สนธิรัตน์ : รับศึกซักฟอก-เขย่า ครม. เอาอยู่ 10 ก๊ก มั่นใจกุมเสียงใน-นอกรัฐบาล

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

สัมภาษณ์พิเศษ

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคใหม่ 425 วัน พรรคใหญ่ 117 เสียง พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค 254 เสียง แต่เพียงฝ่ามรสุมการเมืองเพียงลูกแรก (พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 วาระที่ 1) พรรคร่วมรัฐบาลเหลือ 16 พรรค 251 เสียง “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องรับทั้งศึกในพรรคพลังประชารัฐ-ศึกในพรรคร่วมรัฐบาล และศึกนอกพรรค-7 พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการฝ่ามรสุมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนธันวาคม

Q : พรรคพลังประชารัฐตั้งรับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไร เอาอยู่หรือไม่

โดยหลักการ พรรคคิดว่าเอาอยู่ แต่ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นคาดเดาได้ลำบาก ขึ้นอยู่กับข้อมูลของฝ่ายค้านที่จะอภิปรายจะมีอานุภาพกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

ถ้าพูดโดยหลักการขณะนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ค่อนข้างเร็ว เร็วจนกระทั่งการตัดสินรัฐบาลชุดปัจจุบันยังมีข้อมูลที่อาจจะไม่มากพอก็ได้ พูดเฉพาะเนื้อในรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ไปลากเนื้อรัฐบาลในอดีตมาขยายแผลเนื้อปัจจุบัน ความเป็นรัฐบาลปัจจุบันถือว่าเร็วมากผิดปกติ หนึ่ง งบประมาณปีཻ ยังไม่ได้เริ่มใช้ สอง ไม่มีภาพการทุจริตคอร์รัปชั่นรุนแรง

รัฐบาลไม่ได้ไปด้วยเรื่องของอภิปรายในประเด็นการบริหารงานมากนะ ยกเว้นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นที่จะมีผลอย่างมากต่อรัฐบาล รัฐบาลเพิ่งเริ่มตั้งต้น ยังไม่เห็นมีจุดอ่อนมากขนาดนั้น แต่เป็นการเปิดแผลการเมือง ขึ้นอยู่กับว่าแผลนั้นลึก-ใหญ่แค่ไหน ต้องซ่อมหรือไม่ ซ่อมกับอะไร

Q : พรรคต้องเจอกับมรสุมอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นภารกิจที่หนัก ที่พรรคไม่เคยรับมือมาก่อน
พรรคนี้ไม่เคยรับมืออะไรมาก่อน เพราะเป็นพรรคใหม่

Q : รับมือไหวหรือไม่

ที่ผ่านมาพรรคก็ผ่านไปได้ด้วยดีทุกครั้ง แม้กระทั่งการอภิปรายครั้งนี้ก็จะผ่านพ้นไปได้

Q : ผ่านได้เพราะมั่นใจพรรคในรัฐบาล หรือพรรคที่เป็นงูเห่า-เลี้ยงไว้ข้างนอก

มั่นใจในการบริหารจัดการ

Q : มั่นใจในใคร

มั่นใจในการบริหารจัดการไง (เสียงมีอารมณ์) ในทุกเรื่อง

Q : ในใจนึกถึงใครเวลาบอกว่ามั่นใจในการบริหารจัดการ

ก็…แปลว่าผ่านแล้วกัน (หัวเราะ)หลักง่าย ๆ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หน้าที่ คือ การบริหารเสียงให้ผ่าน มั่นใจในการบริหารจัดการว่าเสียงจะผ่าน

Q : ขณะนี้รัฐบาลมีเสียง 251 เสียงเท่านั้น

ก็ผ่านแบบปริ่ม ๆ นั่นแหละ

Q : ต้องผ่านแบบท่วมท้น แต่ถ้าผ่านแบบปริ่ม ๆ ไม่ Perform

ผ่านท่วมท้น บังเอิญว่ารัฐบาลตอบดีมาก (เน้นเสียงสูง) ก็อาจจะผ่านเสียงท่วมท้น

Q : นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในโผถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจะช่วยอย่างไร

ไม่แน่ใจ เดี๋ยวจะไปถามให้

Q : ล็อบบี้ได้ ไม่ให้โดนไหวไหม

เป็นเรื่องปกติ เป็นเกมของการเมือง ใครจะโดน ใครไม่โดน ไม่ใช่เรื่องของ performance อย่างเดียว เป็นเกมการเมืองในการวางกัน

Q : ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านวางใคร

แน่นอน การจะตีลูกระนาดก็ต้องวางเกมทางการเมืองอยู่แล้ว

Q : พรรคร่วมรัฐบาลทุบกันเละ ประเมินว่าจะเหนียวแน่นแค่ไหน

ถึงจะปริ่มน้ำ แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะมีเป้าหมายร่วม ประคับประคองก็จะอยู่ด้วยกันได้

Q : อะไรที่จะทำให้เรือแตกได้

(นิ่งคิดนาน) วันนี้ผมยังไม่เห็นอะไรที่จะทำให้เรือแตกได้นะ

Q : ศึกกับพรรคภูมิใจไทยหนักใจหรือไม่

ไม่มีอะไรมั้ง

Q : มั่นใจได้อย่างไร

ไม่มีอะไรหรอก

Q : คนการเมืองวิเคราะห์ว่า พรรคพลังประชารัฐช่วยเสียบ

พลังประชารัฐจะทำเพื่ออะไร

Q : เอากระทรวงเศรษฐกิจคืนหรือไม่

เพ้อฝัน การขยับ ครม.ใหม่ทุกครั้ง เผลอ ๆ ไปไม่ถึงดวงดาว ตอนนี้มันนิ่งแล้ว จะขยับทำไมอีก คนที่คิดจะขยับ… หนึ่ง รัฐบาลมา 3 เดือน ให้ทำงานดีกว่าไหม สอง ขยับแล้วมีประโยชน์อะไรในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำการเขย่าภูมิใจไทยเพื่อนำไปสู่การปรับ ครม. พรรคพลังประชารัฐจะทำเพื่ออะไร ในเมื่อรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ สถานการณ์เสียงปริ่มน้ำแบบนี้ต้องแตะให้น้อยที่สุด เพื่อประคับประคอง

ไม่มีเหตุผลว่า พลังประชารัฐจะได้ประโยชน์อะไร จากการไปเขย่า ทุกคนยอมรับ อยู่กันได้ และทุกอย่างเพิ่งเริ่มทำงาน เพิ่ง 3 เดือนเอง ผมจึงยังไม่เห็นประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐจะทำ และเป็นประโยชน์กับพลังประชารัฐ ดูเหมือนจะเป็นโทษกับพลังประชารัฐด้วยซ้ำ สุดท้าย ผมเชื่อว่าถ้าจบด้วยการเจรจากัน ต้องจบ จะบาดเจ็บด้วยกันทั้งคู่ทำไม

Q : ทำไมไม่ติดโผรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยม-ประชาชนรู้จัก

ติดยาก เพราะกระทรวงพลังงานไม่ใช่กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง ทุกข์สุขของชาวบ้านโดยตรง ความนิยมอย่าไปยึดถือเยอะ ต้องมองว่าเนื้องานเป็นประโยชน์กับรากหญ้าแค่ไหน ทำงานให้ดีที่สุด ผลงานจะเป็นตัวบอก

Q : เป็นเลขาธิการพรรค แถมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ แต่งานไม่ได้อยู่ในแถวหน้าพรรคเสียหน้าหรือไม่

ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป ถ้าทำงานแล้วได้รับความนิยมก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าทำงานแล้วความนิยมไม่ดีก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น สื่อสารถึงชาวบ้านให้มากขึ้น เพราะบางเรื่องชาวบ้านเข้าใจยาก ชาวบ้านต้องการราคาพลังงานที่ถูก ซึ่งทำไม่ง่าย ต้องใช้เวลา

Q : รัฐบาลอยู่มาแค่ 3 เดือน ชาวบ้านเจอปัญหาเศรษฐกิจจึงเหมือนว่ารัฐบาลอยู่นานจะเดินหน้าอย่างไร

เดี๋ยวเดือนธันวาคมจะแถลงผลงาน ผมเป็นรัฐมนตรี 2 วัน ผมใช้เวลา 60 วัน ทำให้บริษัทเชฟรอนระงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการไว้ชั่วคราว 180 วัน เพื่อเริ่มต้นเจรจาใหม่ ไม่ง่าย ต้องใช้แรงและความพยายาม คาดว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี

Q : แต่ฐานเสียงกลุ่มเป้าหมายต้องรู้

พูดเยอะไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยังอยู่ในกระบวนการมีครั้งใดบ้างที่กระทรวงพลังงานไปยุ่งกับฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน โซลาร์รูฟท็อปในชุมชน การแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน (B10 และ B20) โดยแก้ทั้งโครงสร้าง ก้าวต่อไปคือพืชพลังงานอีก 2 ตัว ได้แก่ อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มิตินี้ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ที่ผ่านมาเป็นพลังงานเพื่อนายทุน ทุกอย่างเพิ่งเริ่ม แต่เมื่อ impact เกิดเมื่อไหร่ ชาวบ้านจะจับต้องได้ ไม่เกิน 1 ปีหารัฐมนตรีพลังงานหาง่าย แต่หารัฐมนตรีพลังงานที่ทำเรื่องเศรษฐกิจฐานรากซิ หายากนะ

Q : ผลงาน-อภิปรายไม่ไว้วางใจจะนำไปสู่การปรับครม. เป็นแกนนำ-พรรคใหญ่ จะฝ่ามรสุมอย่างไร

ต้องดูว่าการอภิปรายครั้งนี้มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ผลของการอภิปรายไปกระทบกระเทือนโครงสร้างรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เช่น ทำให้เกิดความเสียหายอย่างเห็นได้ชัดทำให้เห็นความไม่เป็นประสิทธิภาพชัดเจนจุดใดจุดหนึ่ง อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนได้

การอภิปรายทำให้เห็นจุดอ่อนจนทำให้ต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเพื่อปิดจุดอ่อนเหล่านั้น จึงขึ้นอยู่กับผลของการอภิปราย แต่เร็วเกินไปที่จะพูดว่าควรทำอย่างไร ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านว่าจะอภิปรายจนทำให้เกิดผลอะไร อย่างไร

Q : 3 เดือนของรัฐบาล เกมเขย่าเก้าอี้เลขาธิการพรรคไปถึงไหน พรรคนิ่งหรือยัง

การเมืองก็เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดา พลังประชารัฐเป็นพรรคใหญ่ เกิดเร็ว สมาชิกหลากหลาย ต้องใช้เวลาปรับตัว พรรคจะดีขึ้นเรื่อย ๆเป็นเรื่องปกติ พออยู่กันไป มีการพูดกันไปพูดกันมา เป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ต้องค่อย ๆ ปรับตัวก็เห็นอยู่แล้วว่า พรรคมันหลายก๊ก 10 ก๊ก ก๊กก็อยากจะมีพลัง ก๊กก็อยากจะมีบทบาท เป็นธรรมชาติ

Q : ถ้าเปลี่ยนเลขาฯพรรคสำคัญมาก

ผมในฐานะเลขาฯพรรคตอบอะไรไม่ได้

Q : การเป็นเลขาฯพรรคก็ต้องรับทั้งศึกนอก-ศึกใน ศึกในมีก๊กมากมาย ศึกนอกพรรคร่วม-พรรคฝ่ายค้าน

ก็เป็นไปตามดีไซน์มั้ง รัฐธรรมนูญนี้ทำให้เกิดแฟ็กชั่นเยอะ ย่อมมีปัญหาเยอะเป็นธรรมดา แต่ด้านดีก็มี ถึงจะมีปัญหาจุกจิก แต่โอกาสแตกหักไม่ถึงเด็ดขาด แฟ็กชั่นเยอะ หมุนไปหมุนมาได้

Q : หมุนจากฝ่ายค้าน (งูเห่า) มา

เป็นธรรมชาติ เป็นวิธีบริหารมิติเดิม ๆ รูปแบบเดิม ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมา

Q : หนักใจหรือไม่พรรคเจอศึกรอบด้าน ทางหนึ่งต้องตั้งรับเรื่องการเมือง อีกทางหนึ่งเป็นปัญหาเศรษฐกิจ

เป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจมากกว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงรัฐบาลไม่เก่ง หรือไม่ดี แต่เป็นเพราะสภาวะแวดล้อมทั่วโลกไม่เอื้อต่อการบริหารเศรษฐกิจ รวมทั้งตัวเราเองที่ต้องแก้ปัญหาภายในและปรับตัวเพื่อบริหารเศรษฐกิจให้เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจใหญ่เกินไปกว่าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะรับปัญหาได้ ต้องช่วยกัน

ส่วนปัญหาการเมืองก็แก้ด้วยการเมือง การเมืองเกิดขึ้นทุกวัน ถ้าเข้าใจการเมืองก็แก้ด้วยการเมือง การเมืองเกิดขึ้นก็ดับไป เปลี่ยนไป หมุนเวียนกันไป