ตกน้ำ เพื่อให้โบนัสกับพรรคที่แพ้ คิดว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ลดอิทธิพลของสองพรรคใหญ่ และหวังว่าพรรคขนาดกลางที่สร้างมาช้อนคะแนนตกน้ำจะประสบความสำเร็จ แต่อาจเป็นบูมเมอแรงที่เป็นหนามยอกตำผู้ร่าง เพราะเกิดพรรคไม่ได้คาดหวังมาก่อนคือพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่ชนะเขต แต่ได้บัญชีรายชื่อ อาจกลายเป็นความฝันที่พังทลาย

“ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ประเด็นที่เปลี่ยนทุกอย่าง การออกมาใช้สิทธิจำนวนมากของประชาชน ถ้าใช้สิทธิถล่มทลายในวันเลือกตั้งจริง กระโดดไป 87-90 เปอร์เซ็นต์ การคำนวณทุกอย่างจะเปลี่ยน ไม่อยู่ในแผนของการวางแผน สมการจะเปลี่ยน รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ที่มาเปลี่ยนสมการการแข่งขันนี้ไป เพื่อไทยที่นั่งจะลดเลือกตั้งจาก 265 เหลือ 200+- แต่มีพันธมิตรใหม่ๆ อาจจะได้เกิน 250 โอกาสที่ขั้วฝั่งประชาธิปไตยเกิน 250 ยังมีอยู่ ถ้าเกิดปรากฏการณ์สึนามิการเมืองในมาเลเซีย ที่บทวิเคราะห์ทุกคนจะไม่มีใครวิเคราะห์ว่าพรรคอัมโนจะชนะ

สุดท้ายไม่สำคัญว่าพรรคอื่นจะได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ หากระบอบประยุทธ์ พปชร.แพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะยอมรับความพ่ายแพ้และยอมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ถ้าชนะทุกอย่างเป็นไปตามที่กำหนด พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ เมื่อเราดูจากประเทศอื่นๆ เมื่อเราดูจะยอมรับหรือไม่เป็นตัวกำหนดอนาคตสังคมไทย และมีโอกาสที่จะเกิดนายกฯ คนนอก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถ้ามองว่าชนชั้นนำได้ทำทุกอย่างเพื่อรักษาทำไว้ตลอด 5 ปี ระบอบ คสช.อยู่ต่อไป แต่อาจไม่มี ประยุทธ์ จันทร์โอชา