“บิ๊กตู่” ลั่น บนเวทีผู้นำอาเซียน พร้อมหนุนบทบาทสตรี ดันเสมอภาคทางเพศในยุคดิจิทัล

เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่อง การเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยเป็นการหารือร่วมกันเพื่อร่วมกันเสนอแนะแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพสตรี สนับสนุนบทบาทสตรีในการร่วมสร้างประชาคมอาเซียน

นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุม กล่าวเปิดการประชุมว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างภูมิใจในความกล้าหาญของสตรีในการนำมาซึ่งเสถียรภาพและสันติภาพ ปัจจุบันสตรีมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่สังคม และประเทศ ในปีนี้เวียดนามให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามพันธะกรณีในการเสริมสร้างบทบาทสตรีเพื่ออาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีข้อเสนอ 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมสตรีในทุกกระบวนการ ทั้ง 3 เสาหลักของอาเซียน ,ส่งเสริมสตรีในการรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการสร้างสภาพแวดล้อมและส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมและการวิจัย

จากนั้นผู้นำอาเซียนได้ต่างเสนอความเห็นต่อการเสริมสร้างบทบาทสตรีอย่างกว้างขวาง

โดยเวลา 15.20 น.พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไทยชื่นชมเวียดนามที่ตระหนักถึงความสำคัญ ส่งเสริมบทบาทสตรีและกำหนดให้ การส่งเสริมศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมผู้นำอาเซียน สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (พ.ศ. 2573) ในเป้าหมายที่ 5 คือการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ เสริมสร้างศักยภาพสตรีและเด็กหญิง เช่นเดียวกับนโยบายของไทยที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพสตรีเป็นส่วนสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดทำแผนการพัฒนาสตรีภายใต้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560-2564

ด้านเศรษฐกิจ ไทยส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการของสตรีผ่านการสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล หรือ AWEN เพื่อสร้างเครือข่ายและขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสตรีและไทยได้ดำรงตำแหน่งประธาน AWEN สากล ในวาระปี ค.ศ. 2018-2020 (พ.ศ.2561-2563) รวมทั้งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2563 ภายใต้หัวข้อ “พลังสตรีพลิกเศรษฐกิจ”เพื่อเชื่อมพลังสตรีจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำสตรีทั้งในภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาคความมั่นคง รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการขจัดอุปสรรคความก้าวหน้าของสตรีประเทศไทยได้บังคับใช้ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม ป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศในการทำงาน และส่งเสริมเจตคติที่เคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่น การขจัดอคติทางเพศในกระบวนการศึกษา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนั้น ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลไทยเตรียมมาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย คนยากจน กลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ โดยให้ความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาความเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม อาเซียนควรให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1.อาเซียนควรส่งเสริมเข้าถึงแหล่งเงินทุนสตรีที่ประกอบวิสาหกิจทั้งขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยเพื่อส่งเสริมสตรีมีรายได้และพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเท่าที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประการที่ 2 อาเซียนควรส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทด้านการสาธารณสุขโดยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสตรีในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. ที่เข้มแข็งทางการทำงานในเชิงป้องกันและการต่อสู้กับการแพร่ระบาดในชุมชน ดังนั้น จึงถือว่าเป็นหน้าด่านและทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี เพราะมีมตรีอสม.จำนวนหลายล้านคนเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย สุดท้ายนี้ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าของสตรี ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์