6 คดี รุมเร้า ธนาธร-อนาคตใหม่ แบกความเสี่ยงติดคุก ยุบพรรค

แม้พรรคอนาคตใหม่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในสนามเลือกตั้ง

แต่นาทีนี้ทั้งตัวพรรค ทั้งหัวหน้าพรรค “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เลขาธิการพรรค “ปิยบุตร แสงกนกกุล” บวกแกนนำพรรค-ผู้ก่อตั้งพรรคบางส่วนต้องเผชิญวิบากกรรมการเมืองต่อเนื่อง

นับเฉพาะคดีที่แกนนำโดนรวมกันแล้ว 6 คดี

แบ่งเป็นคดีของ “ธนาธร” มีถึง 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย “พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ” ฝ่ายกฎหมาย คสช.แจ้งความดำเนินคดีต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ฐานผิดมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กรณีการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์รายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านแฟนเพจ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” วิพากษ์วิจารณ์พลังดูดเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ร่วมกับ นายไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค และ น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค

2.คสช.มอบหมายให้ “พ.อ.บุรินทร์” แจ้งความเอาผิด “ธนาธร” ข้อหาตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาตรา 189 ช่วยเหลือหรือให้ที่พำนักผู้ต้องหา และมาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

“พ.อ.บุรินทร์” เปิดเผยที่มาของคดีนี้ว่ามาจากกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดยนายรังสิมันต์ โรม กับพวกราว 20 คน ไปทำกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังจากมารวมตัวชุมนุมปิดล้อม สน.ปทุมวัน หลังจากนั้น ทางตำรวจและทหารต่างออกติดตาม แต่ปรากฏว่านายรังสิมันต์ได้วิ่งหลบหนีและมีรถตู้มารับไป ต่อมาตรวจสอบพบว่ารถคันดังกล่าวเป็นของนายธนาธร อีกทั้งในวันเกิดเหตุนายธนาธรได้ไปสังเกตการณ์อยู่ภายนอก และมีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

3.กกต.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร เนื่องจากเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42(3) อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ จำนวน 675,000 หุ้น

คดี “ปิยบุตร” มี 2 ข้อหา 1.พ.อ.บุรินทร์ โดย คสช.เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดอาญา 2 ข้อหา 1.ดูหมิ่นศาลในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 กรณีอ่านแถลงการณ์พรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ

2.นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2)

ขณะที่ “พล.ท.พงศกร รอดชมภู” รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 1 ข้อหา คดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และมาตรา 14 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) (4)

โดย คสช.แจ้งความกรณีเผยแพร่ ส่งต่อภาพ ข้อความ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ดื่มกาแฟในราคาแก้วละ 12,000 บาท รวมเป็นยอดกว่า 80,000 บาท

ทั้ง 6 คดี โทษสูงสุดคือ “ติดคุก” และยังลามไปถึงเส้นทางของพรรค “อนาคตใหม่” ในวันข้างหน้า เช่น กรณีถือหุ้นสื่อวี-ลัค มีเดียที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหา “ธนาธร”

หาก “ธนาธร” พิสูจน์ความบริสุทธิ์ไม่ได้ และ กกต.วินิจฉัยสำนวนก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง กกต.มีสิทธิ “ควักใบส้ม” ระงับสิทธิเลือกตั้งธนาธร และดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังสมัคร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี

แต่ถ้าประกาศผลไปแล้วก็ยังส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ “ลงดาบ” คุณสมบัติได้ ทั้งนี้ มีรายงานว่า แม้ว่าดังกล่าวจะไม่เข้าข่าย “ทุจริต” อย่างกรณี “ซื้อเสียง” แต่อาจเข้าข่ายทำให้การเลือกตั้ง “ไม่เที่ยงธรรม”

นอกจากนี้ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยังเตรียมเสียบคำร้อง ว่าที่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ 6-7 ราย ถือครองหุ้นสื่อ เช่นเดียวกับ “ธนาธร” อาจส่งผลให้ว่าที่ ส.ส.อนาคตใหม่โดนสอยไปทีละราย หากมีคุณสมบัติต้องห้าม จะได้รับโทษตามมาตรา 151 กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคที่ประสบอยู่ตอนนี้

ดีไม่ดี “ธนาธร” และพวกต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่อง “ยุบพรรค” จากสารพัดคดีตอนนี้

เพราะการวินิจฉัยคดีของ กกต.ปัจจุบัน ใช้หลัก “ข้อเท็จจริงมาก่อน”