เฉลิมชัย : ปฏิวัติประชาธิปัตย์ โต้พรรคไม่แตก เราไม่เผด็จการ 100%

สัมภาษณ์พิเศษ
โดย ปิยะ สารสุวรรณ

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคที่ขึ้นชื่อว่า “เก่าแก่ที่สุด” และ “ประสบความสำเร็จมากที่สุด” เพราะถ้าไม่เป็น “ผู้นำรัฐบาล” ก็เป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” เดินมาถึงก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์

“เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค นำพาพรรคก้าวมาถึง “จุดหักเห” ของประชาธิปัตย์ อีกครั้ง เปิดอก “สนทนาพิเศษ” กับ “ประชาชาติธุรกิจ” แบบครบเครื่องคำต่อคำ ก่อนจะปรับทัศนคติ ส.ส. และกรรมการบริหารพพรรคใหม่ในการสัมมนา 28-30 มิ.ย.นี้ ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

เปิดศักราชแก้รัฐธรรมนูญ

จังหวะทางการเมืองของ “พรรคครึ่งร้อย” คือการชงแก้รัฐธรรมนูญหลังเลือกตั้ง-เงื่อนไขร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ (พปชร.) กำแต้มต่อ-พันธะเหนือพรรคอื่น

“รัฐธรรมนูญต้องมีการแก้ไข รัฐธรรมนูญไม่ได้เลวร้าย 100% แต่ต้องแก้ไขได้ เมื่อใช้ไปแล้วมีปัญหา พปชร.เข้าใจและเห็นด้วย เพราะรู้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้สมบูรณ์ 100%”

เมื่อเป็น 1 ใน 3 พันธะของการร่วมรัฐบาล “เฉลิมชัย” จึงปักธง-เปิดศักราชเพื่อนำไปสู่วิธีการ-เป้าหมาย โดยมีความมุ่งมั่นทางการเมืองนำทาง

“การแก้รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในคำแถลงนโยบายแน่นอน ต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียด ไม่ใช่แค่พรรคร่วมรัฐบาล ต้องมีตัวแทนของฝ่ายค้าน ตัวแทนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะกฎหมายล็อกไว้ และจะขยับลงรายละเอียดหลังการแถลงนโยบาย แต่คงไม่ง่ายว่า เฮ้ย อาทิตย์หน้าแก้เลย”

จุดตาย รัฐบาลปริ่มน้ำ

จุดเปราะของรัฐบาลผสม 19 พรรค ที่มี “เสียงปริ่มน้ำ” เพราะต้องผ่านกฎหมายสำคัญให้อยู่ครบ 4 ปี ด่านแรก คือ การพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แต่ “เฉลิมชัย” มั่นใจว่า บริหารได้-ไม่มีปัญหา

“ปัญหาเสียงปริ่มน้ำจะไม่มี ถ้าทุกคนมีวินัย มากกว่าเสียงเดียวก็อยู่ครบเทอมได้ แต่อย่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไอ้นี่แหละ จุดตาย ส.ส. ขาด 4-5 คน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสามารถบริหาร สามารถรักษาวินัยได้”

1 ในเงื่อนไขของการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ คือ ถอนตัวออกจากรัฐบาลหากมีปัญหาการทุจริต คำถามที่ถูกย้อนศรกลับมา คือ ทุจริตถึงขั้นไหนถึงจะเรียกว่าทุจริต “เฉลิมชัย” ขีดเส้นมาตรฐานธรรมาภิบาลถึงขั้น “ที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ไม่ใช่ข้อกล่าวหาเลื่อนลอย-เกมการเมือง”

ขณะเดียวกันคงรักษาเส้นมาตรฐานของพรรคที่เป็น “บรรทัดฐาน” คือ “ลาออกทันที” หากมีข้อกังขาของสังคม พร้อมฝากความหวังไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์

“ต้องมีอยู่แล้วครับ เรารู้ว่าสังคมจับจ้อง สังคมคาดหวัง หรือสังคมกำลังจับผิด ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง แต่จะไปก้าวก่ายพรรคอื่น ตอบไม่ได้หรอก แต่ถ้ามีกรณีอย่างนี้ ท่านนายกฯต้องดำเนินการ เพราะท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล”

นอกจากการคอร์รัปชั่นจะเป็น “จุดตาย” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 แล้ว “ว่าที่ รมว.เกษตรฯ” ดัชนีชี้วัดการอยู่การไปของรัฐบาล คือ “ผลงาน” โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

“เรื่องความมั่นคง ถ้าทุกฝ่ายคุยกันรู้เรื่องหวังดีกับประเทศชาติ เป็นสถานการณ์ที่คนควบคุมได้”

“แต่เศรษฐกิจเป็นสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเราเป็นแค่เศษส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เรายังผูกอยู่กับเศรษฐกิจโลก เราเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของการค้าโลก”

นายกฯชี้ขาดทีมเศรษฐกิจ

ทว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 อาจไม่มี”ฮันนีมูนพีเรียด” เพราะเพียงยกแรก “ทีมเศรษฐกิจ” ที่ถูกผ่าออกเป็น 3 ทีม

“ต้องดูว่าทีมเศรษฐกิจ เราต้องดูว่าใครกำกับ คนกำกับ คือ นายกรัฐมนตรี อย่าลืมว่า เรื่องทุกเรื่องใน ครม. ถ้านายกฯไม่โอเค เรื่องไม่จบนะ ส่วนคนกลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าสู่ ครม. คงเป็นเลขาฯท่านนายกฯ”

“ผมคิดว่าท่านนายกฯมีศักยภาพพอ ผมมั่นใจว่า คนที่มาอยู่ตรงนี้ได้ต้องทำงานได้ ผมเชื่อมั่น หลักการบริหาร นายกฯกำกับ มีสิทธิทุกกระทรวงอยู่แล้ว”

“อย่าลืมว่า ครั้งนี้เป็นรัฐบาลผสม ทุกคนต้องคิดว่าทำผลงานเพื่อรัฐบาล นอกจากคิดว่าทำงานให้พรรคตัวเอง เพราะวันนี้เป็นทีมแล้ว”

บิ๊กตู่ “เอาอยู่” หัวหน้า พปชร.

เพราะประชาธิปัตย์ตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แล้ว “เฉลิมชัย” ประเมินแนวโน้มที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะสวมหมวก “หัวหน้าพรรค” เพื่อกระโจนสู่สนามการเมืองเต็มตัว ว่ามีทั้งข้อดี-เสีย

“เป็นปัญหาภายในของท่าน ถ้าพูดถึงในความเป็นนักการเมืองของผม ผมก็อยากให้ท่านนายกฯมาเป็นหัวหน้า เป็นนักการเมืองเต็มตัว เพื่อลดข้อครหาต่าง ๆ แต่ท่านจะมาหรือไม่มา เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน เป็นเรื่องของพลังประชารัฐ”

“เหรียญมี 2 ด้าน ดี คือ ภาพความเป็นทหารของท่านก็จะเบาบางลง ไม่ดี คือ การเมืองท่านไม่เคยสัมผัสจริง ๆ เวลาเป็นนักการเมืองเต็มตัว มันไม่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้เหมือนทหาร…(นิ่งคิด)…ผมว่าท่านเอาอยู่”

“แล้วแต่ท่าน welcome เป็นเรื่องดีสำหรับนักการเมือง”

เดิมพันอนาคตพรรค

การตัดสินใจเข้าร่วม “รัฐบาล คสช.ภาคสอง” ของประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ไม่ได้มาฟรี เพราะต้องแลกกับต้นทุนทางการเมืองสูงลิบ ในทุกมิติ ไม่เฉพาะเพียงการเพิ่มจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า รวมถึงการพิสูจน์ให้เห็นว่า นโยบายของพรรคทำได้จริง-จับต้องได้ โดยเฉพาะการแบกอนาคตของพรรค เพราะเดิมพันด้วยอุดมการณ์ของพรรคกว่า 73 ปี

“การร่วมรัฐบาลก็คือการตัดสินใจและเอาผลลบและผลบวกมาชั่งน้ำหนักกันว่า อะไรมากกว่ากัน ถ้าเราร่วมรัฐบาลแล้ว เราได้ทำตามนโยบายของเรา”

“หนึ่ง การแก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรทั้งหมดให้ดีขึ้นได้ มันคุ้มในการร่วมรัฐบาล สอง เสียงก้ำกึ่งอย่างนี้ ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เลย ให้ ปชป.ไปอยู่อนาคตใหม่ อยู่กับเพื่อไทยก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะตั้งได้แต่บริหารประเทศไม่ได้ ประชาชนคือคนที่รับภาระตรงนี้”

“คนจะบอกว่า ประชาธิปัตย์ทำให้ประเทศชะงักไหม เราจะตัดสินใจซ้าย ตัดสินใจขวา หรือจะยืนอยู่นิ่ง ๆ ก็โดน”

สำหรับข้อเสนอ “ฝ่ายค้านอิสระ” เลขาธิการพรรคไม่เชื่อว่า จะเป็นไปได้ในทางการเมือง เพราะสุดท้ายแล้วการเมืองก็ต้องเลือกข้าง

“มันมีจริงเหรอ จะเป็นไปได้ยังไง ในเมื่อต้องมีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ไม่อยากให้ใช้คำพูดหรู ๆ แต่ในทางปฏิบัติยาก”

“เราต้องฟื้นศรัทธาพรรค ฟื้นศรัทธาคนของพรรค ทำให้คนรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่ได้เลือกเรารู้จักประชาธิปัตย์มากขึ้น ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในพรรค คำว่าเชื่องช้าถูกผลิตออกมาจนเป็นวาทกรรม ต้องแก้ไข การบริหารต้องฉับไว ชัดเจน”

รีแบรนดิ้ง (อีกครั้ง)

ยุคใหม่ประชาธิปัตย์หลังจากนี้จึงกำลังจะเปลี่ยนบุคลิกครั้งสำคัญ-สไตล์ไม่เหมือนเดิม ภายหลังเปลี่ยนหัวหน้า-เลขาธิการพรรคคนใหม่

“ประชาธิปัตย์จะสัมผัสได้ (ยิ้มกรุ้มกริ่ม) สัมผัสง่าย รวดเร็วขึ้น กล้าตัดสินใจ ไม่ถึงกับต่างจากในอดีต เพียงแต่อดีตอาจจะรอบคอบไปนิด”

ส่วนภารกิจฟื้นฟูจำนวนตัวเลข ส.ส.ของพรรคจากเป็น “พรรคครึ่งร้อย” เป็น “พรรคหลักร้อย” ?

“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในพรรคเป็นอันดับแรก สอง ความชัดเจน ทิศทางของพรรคที่จะเดิน ยุทธศาสตร์ของพรรค บวกกับวันนี้การตัดสินใจร่วมรัฐบาลแล้วสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็จะเป็นแรงเสริม”

“วันนี้เรากำลังรุก ถ้าเป็นสินค้าเราก็กำลังรุกตลาด เดิมถ้าเปรียบเป็นสินค้า ปชป.เหมือนเป็นของห้าง ต้องเดินเข้าไปหา ต้องไปนำเสนอขายตรงให้ถึงที่ แต่คุณภาพยังเป็นของห้าง”

“ประชาธิปัตย์เคยมี ส.ส.ต่ำกว่านี้ก็มี ใช้ความพยายามทุกอย่างฟื้นขึ้นมา ตอนนี้เราไม่ได้ทระนงตัว รับสภาพ เพื่อให้รู้ว่าควรจะปรับปรุง แก้ไข แต่ถ้าเราไม่ยอมรับสภาพ อย่างนี้จะไม่มีทางไป ถ้าไปก็ไปไม่มีทิศทาง”

พรรคแตก-ยุบนิวเด็ม

ความพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ “พรรคแตก”

“ใช้คำว่ากระทบดีกว่า การยุบ นิวเด็มไม่ได้มีผลขนาดนั้น มี young democrat เป็นจุดขายอยู่แล้ว เปิดโอกาสให้กับทุกกลุ่ม หลากหลายเป็นองค์กรจริง ๆ ไม่เพียงเฉพาะกิจ”

“เฉลิมชัย” ย้ำอีกครั้งว่า “วันนี้นิวเด็มแค่เปลี่ยนสถานะ ไปเป็นส่วนหนึ่งใน young democrat ส่วนทีมเศรษฐกิจใหม่ ไม่ได้โละทีมเศรษฐกิจเก่า ยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล จึงต้องเอาแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ ๆ มาเสริมในเศรษฐกิจฐานรากเพื่อก้าวให้ทันโลก”

“ยืนยัน วันนี้พรรคเหนียวแน่นกว่าเดิม ที่ผ่านมาคิดเห็นแตกต่างกันบ้างเป็นเรื่องธรรมชาติของพรรค เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ นอกจากเผด็จการ 100% นั่นแหละถึงจะคิดเห็นเหมือนกันหมด เมื่อมีมติก็จบ นี่คือความมีวินัยของพรรค”

“ไม่ใช่การถอยหลัง ต่อไปนี้การหาเสียงกับคนรุ่นใหม่มีหลายรูปแบบ จะมีกิจกรรมออกค่าย พบนักศึกษา ไม่ใช่ไฮด์ปาร์กอยู่บนเวที สัมผัสยาก เข้าถึงยาก ปชป.กำลังเดินไปข้างหน้า”

“วันนี้การทำงานต้องทำเป็นทีม วันนี้จะเป็น one man show หรือซูเปอร์ฮีโร่คงไม่ใช่”


“วันนี้เป็นวันที่เราต้องจับมือร่วมกันทำงาน” เฉลิมชัย-พ่อบ้านพรรคทิ้งท้าย