7 พรรคฝ่ายค้านปักหมุด ปลุกมวลชนทั้งแผ่นดิน-ล็อก 2 สภาแก้ รธน.

รายงานพิเศษ

7 พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ เพื่อชาติ ประชาชาติ พลังปวงชนไทย ยังเดินหน้าผลักวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับสืบทอดอำนาจ

และจะกลายเป็นปมร้อนทะลุปรอททันที ที่สภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมสภาครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ย.

เนื่องจากญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 จะถูกผลักขึ้นมาอยู่ในวาระแรก ๆ จากการที่สภาลงมติ 463 ต่อ 0 เสียง ตามที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน ยกมือขอเลื่อนพิจารณาเป็นญัตติแรก แบบไม่มีใครค้าน

แถม “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะขมวดรวมญัตติเกี่ยวกับการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของทั้งประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นเรื่องเดียวกัน

แผน 7 พรรคเปิดเกมรุก

แม้จุดพลุแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ ลากประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ ร่วมขบวนแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา ทว่า 7 พรรคฝ่ายค้าน ไม่ขอเป็น ownership ถือธงนำ เพราะเกรงประวัติศาสตร์ “ซ้ำรอย” พรรคเพื่อไทย ที่พยายามแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เกือบ 1 ทศวรรษไม่เคยสำเร็จ

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 1 ใน 7 พันธมิตรฝ่ายค้าน ฉายภาพ roadmap ยุทธวิธี แก้รัฐธรรมนูญทั้งในและนอกสภา ของฝ่ายค้านว่า เราจะไม่ไปแตะว่าแก้มาตราไหน เพราะจะทะเลาะกันทุกมาตรา และตระหนักดีถึงข้อจำกัดของฝ่ายค้าน จึงอยากให้มี ownership ให้ทุกคนเป็นส่วนนำ ไม่อยาก “ขยับเยอะเกินไป” และ “แหลมเกินไป” เพราะถ้า ownership เป็นของฝ่ายค้านเมื่อไหร่ จะมีคนกลุ่มหนึ่งไม่เอาการแก้รัฐธรรมนูญทันที จะทำให้ประเทศเสียโอกาส

“ดังนั้น ฝ่ายค้านไม่แตะหมวดที่ 1 เรื่องรูปแบบของรัฐ หมวด 2 เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ จะให้ความสำคัญกับกระบวนการไปสู่ข้อสรุปร่วมกัน คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มากกว่าเรื่องเนื้อหา และไม่เดินนำหน้าองค์กร เครือข่ายมวลชน นักวิชาการทั้งสายรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์”

ทำโพล-จัดเวทีรุกทุกจังหวัด

ส่วนขานอกสภาจะเริ่มต้นในเดือน ต.ค. “อนาคตใหม่” เตรียมทำโพล โดยสุ่มตัวอย่างประชากร 6 พันตัวอย่าง เพื่อกลับไปสำรวจความเข้าใจของประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญว่า “ลึกแค่ไหน” เพราะตอนนี้ตอบด้วยความรู้สึก จะเริ่มทำโพลในเดือนตุลาคม และจะมีผลออกมาในปลายเดือน ต.ค.

คู่ขนานกับการจัดเวทีรณรงค์ ในรูปแบบฝ่ายค้านสัญจร เฟสที่ 2 จะจัดเวทีเพื่อเลี้ยงกระแสให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจปัญหารัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง เดือนละ 3-4 เวที ขยับไปทุกภาค-ทุกจังหวัด เป็นสเต็ปต่อไป เพราะขณะนี้ภาคประชาชน และกลุ่มนักวิชาการเริ่มขยับเส้นให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแล้ว

“ต่อมาฝ่ายค้านอยากเดินเข้าไปพบพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ (พปชร.) ในอนาคตอันใกล้ เพราะเรื่องนี้ไปไกลกว่าอนาคตรัฐบาล ฝ่ายค้าน แต่อยู่ที่ว่าอนาคตเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร”

หวั่นถูกปล้นญัตติกลางอากาศ

สำหรับขาในสภา “ธนาธร” เชื่อว่า หลังเปิดสมัยประชุม วาระแก้รัฐธรรมนูญ จะเป็นเรื่อง “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ในสภา และอยากให้ประชาชน “จับตา” ในการลงมติ พรรคไหนมีจุดยืนอย่างไร เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย กับการให้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่สิ่งที่ “ธนาธร” และ 7 พรรคฝ่ายค้านกลัว คือ หลังการตั้ง กมธ. แม้จำนวนสมาชิก กมธ.จะตั้งตาม “ที่นั่ง” ของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้ เช่น ในสภามี 500 คน แต่ละพรรคมี ส.ส.เท่าไหร่ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ นำเปอร์เซ็นต์ตัวนั้นไปเป็นโควตาที่นั่งใน กมธ. ดังนั้น บวกลบ กมธ.ชุดนี้ถ้าตัดสินตามโควตา พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีที่นั่งใน กมธ.มากกว่าฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว

แต่เมื่อ พปชร.กระโดดมาเล่นเกมรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุด คือ hijack คือ ดึงโควตา ประธาน กมธ.ให้อยู่กับฝ่ายรัฐบาล เมื่อเขากำหนดตัวประธานได้ ก็กำหนดวาระได้ การ hijack จากเดิมกำหนดวาระให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจกลายเป็นแก้รายมาตราเพื่อตอบคำถามสังคมว่า เห็นไหมแก้แล้ว กลัวว่าจะไปเป็นแบบนั้น

ใช้สังคมกดดันสภา

ขณะที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เสริม “ธนาธร”ว่า กระบวนการในสภาตอนนั้นต้องทำให้เกิดความเอกฉันท์ให้ได้ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญจริง ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ต้น พ.ย. แน่นอนที่สุดเกจิอาจารย์ นักวิเคราะห์อาจมองว่าซีกรัฐบาลต้องการเข้ามาอยู่ใน กมธ.วิสามัญด้วย เพื่อจะดึงเกมให้ยื้อออกไปแต่เมื่อกระแสสังคมภายนอกสภากดดันไปเรื่อย ๆ ก็จะเปลี่ยนทิศทางได้

ส่วนการเดินเกมนอกสภานั้น จะต้องรณรงค์ไปเรื่อย ๆ ให้คนเข้าใจให้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุด เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง สิทธิเสรีภาพเป็นกฎหมายภาพใหญ่ ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใกล้ตัว และกระทบถึงปัญหาปากท้อง

เห็นแววสำเร็จมากกว่า รธน.40

“ผมผ่านช่วงรณรงค์รัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นอยู่ ม.6 การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ช่วงแรกรัฐบาลชวน หลีกภัย ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมายื้อเวลา โชคดีมากที่นายบรรหาร ศิลปอาชาหัวหน้าพรรคชาติไทย เห็นประเด็นแล้วนำไปหาเสียงจนได้เป็นนายกฯเชิญนายโภคิน พลกุล มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ผลักดันจนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่”

ขณะที่ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีอุปสรรคเรื่องที่มา ส.ว.จะเอาอย่างไร ปีก ส.ส.ร.นักวิชาการ กับปีก ส.ว.จังหวัดทะเลาะกัน สุดท้ายก็ช่วยกันดันจนกระทั่งผ่าน เช่นเดียวกับครั้งนี้ คิดว่าจะมีอุปสรรคเยอะ แต่อย่างน้อยที่สุดต้องเริ่มต้น แต่ถ้าเทียบเป็นไทม์ไลน์การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 น่าจะสำเร็จก่อนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2537-2540

“ครั้งก่อนที่สะดุด คือ นักการเมืองไม่ค่อยเอากับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้นักการเมืองเห็นด้วย คนที่ไม่เอาน่าจะมี คสช.เก่า นักการเมืองน่าจะเอาหมด”

“เพียงแต่พอเขาเป็นรัฐบาลก็บอกว่า อย่าเพิ่งเริ่มก็ได้ แต่ในใจลึก ๆ คิดว่าเห็นปัญหาอยู่ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็หาเสียงแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก”

“เจ๊หน่อย” ขีดเส้น 60 วัน

ฟาก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยวิเคราะห์การเข้ามาของ พปชร. ที่เข้ามาร่วมชุลมุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี 2 เงื่อนไข

1.ไม่อยากให้ตกกระแส ถ้าตกกระแสจะโดนด่า 2.เขามีธงที่จะแก้บางข้อให้เขาทำงานง่ายขึ้น พอใกล้ ๆ เปิดสภา สื่อต้องไปจี้ถามว่าแก้แค่ไหน ส่วนฝ่ายค้านไม่มีธง แค่ขอกุญแจเปิดไปแก้ไข ผ่านการแก้ไขมาตรา 256 จากนั้นให้ตั้ง ส.ส.ร.มาแก้ทั้งฉบับ

ส่วนการที่ฝ่ายค้านบอกว่าไม่ชิงธงนำ อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ เราก็ไม่หมูขนาดเตะหมูเข้าปากใครก็ไม่ทราบ ไปแก้ทำให้เกิดผลเสียมากขึ้น แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมหาทางออกให้ประเทศ

“และในชั้น กมธ.มีเวลาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 45-60 วันเท่านั้น เป็นช่วงที่ต้องทำกระแสให้เข้าใจ บีบรัด บีบคั้น เหมือนทีฝ่ายค้านทำมาและฝ่ายรัฐบาลยอมออกมาร่วมด้วย ให้ออกเป็นการตั้ง ส.ส.ร.ให้ได้ ซึ่งต้องช่วยกันทำงานอย่างหนัก ไม่ให้ถูก hijack”