“ป๋าเปรม” องคมนตรี 2 แผ่นดิน The Old soldiers never die ยิ้มได้เมื่อภัยมา

การถวายน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 คือภารกิจที่ “ประธานองคมนตรี” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ถวายงานครั้งสุดท้ายของชีวิตข้าราชการที่สนองงาน 2 แผ่นดิน

“พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก” คือยศทหารสูงสุดของ “พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ตำแหน่งล่าสุด คือเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ พล.อ.เปรม ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในฐานะสักขีพยาน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 และเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ในเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ในวัย 99 ปี นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญ-ครั้งสำคัญ ของแผ่นดิน

ทหารแก่ไม่เคยตาย

พล.อ.เปรม นั้นผ่านชีวิตนักรบ-นักการทหารมาเกือบตลอดชีวิต มีหลากฉายาแต่คำจำกัดความ ที่ พล.อ.เปรม ชอบกล่าวถึงเสมอคือ “The Old soldiers never die” พล.อ.เปรม เคยพูดถึงฉายานี้ไว้ว่า “มีฝรั่งพูดกันว่า “The Old soldiers never die” เป็นภาษาอังกฤษที่แปลง่ายๆ ว่า คนเราเมื่อลองได้เป็นทหารครั้งหนึ่งแล้ว จะต้องเป็นไปตลอดชีวิต ไม่ใช่เกษียณแล้วเลิกเป็น ไม่ใช่ลาออกแล้วเลิกเป็น เพราะคนที่เป็นทหารต้องมีเลือดเนื้อจิตวิญญาณของการเป็นทหารอยู่ในสายเลือด เมื่อเป็นทหารก็ต้องเป็นไปจนวันตาย ในนี้ยังมีเลือดเนื้อวิญญาณของการเป็นทหารตลอดเวลา ถ้าใครไม่รู้สึกอย่างนี้ ก็ไม่สมควรที่จะเป็นทหาร”

พล.อ.เปรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มักตอบคำถามผู้สื่อข่าวน้อยคำ จนได้รับฉายา “เตมีย์ไบ้” และในยุค “นายทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวถึง พล.อ.เปรม ว่า “เป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

ในฐานะประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม มักกล่าวถึงความ “รักชาติ และความสามัคคี” แทบทุกครั้ง ที่บ้านเมืองมีปัญหาความแตกแยก ครั้งหนึ่งเมื่อ พล.อ.เปรม เปิดบ้านให้คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ เข้าอวยพรปีใหม่ (2556) พล.อ.เปรม กล่าวไว้ว่า “ถ้าเรามองชาติบ้านเมืองในวันนี้ เราจะมองเห็นว่าลึกลงไปกว่านั้นคนไทยแตกแยก แบ่งฝ่ายกัน ความจริงต้องมองให้ลึกลงไปกว่านั้นว่าเราไม่ได้แตกแยกกัน แต่มีความคิดเห็น ความเชื่อที่แตกต่าง ถ้าเรารู้สึกได้ว่าบ้านเมืองเราไม่ได้แตกแยก แต่เรามีความแตกต่างแล้วเราก็เอาสัญญาประชาคมของ ผบ.ทบ.และกองทัพพบว่ากองทัพบกเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชนมาคิดใคร่ครวญดู”

และ “ถึงเวลาที่คนไทย ต้องหันหน้าเข้าหากัน รักสามัคคีกัน และให้อภัยซึ่งกันและกัน”

ยิ้มได้เพื่อภัยมา-เพลงที่ “ป๋าเปรม” โปรด

ก่อนการสิ้นอสัญกรรม บรรดานายทหาร “ลูกป๋า” เตรียมจัดคอนเสิร์ตในวาระ 100 ปี ของพล.อ.เปรม ในวันคล้ายวันเกิด 26 สิงหาคม 2562 ที่จะถึง ซึ่งการร้องเพลง และเล่นเปียโน คือกิจกรรมที่พล.อ.เปรมรักมาก นอกจากชีวิตการเป็นทหาร

เมื่อปลายปี 2555 พล.อ.เปรม ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่จัดโดยมูลนิธิรัฐบุรุษ ชื่องาน “Music for your happiness” การเล่นเปียโนในที่สาธารณะ ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรง พล.อ.เปรม บอกว่า “ผมมาเล่นเปียโน เล่นดนตรีให้ทุกคนฟัง ก็เพราะอยากให้ทุกคนมีความสุข มีกำลังใจ” แม้จะแต่งเพลงไว้มากกว่า 150 เพลง แต่อาจกล่าวได้ว่าเพลงโปรดเพลงหนึ่งของพล.อ.เปรม คือ “ยิ้มได้เมื่อภัยมา”

หลังรัฐประหาร 2557 พล.อ.เปรม บอกว่า “การปฏิวัติทำให้ ไม่มีอารมณ์อยากแต่งเพลง เพราะรู้สึกว่าบ้านเมืองอาจไม่เรียบร้อยไปอีกนาน”

ประธานองคมนตรีคู่บารมี 2 แผ่นดิน ผ่านร้อนผ่านหนาว มาหลายวาระ ทั้งนำพาชาติพ้นภัยเศรษฐกิจ-การเมือง และผ่ากลางใจปัญหาความมั่นคงระดับโลก

อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 สามสมัย 8 ปี

อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 จำนวน 3 สมัย 8 ปี หรือ ระหว่างปี 2523 ถึง 2531 พล.อ.เปรมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 ตลอดระยะเวลา ในการบริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ

โมเดลปรองดอง-คำสั่ง 66/23

ผลงานชิ้นโบแดง คือการผลักดันนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งปรากฏออกมาในรูป คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 65/2525 เพื่อยุติการทำสงครามสู้รบ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับ ฝ่ายรัฐบาล ผลพวงจากนโยบายดังกล่าว ทำให้นักศึกษา ที่หนีเข้าป่าภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล มีโอกาสหวนมาเดินบนหนทางแห่งสันติภาพได้ นโยบายดังกล่าว ช่วยลด กระทั่งดับเชื้อไฟสงครามกลางเมืองในช่วงนั้นลง เพื่อให้รัฐบาลสามารถทุ่มเทกำลัง มาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

การแก้ปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจในปี 2524 การส่งออกของไทย โดยเฉพาะพืชผลเกษตรประสบปัญหา ขณะเดียวกัน มีปัญหาการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เงินบาทของไทย ผูกติดกับดอลลาร์ของสหรัฐฯ ซึ่งแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ พล.อ.เปรม ได้ตัดสินร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่จะลดค่าเงินบาทถึงสามครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สาม ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2523 ซึ่งมีการปรับลดถึงร้อยละ 15

ทำคลอด “อีสเทิร์นซีบอร์ด”

นอกจากนั้น รัฐบาลพล.อ.เปรมยังได้ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนจาก “อัตราแลกเปลี่ยนคงที่” ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น “ระบบตะกร้าเงิน” ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และโครงการสำคัญ เช่น การพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก การสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และ แหลมฉบัง หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” และเป็นต้นแบบของโครงการอีอีซีในรัฐบาลปัจจุบัน

บทบาทในการการเมือง-การทหาร-รัฐประหาร

บทบาททางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2549 พล.อ.เปรมมีข่าวว่าเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 ที่นำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 49

ในปี 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พล.อ.เปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติและวุฒิสมาชิก ช่วงปี 2511 – 2516 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

พล.อ.เปรมเข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

พล.อ.เปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ประธานองคมนตรี-รัฐบุรุษ

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

ทหารม้า-กำเนิด “ป๋า”

ประวัติการรับราชการทหาร ภายหลังสงคราม พล.อ.เปรมรับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี เมื่อปี 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี

พล.อ.เปรมได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้ ท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า “ลูก” จนเป็นที่มาของคำว่าป๋า หรือ ป๋าเปรม และคนสนิทของท่านมักถูกเรียกว่า ลูกป๋า และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

พล.อ.เปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปี 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพล.อ. ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521
นอกจากยศ “พลเอก” แล้ว พล.อ.เปรม ยังถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคล ที่ในปัจจุบันที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือ และ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ ด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2529 ในระหว่างที่ พล.อ.เปรม ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

ชาวสงขลา-มหาวชิราวุธ

ชีวิตส่วนตัว พล.อ.เปรม เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ชื่อ “เปรม” นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน

พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา สงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

เมื่อจบการศึกษาในปี 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 – 2488 ที่เชียงตุง

พล.อ.เปรม ชื่นชอบดูการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกีฬามวยและฟุตบอล มักเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้าพบเพื่อคารวะ และให้กำลังใจ ก่อนจะเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังชื่นชอบการร้องเพลง ระยะหลังได้ฝึกหัดเล่นเปียโนกับ ณัฐ ยนตรรักษ์ และประพันธ์เพลงเป็นงานอดิเรก พล.อ.เปรมมีผลงานเพลงบันทึกเสียงจำหน่าย บรรเลงดนตรีโดย กองดุริยางค์ทหารบก