วงเสวนา มธ.ชี้ ประชามติ รธน. แค่นวัตกรรม คสช.ส่งเสริมประชาธิปไตยไทยๆ

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนานักวิจัยรุ่นใหม่ รัฐศาสตร์หลากฉากทัศน์ “รัฐธรรมนูญซ่อนกลกับพิธีกรรมประชามติ : การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559” นำเสนอโดย น.ส.หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ มหาบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยมี ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการเมืองการปกครอง ม.ธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์

น.ส.หทัยกาญจน์ นำเสนองานวิจัยว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากคำถามที่ว่า ประชามติที่แท้คืออะไร และประชามติที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคือประชามติที่แท้หรือไม่ เพราะเกือบ 88 ปีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ประชาธิปไตย เกิดประชามติ 2 ครั้งเท่านั้นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 8 ฉบับ มี 2 ครั้งเท่านั้นเกิดขึ้นจริง คือปี 2550 กับปี 2559 ซึ่งทั้งสองครั้งเป็นการประชามติภายใต้บริบทรัฐประหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ 61.35% ต่อ 38.65% หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาบอกทันทีเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เหมือน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2549 ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตของปัญญาชน นักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง ว่า กระบวนการประชามติที่เกิดขึ้นซึ่งควรจะให้ประชาชนใช้อำนาจทางตรงสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ให้กฎหมายแม่บท กลายเป็นเครื่องมือหรือกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช. หรือไม่

“นัยยะทางการเมืองประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่ใช่เจตนารมณ์แรกของ คสช. แต่ก่อรูป 3 วันก่อนจะครบ 1 ปี คสช.ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เปิดทางให้มีการทำประชามติให้ได้ก่อน เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกเผยแพร่ออกมามีพรรคการเมือง 2 พรรค คือ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ซึ่งมีฐาน 27 ล้านคน จึงเกรงกันว่าถ้าเอาร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติจะถูกคว่ำหรือไม่ ผลที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญไปไม่ถึงชั้นประชามติ เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชิงลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อน นำมาสู่นิยามแรกที่เป็นนัยยะทางการเมืองในขณะนั้นว่า รัฐธรรมนูญมีแนวโน้มไม่ผ่าน คสช.ก็อาจจะไม่ให้มีกระบวนการประชามติหรือไม่ การจบลงของร่างรัฐธรรมนูญบวรศักดิ์สะท้อนนัยยะทางการเมือง”

น.ส.หทัยกาญจน์ กล่าวว่า มาถึงร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ยืนยันว่าต้องทำประชามติ เพราะสร้างการรับรู้แก่ประชาชน และยังเป็นหลักประกันที่ประชาชนเห็นดีเห็นงามด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่าตอนที่ คสช.ไม่ได้กำหนดประชามติตั้งแต่ต้น เพราะไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าเขียนออกมาประชาชนไม่พอใจแล้วไปเขียนประชามติเอาไว้ก่อนก็จะเสียเวลาโดยใช่เหตุ ดังนั้น การทำประชามติมาเพื่อดึงประชาชนเป็นหลังพิงให้กับร่างรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นหลังรัฐประหาร และเป็นเครื่องมือที่ทำให้วาระในใจ คสช.เป็นจริงโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

“กรอบที่ คสช. 13 ประเด็นที่ คสช.ส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งอาจารย์มีชัยยอมรับเองว่า ครั้งแรกที่ได้รับข้อเสนอจาก คสช.เกิดความทุกข์ทั้ง กรธ.เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ จึงต้องรับหน้าที่ไปอธิบายให้ คสช.เข้าใจว่าอันไหนเป็นไปได้หรือไม่ได้ ซึ่งยังกระซิบโฆษก กรธ.นายอุดม รัฐมฤต ว่าตกลงเราจะเขียนรัฐธรรมนูญที่ดีหรือรัฐธรรมนูญที่ผ่าน แต่ถึงจะมีความรู้สึกอย่างไรก็ไม่ใช่ กรธ.จะปฏิเสธความต้องการของ คสช.ได้”

ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เหมือนจะไม่มีบทบาท แต่จริงๆ มีบทบาทมาก เพราะเป็นผู้เปิดประตูให้เอารัฐธรรมนูญฉบับถาวระไปทำประชามติ เพราะมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่ง 2 ครั้งเกี่ยวข้องกับการทำประชามติ และมีการเสนอให้ตั้งคำถามพ่วงประชามติ ซึ่งผ่านการลงประชามติของประชาชน สิ่งที่อาจารย์มีชัยเฉลยกับผู้วิจัยว่า “ถ้าคำถามพ่วงไม่ผ่านก็ไม่รู้จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่เมื่อประชาชนเอาเราก็เขียนให้ตามที่ประชาชนเอา เมื่อมีกระบวนการแล้วไปผ่านกระบวนการมาบังคับให้เราเขียนจะโทษเราไม่ได้ เราเขียนตามคำบอก” เป็นที่เฉลยว่าการที่ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯได้ เพราะ กรธ.เขียนตามคำบอก สนช.เป็นผู้ทำให้ธงในใจของ คสช.เป็นจริง

น.ส.หทัยกาญจน์ ยังนำเสนอว่า กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อครองอำนาจนำในสนามประชามติโดยฝ่ายผู้มีอำนาจใช้กำลังคนในการสื่อสาร ผ่านเครือข่ายสื่อบุคคลของฝ่ายอุดมการหลักช่วงประชามติ มากถึง 1.93 ล้านราย ขณะที่ช่องทางการสื่อสาร กกต.ใช้สื่อ 8 ช่องทาง เช่น ครู ก.ข.ค.สื่อซ้ำซ้อน สับสนกับครู ก.ข.ค.ของ กรธ. เวทีประชามติในค่ายทหาร ประชาชนไร้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้แค่บทคัดย่อ แอปฯ ฉลาดรู้ “ห้ามไม่รับร่างฯ” เพลง “กดเหยียดทางภูมิภาค” ที่บอกว่า ประชาชนคนเหนือ อีสานอย่าให้ใครมาชี้นำ สุดท้ายต้องแก้บทเพลง

ส่วน กรธ. ใช้สื่อ 6 ช่องทาง แปลงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นกระบอกเสียง มี ครู ก.ข.ค. เป็นสื่อไม่ครบ 100% มีการแปลงสาร เพลง 4 ภาค ถูกวิจารณ์ปมเรียนฟรีไม่จริง ส่วน สนช.ใช้สื่อ 4 ช่องทาง ใช้ยุทธวิธีขายเหล้าพ่วงเบียร์ ขอโดยสารเวที กรธ. Mv เพลงไม่เป็นกลาง โชว์กากบาท “เห็นด้วย” กับรัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐบาลมี 6 หน่วยงานหลัก มหาดไทย ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการเผยแพร่เป็นผู้ช่วย กกต. ปลัดกระทรวงมีคำสั่งไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดว่า จ.ไหนโหวตโน หรือ โหวตเห็นด้วย ขณะที่กระทรวงศึกษา พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการขณะนั้น ให้ข้าราชการออกไปประชามติถ้าไม่ไปจะจำไว้ในใจ

รัฐบาล คสช.อาศัยความเป็นผู้บริหารควบคุมทิศทางประชามติ ผ่านเครือข่ายสื่อสารส่วนบุคคลและทิศทางการสื่อสารขณะที่พรรคการเมือง ออกแถลงการณ์ 9 ฉบับ แต่ไร้แถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย ออกแคมเปญ 17 แกนนำโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าวแสดงจุดยืนไม่รับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคขณะนั้น แต่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นช่วง 12 วันสุดท้าย

น.ส.หทัยกาญจน์ สรุปบทเรียนของผู้นำความคิดถึงปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ คสช.ในสนามประชามติ ว่า ไว้ใจ + ชอบใจ พล.อ.ประยุทธ์ กลัวความไม่สงบ กลัวความวุ่นวายหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ กลัวไม่ได้เลือกตั้งกลับอยากให้ คสช.พ้นไป กลยุทธ์ที่เหนือกว่าของฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐในการใช้สื่อ

“ประชามติที่เกิดขึ้น เป็นอีกครั้งที่ส่งเสริมระบอบการปกครองแบบไทยๆ ที่สุดได้นายกฯ คนเดิม ได้ ส.ว.คล้ายๆ สนช.เดิม ทุกองคาพยพที่เราเห็นตั้งแต่รัฐประหาร 2557 แทบจะอยู่ในสภาพเดิม แต่รัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นกติกาสูงสุดสำหรับคนไทยทุกคน ถูกตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่า สุดท้ายเป็นเพียงกลไกฝ่ายสืบทอดอำนาจนิยม แต่กระบวนการประชามติเป็นนวัตกรรมที่ คสช.สร้างขึ้นเพื่อกอบกู้และส่งเสริมประชาธิปไตยแบบไทยๆ ให้อยู่กับสังคมไทย”

ศ.ดร.เกษียร กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้อยากตั้งชื่อว่า The Constitution Referendum Did Not Take Place การประชามติรัฐธรรมนูญไม่เคยเกิดขึ้นจริง ถ้ารัฐธรรมนูญหมายถึงตัวบท เนื้อหา เรื่องสำคัญที่สุดที่ชี้ขาดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตัวเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่เป็นบริบทที่ล้อมการลงประชามติ ที่เขาโหวตเอาไม่ใช่เพราะชอบ 309 มาตรา หรืออ่านเข้าใจ แต่เพราะที่เขาโหวตเพราะทำให้เขากลัว เป็น context of fear เป็นอิทธิพลของบริบทที่ถูกสร้างขึ้นเหนือเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ต่อผู้ลงคะแนนทั้งหลาย ผู้เบื่อความขัดแย้งทางการเมืองไม่อยากกลับสู่วังวนเก่าๆ ร่างรัฐธรรมนูญถูก selected edited truncate reduced ผ่าน selective communication หรือสื่อสารเป็นจุดๆ ที่คนไทยน่าจะชอบ แต่มีหลายจุดที่ไม่พูดถึง กลัวอดีตความวุ่นวาย กลัวม็อบ กลัวทักษิณ ไม่พูดเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญเท่าไหร่ แล้วเอาบริบทนี้มาล้อมบีบคน ดังนั้น จึงไม่ใช่การโหวตให้กับตัวเนื้อหารัฐธรรมนูญ

“มันทำให้การลงประชามติกลายเป็นอื่น ข้อสรุปวิจัย ตัวประชามติกลายเป็นอื่นที่ไม่ใช่ประชามติ เป็นประชามติที่ถูกควบคุม ไม่อิสระ ส่งเสริมคนที่มีอำนาจอยู่แล้วให้กุมอำนาจมากขึ้น เป็นสนามการวัดกระแสนิยมของประยุทธ์ เวทีสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร กระบวนการสร้างความสงบความมั่นคงให้ชาติ ที่ทำดูจากภาพภายนอกเหมือนการทำประชามติ แต่ผลของมันที่สำคัญกว่านั้นวัดว่าคน พล.อ.ประยุทธ์แค่ไหน ประชามติไม่ใช่ประชามติ มันอาจเป็นมติลงประชา มีมติที่มีเรียบร้อยแล้วมาลงให้ประชาชน” ศ.ดร.เกษียร กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าวว่า ฝ่ายรัฐใช้สื่อเยอะมาก แม้แต่สื่อเพลง ยังใช้สื่อศิลปินท้องถิ่น เราเห็นชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายของรัฐในการลงประชามติ คือ ท้องถิ่นหรือไม่ เน้นที่สื่อเพลงมีการทุ่มเงินเยอะมากในการซื้อสื่อดั้งเดิม ซึ่งไม่ active แล้ว หรือกลยุทธ์ฝ่ายรัฐใช้สื่อไม่เป็น ขณะที่ไม่ใช่รัฐมีการใช้สื่อออนไลน์เยอะมาก เช่น กรณีพรรคเพื่อไทย ที่ให้แกนนำโพสต์เฟซบุ๊กพร้อมกัน เป็นกลยุทธ์ของการสื่อสาร แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังใช้สื่อดั้งเดิม ให้สัมภาษณ์และการแถลงข่าว เห็นได้ถึงช็อตการเลือกตั้งว่าทำไมพรรคอนาคตใหม่ถึงชนะเลือกตั้ง คะแนนถึงออกมาเป็นแบบนี้ เพราะใช้สื่อใหม่เป็น