
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการออกมาเยียวยาทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เร่งด่วนสำหรับประชาชนทุกกลุ่มไปแล้ว ล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะที่ 3 อีก เพื่อรักษา เยียวยา และเตรียมความพร้อมของประเทศในทุกมิติเป็นวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ต่อจีดีพี
ประกอบด้วย 1.การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 3 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อจัดซื้อ จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรคและสนับสนุนการทำงานและงานวิจัย และแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบครอบคลุมประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง วงเงินรวม 6 แสนล้านบาท
แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การสร้างงานใหม่ การกระตุ้นการบริโภค การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาในระยะยาว วงเงินรวม 4 แสนล้านบาท
2.การออก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบ้าน ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และป้องกันไม่ให้เกิดนัดผิดรับชำระหนี้ของภาคธุรกิจในวงกว้าง
นอกจากนี้ยังมีการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอี 6 เดือน และปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งมีเอสเอ็มอีเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ 1,700,000 ราย และจะช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้
3.การออก พ.ร.ก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางธุรกิจที่อาจจะลุกลามส่งผลร้ายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้
4.การเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 โดยให้หน่วยรับงบประมาณปรับลดงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภัยแล้ง และภัยพิบัติอย่างอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ โดยครม.จะเร่งเสนอร่างพ.ร.บ.ฯ โดยเร็วและคาดว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายได้ไม่เกิน กลางเดือน มิ.ย.63
“การใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ หรืองบประมาณใดก็ตามที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ในการสาธารณสุข เยียวยา ดูแล ฟื้นฟูประชาชนทุกภาคส่วน จะมีคณะกรรมการพิจารณา ติดตาม กำกับ ดูแล คัดแยก เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ ศบค.ได้นำเข้า ครม. เพื่ออนุมัติก่อน จึงจะดำเนินการได้”