สภาเดือด! ฝ่ายค้านชนะโหวต ตั้งกมธ. ล้างม.44

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้นำเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ พิจารณาลงมติในญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า สรุปญัตติว่าประโยชน์การตั้ง กมธ.วิสามัญ จะเป็นเพียง กมธ.เพื่อการศึกษาว่าประกาศคำสั่ง คสช.ที่ผ่านมา ม.44 มีผลกระทบอย่างไร หากเห็นว่ามีผลไปศึกษาคำสั่งคณะปฏิวัติชุดอื่นๆ ในอดีตก็ไม่ขัดข้อง แต่ กมธ.ไม่มีอำนาจสั่งการรัฐบาล ไม่สามารถดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะก่อกบฏรัฐประหาร มีอำนาจเอาคำสั่ง ประกาศต่างๆ มาศึกษา และเสนอสภา ผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปเท่านั้น

หลายความเห็นบอกว่าไม่มีความจำเป็นตั้ง กมธ.วิสามัญก็ได้ เพราะมี กมธ.สามัญกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แต่ กมธ.ตนมีแค่ 15 คน และตั้งอนุ 10 คน ส.ส.ที่อยุ่ใน กมธ.ชุดตนก็มีไม่ครบทุกพรรค หากเป็น กมธ.วิสามัญให้แต่ละพรรคแบ่งสันปันส่วนมาเป็น กมธ.ร่วมกัน และยังเชิญคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.วิสามัญได้อีกด้ว หาก กมธ.วิสามัญชุดนี้เกิดขึ้น จะศึกษา ถ้ามีประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับไหนที่ดีก็มาเปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าเป็นกฎหมายลำดับรองก็ให้เป็นกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง หรือพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้าคำสั่งที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักความยุติธรรมอย่างร้ายแรงถ้าไม่ยกเลิกก็ให้ยกเลิกเสีย หากฉบับไหนยกเลิกไปแล้วแต่ยังมีผู้ผลกระทบอยู่ ก็จะต้องหามาตรการเยียวยาให้เขาด้วย คิดว่าการตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้จะเป็นประโยชน์” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า มีการอภิปรายในสภาแห่งนี้ ประกาสคำสั่ง คสช.ยกเลิกแล้วหลายฉบับ ส่วนที่ยกเลิกไปแล้วไม่หมดไปโดยปริยาย ยกเลิกไม่มีเงื่อนไข 61 ฉบับ แต่ยกเลิกผลร้ายเกิดขึ้นแล้ว เช่น คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ คำสั่งต่ออายุองค์กรอิสระ คำสั่งหลายคนจำนวนมากถูกดำเนินคดีอยู่ ทั้งประชาชน และ ส.ส. นอกจากนี้ 16 ฉบับยกเลิกอย่างมีเงื่อนไข เช่น คำสั่งที่ -ใถค ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยกเลิกเพียงการชุมนุมเกิน 5 คน แต่ข้ออื่นๆ ที่ยังมอบอำนาจให้ทหารมีส่วนร่วมในกระบวนการสืบสวนสอบสวนยังดำเนินการอยู่ การตั้ง กมธ.วิสามัญอย่างน้อยจะช่วยกันแสดงออกถึงความคิดความเชื่อ ซึ่งปฺนอวัฒนธรรม การพ้นผิดลอยนวล เรื่องที่จบไปแล้วก็จบไปแล้วอย่ารื้อฟื้น แม้เรื่องที่เกิดขึ้นจะกระทำผิดกฎหมายสูงสุดของประเทส ใช้อำนาจเผด็จการก็ตาม เพราะหากคิดแบบนี้คนที่ตั้งใจกระทำความผิด ตั้งใจก่อรัฐประหารก็จะเริ่มย่ามใจ เพราะทราบอยู่ในตัวว่าทำไปแล้วก็ไม่มีผลร้าย นิรโทษกรรมตัวเอง ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ออกประกาศคำสั่งก็มีผลไม่มีใครแตะต้อง

“เพราะวิธิคิดแบบนี้ทำให้ประเทศไทยอยู่ในวงจรอุบาทว์วนเวียนรัฐประหารซ้ำซาก แต่ในบางประเทศ ตุรกี กรีซ เกาหลีใต้ เหตุผลหนึ่งที่จัดการไม่ให้รัฐประหารเกิดขึ้นเพราะเขาไม่ยอมให้มีวัฒนธรรมพ้นผิดเกิดขึ้น ใครกระทำความผิด ใช้อำนาจเผด็จการ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ต้องนำมาสอบสวนข้อเท็จจริง อย่างน้อยต้องมีรายงานศึกษาเพื่อเป็นบทเรียนในรุ่นต่อไป เรามีสภาแห่งนี้เป็นสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารและรับมอบอำนาจจากประชาชน ไม่เห็นเหตุผลอันใดเลยที่จะปฏิเสธไม่ใช้อำนาจแทนราษฎรที่จะเริ่มต้นจัดการมรดกบาป คสช.หากสภานิ่งเฉยปล่อยผ่านไป ถามตรงๆ จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนเมื่อกลับไปเจอประชาชนในพื้นที่ที่เดือดร้อนจากคำสั่ง คสช.จะเอาหน้า โดนจับกุมคุมขัง โดนอายัดบัญชี ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ พอเรากลับมามีอำนาจแล้วเรากลับสยบยอมไม่กล้าทำอะไรเลย เพียงแค่ลงมติตั้งคณะ กมธ.ถ้าวันหน้าเกิดขึ้นมีรัฐประหารเกิดขึ้น แล้วเรายอมอีก แล้วไม่ทำอะไรเลยก็จะวนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป การลงมติครั้งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญคือ เราคือผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐประหาร นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย และรัฐสภาไทย” นายปิยบุตร กล่าว

นายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติตั้ง กมธ.เช่นเดียวกันว่าอภิปรายว่า ญัตติที่ตนเสนอนั้น ครอบคลุมไปถึงประกาศคำสั่งคณะรัฐประหารชุดก่อนๆ กฎหมายที่ร่างโดย สนช.และประกาศคำสั่งที่ร่างโดย คสช. ด้วยตั้งใจว่า นี่เป็นการดำเนินการในฐานะที่เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถืออำนาจนิติบัญญัติของประเทศ สมควรปรับระบบกฎหมายให้เป็นไปตามระบบกฎหมายปกติ ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง สืบค้นเอาผิด หรือความรับผิดชอบของใครหากเป็นเช่นนั้นจะเกิดความระแวงแคลงใจกันได้

จากนั้น เข้าสู่การลงมติตั้ง กมธ. วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ผลปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ.ด้วยเสียง 234 ต่อ 230 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1

แต่ปรากฏว่า นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปฝ่ายรัฐบาล ได้ยกมือขอให้นับคะแนนใหม่ โดยอ้างว่าก่อนโหวตมีความสับสนเล็กน้อย และให้นับคะแนนใหม่ด้วยการขานชื่อ แต่ฝ่ายค้านยกมือทักท้วง

นายมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ประท้วงว่า ออกเสียงโดยการลงคะแนนสามารถตรวจสอบจากใบลงคะแนนได้ ไม่ใช่ว่ามาเปลี่ยนใจเพราะคะแนนใกล้เคียงกัน แต่นายชวนแย้งว่า เป็นสิทธิของฝ่ายนายวิรัช สามารถทำได้ แต่ต้องลงคะแนนใหม่โดยการขานชื่อ

นายชวน ได้ถามนายวิรัชว่า ยืนยันหรือไม่ ซึ่งนายวิรัชตอบว่ายืนยันว่าจะต้องนับคะแนนใหม่ ซึ่งนายชวนให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามข้อบังคับ พร้อมกล่าวว่า

“ผมไม่มีทางหลีกเลี่ยงทางอื่น ต้องดำเนินการตามข้อบังคับ ไม่อย่างนั้นผมก็ผิดไปด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับ ผมต้องเป็นกลาง ผมไม่ศักดิ์แต่พูดเป็นกลาง แต่ทำตัวไม่เป็นกลาง ไม่มีสิทธิฝืนข้อบังคับ ผมไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ แต่เมื่อออกมาแบบนี้แล้วอีกฝ่ายมีสิทธิเสนอ ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับ”

จากนั้นนายชวนอ่านข้อบังคับให้ที่ประชุมฟังว่า เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนน ถ้าสมาชิกร้องขอให้มีการนับคะแนนโดยมีผู้รับร้องไม่น้อยกว่า 20 คน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่และเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเป็นวิธีการตามข้อ 83(2) เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่า 25 คะแนน จะขอให้มีการลงคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้”

นายมูหะมัดนอร์ ประท้วงว่า ความจริงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่สิ่งที่เป็นห่วงว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและจะเป็นปัญหาในการปฏิบัติตาม ถูกที่ประธานวินิจฉัยว่า เมื่อมีผู้เสนอนับใหม่ก็ให้นับใหม่ด้วยการขานชื่อ แต่ก็มีประเด็นว่ามีการกลับใจไปมาได้ แต่ไม่อยากเห็นคนประณามสภาว่าเมื่อจะเอาชนะคะคานให้ได้ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่ความเป็นความตาย สภามีแพ้แล้วนับใหม่เพื่อเอาชนะ ต่อไปก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีขอร้องฝ่ายที่เสนอนับใหม่

นายชวน ชี้แจงอีกครั้งว่า “ผมเห็นด้วยว่าการตั้ง กมธ.ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายอะไร ถ้าผมไม่ยึดข้อบังคับจะให้ผมทำอย่างไร เป็นข้อจำกัดที่ต้องเคารพ ผมเป็นตัวอย่างของการเคารพ ต้องยึดมั่นข้อบังคับ อย่าคิดว่าผมพอใจทุกเรื่อง แต่ไม่มีทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น ผมต้องการให้สภาเป็นตัวอย่างของการเคารพข้อบังคับ เราจะได้พูดได้เต็มปากว่า

“เมื่อเราเป็นฝ่ายกฎหมายเราต้องเป็นตัวอย่างเคารพกฎหมาย ความจริงสมัยก่อนก็เป็นอย่างนี้นับใหม่ พวกเราไม่พอใจเพราะเสียเวลา แต่ไม่มีทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น สมาชิกต้องเข้าใจอย่าคิดว่าผมลำเอียง ไม่เป็นกลาง ถ้าไม่เป็นกลางอยู่ไม่ได้ เพราะตำแหน่งอย่างนี้ ผมมาจากพรรคที่มีเสียงน้อย ผมต้องยุติธรรมกับทุกฝ่าย ผมถึงเตือนสมาชิกทุกคนว่าทุกอย่างยึดความถูกต้อง”

ขณะที่นายปิยบุตร ลุกขึ้นพูดตอนหนึ่งว่า “ซีกรัฐบาลคงเข้าใจว่าแพ้ก็คือแพ้ อย่าให้มีปัญหากับสภาแห่งนี้ไม่เช่นนั้นสภาแห่งนี้จะทำงานต่อไม่ได้”

ระหว่างที่นายชวน ขอให้ที่ประชุมสภาฯ ตั้งกรรมการนับคะแนนการลงมติแบบขานชื่อนั้น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ต่างลุกขึ้นยกมือประท้วงนายชวน พร้อมตะโกนส่งเสียงคัดค้านการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ นายชวนบอกว่า “รักษามารยาทนะครับ นี่ที่ประชุมสภาไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน”

ทำให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ขอหารือต่อที่ประชุมสภาโดยขอให้พักการประชุม 5 นาทีเพื่อหารือกันอีกครั้ง โดยนายชวน เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวและสั่งให้พักประชุมเป็นเวลา 15 นาที