“อนาคตใหม่” ผุดโครงการให้ปชช. ตรวจสอบการทำงานส.ส.-เปิดช่องร้องทุกข์ผ่านส.ส.เขต

“อนาคตใหม่” ผุด โครงการ “Open Future Forward Project” ให้ประชาชนตรวจสอบการทำงาน ส.ส. ทั้งใน-นอกสภา พร้อมเปิดช่องให้ร้องทุกข์ผ่าน ส.ส.เขต เตรียมคิกออฟ เดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 4 ส.ค.นี้ เผย เตรียมเสนอเพิ่มเติม มาตรา 113/1 ประชาชนสามารถฟ้องคนรัฐประหารได้-ยกโทษหมิ่นประมาทเป็นโทษทางแพ่ง

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 30 กรกฎาคม ที่พรรคอนาคตใหม่ อาคารไทยซัมมิท นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่(อนค.) และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ร่วมแถลงข่าวเปิดแผนงานของพรรคอนาคตใหม่ และเครื่องมือติดตามผลงานของพรรค รวมทั้ง ส.ส.ในพรรค ผ่านโครงการ “Open Future Forward Project” โดยนายปิยบุตร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวต้องการเปิดช่องทางให้ประชาชนติดตามการดำเนินการของ ส.ส.ทั้ง 81 คนของพรรค โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.ติดตาม 12 นโยบายฐานรากว่ามีการผลักดันนโยบายใดได้บ้าง 2.ความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนตามที่เราหาเสียงไว้ 3.ต้องการกระตุ้นเตือนสมาชิก และ ส.ส. ของพรรค เพื่อให้ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 4.เรื่องความโปร่งใส ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าเราทำอะไรบ้าง 5.เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเราต้องการให้พรรคอนาคตใหม่ มีชีวิตตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะตอนหาเสียงเท่านั้น โดยการทำงานต่อเนื่องทุกวัน และมีความใกล้ชิดกับประชาชน โดยประชาชนสามารถติดตามเราได้ทุกฝีก้าว ซึ่งพรรคอยากทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับประชาชนตลอดเวลา และหวังว่าในอนาคตเราจะพัฒนาในส่วนนี้ต่อไป ซึ่งในส่วนนี้เป็นการทำการเมืองในมิติใหม่ที่สร้างสรรค์ต่อไป โดยประชาชนสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของพรรคอนาคตใหม่

นายปิยบุตรกล่าวว่า ในส่วนของ 12 นโยบายที่เราหาเสียงไว้นั้น ในแพลทฟอร์มดังกล่าวจะมีข้อสรุปถึงความคืบหน้าต่างๆในแต่ละนโยบาย โดยเฉพาะการเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อเพิ่มเติมมาตราใหม่คือ มาตรา 113/1 กรณีความผิดฐานกบฎในราชอาณาจักร แต่ไม่มีใครถูกดำเนินคดี หรือหากมีการดำเนินคดี ศาลก็ยกฟ้องทุกครั้งโดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย หรือมีการนิรโทษกรรมไปแล้ว ซึ่งวิธีการที่จะป้องกันเรื่องนี้ได้ คือเขียนระบุให้ผู้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเป็นผู้เสียหาย หากมีการยึดอำนาจเกิดขึ้น สามารถไปฟ้องได้เลยโดยคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ศาลต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง และเพื่อเป็นการประกันเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยยกเลิกโทษอาญาความผิดฐานหมิ่นประมาท และดูหมิ่น โดยเปลี่ยนให้มาเป็นความผิดทางแพ่ง ซึ่งบางกรณี อาจมีสื่อมวลชนบางรายติดคุก แต่เราเห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็น โทษที่ควรได้รับคือการจ่ายค่าความเสียหายทางแพ่ง เหมือนที่ประเทศอื่นๆทำกัน รวมทั้งเสนอให้ยกเลิกมาตรา 14-15 และ 20 ที่เกี่ยวกับกฎหมายความผิดอาญาทางคอมพิวเตอร์ เพราะทุกวันนี้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์ แทนที่จะจัดการแฮ็คเกอร์ตามเจตนารมณ์พื้นฐานของกฎหมาย แต่เรากลับมาใช้กับเรื่องการโพสต์หมิ่นประมาท จนกลายเป็นคดีความมั่นคงต่อเนื่องกันมา เช่นเดียวกับการร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎอัยการศึกที่ใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยไม่อนุญาตให้ทหารไปประกาศกฎอัยการศึกกันเองอย่างที่ผ่านมา รวมทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)สถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากที่ผ่านมา ทุกคนทราบดีว่ามีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินยาว ตั้งแต่ปี 2548 แต่สภาไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)สามารถต่ออายุได้ ยกเลิกกฎหมายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และสุดท้าย คือการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเปิดทางให้การมีเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

“งานนอกสภาที่เราจะเคลื่อนไหวกับพี่น้องประชาชนนั้น เราจะลงไปรับฟังความเห็นเพื่อสร้างฉันทามติใหม่ ว่าประเทศไทยควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วหรือยัง เพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่เราไม่ได้มีรัฐธรรมนูญที่มาจากพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงมาตั้งแต่ปี 2540 โดยโครงการนี้จะเริ่มในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 นอกจากนี้ในส่วนของการปฏิรูปกองทัพนั้น เราสามารถเดินหน้าได้เลยในส่วนของการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จะมีการอภิปรายงบประมาณของกองทัพในสภา และตั้งกระทู้ถามในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อทำให้กองทัพทันสมัยขึ้น และสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย”เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุ

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ผลงานที่เราได้ทำไปบ้างแล้ว อย่างการสรุปการลงพื้นที่ของ ส.ส.ทุกสัปดาห์ และกิจกรรมต่างๆ โดยทางเราได้สรุปการทำงานของ ส.ส.ทั้งในและนอกสภา ผ่านรูปแบบกราฟ มีการแสดงอันดับผู้อภิปรายในสภา เวลาในการพูด และในอนาคตจะมีการนำเสนอสัดส่วนของ ส.ส.ที่เข้าประชุมสภา มีการลา หรือขาดประชุมโดยไม่ลา เป็นจำนวนเท่าไร เช่นเดียวกับการแสดงผลการลงมติในสภา เช่นเดียวกับความคืบหน้าในกระทู้ต่างๆ ว่าถึงขั้นไหนแล้ว มีการดำเนินการถึงขั้นตอนไหน นอกจากนี้ ยังสรุปให้ประชาชนที่สนใจสามารถเลือกส.ส.เป็นรายคนได้เลยว่า ปัจจุบัน ส.ส.แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญประเด็นใด หรือนั่งในคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ไหนบ้าง รวมทั้งเสนอญัตติในเรื่องใดบ้าง เช่นเดียวกับ จำนวนกระทู้ที่ถาม หรือโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องใดบ้างอย่างละเอียด เป็นต้น

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ส่วนงานนอกสภา futurecommunity.co เป็นช่องทางในการแจ้งปัญหาของประชาชน ที่ต้องการเรียกร้อง ส.ส.ในพื้นที่ให้ดำเนินการ โดยสามารถส่งคำร้องผ่านลิงค์ดังกล่าวได้เลย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีการเก็บข้อมูล หรือตรวจสอบความคืบหน้ากรณีเหล่านี้ได้ ซึ่งในเว็บดังกล่าวจะมีระบุไว้ทั้งหมด ว่ากรณีที่ท่านร้องเรียนมามีความคืบหน้าถึงระดับไหนแล้ว หรือ ส.ส.คนไหนที่แก้ไขปัญหาได้รวดเร็วและมากที่สุดต่อไป ซึ่งในอนาคต หากในแต่ละพื้นที่ได้รับการร้องเรียนปัญหาเยอะๆ เราอาจจะยกระดับการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายต่อไป

“ในส่วนของการทลายทุนผูกขาดนั้น เราได้เห็นตัวอย่างในสหภาพยุโรป ที่มีการจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ที่ว่าด้วยการค้าที่เป็นธรรมในส่วนของเอกชนภาคเกษตร ทำให้เราคิดว่า ประเทศไทยควรทำเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสินค้าเกษตรมีการผูกขาดอยู่เป็นระยะ ซึ่งเราทราบดีว่ามีการควบคุมตลาดอยู่ แต่เรายังไม่สามารถจับได้อย่างคาหนังคาเขา แต่ดิฉันขอสัญญาว่า เราจะทำการศึกษาก่อนที่จะเสนอเป็นร่างพ.ร.บ.ต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับการตรวจสอบสัมปทานของรัฐอย่างเข้มข้น โดยคณะกรรมการ PPP ของภาครัฐเอง ไม่ต้องมีการเพิ่มเติมหน่วยงานอื่นแต่อย่างใด” น.ส.ศิริกัญญาระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม จะมีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่: ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” ที่ พุทธสถานเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายปิยบุตร นายกษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และน.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ร่วมเสวนา

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์