ไส้ในงบฯปี’65 ตุนกระสุนก่อนยุบสภา 9 ปี “บิ๊กตู่” กองทัพอู้ฟู่ 1.9 ล้านล้าน

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงินกว่า 3.1 ล้านล้านบาท กำลังจะเป็น “วาระร้อน” เพราะเป็น “กฎหมายการเงิน” ที่ส่งผลถึงการอยู่-การไปของรัฐบาล ซึ่งจะเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาวาระแรกวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2564

ดาบสองของพรรคฝ่ายค้าน-ฝ่ายค้านในรัฐบาล หาก “ปิดดีล” จัดสรรงบประมาณลงในพื้นที่ฐานที่มั่นในชั้นคณะกรรมาธิการ-ขั้นแปรญัตติ “ไม่ลงตัว” ไฟต์บังคับ-แนวร่วมมุมกลับ คว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี’65-ยุบสภา

เพราะเหตุสัญชาตญาณของพรรครัฐบาล-พลังประชารัฐแล้วว่า “อำมหิต” เก็บทุกเม็ด-ทุกดอก เพราะชิงความได้เปรียบทางการเมือง ทั้งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาล่าง-สภาบน

สำหรับงบประมาณปี’65 ที่ถูกจับจ้องมากที่สุด เช่น งบฯกลาง จำนวน 571,047,326,800 บาท อาทิ ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท

แต่หากจะนับเฉพาะ “งบฯกลางฉุกเฉิน” ที่ พล.อ.ประยุทธ์สามารถหยิบใช้ได้ทันที รวม 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ใช้เงินงบฯกลางไปแล้วกว่า 780,697 ล้านบาท ประกอบด้วย

ปี’65 วงเงิน 89,000 ล้านบาท ปี’64 วงเงิน 99,000 ล้านบาท (ไม่รวมงบฯบรรเทา แก้ปัญหาและเยียวยาโควิด 40,325 ล้านบาท) ปี’63 วงเงิน 96,000 ล้านบาท ปี’62 วงเงิน 99,000 ล้านบาท ปี’61 วงเงิน 91,423 ล้านบาท

ปี’60 วงเงิน 90,985 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี’60 เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 22,921 ล้านบาท ปี’59 วงเงิน 103,545 ล้านบาท และปี’58 วงเงิน 88,823 ล้านบาท

กระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ 95,980,159,000 บาท แบ่งเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 5,159,900,900 บาท กองทัพบก 39,694,972,200 บาท กองทัพเรือ 18,632,080,800 บาท กองทัพอากาศ 24,932,604,900 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 7,410,600,200 บาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 150,000,000 บาท

งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 105,034,561,800 บาท แบ่งออกเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 4,035,147,400 บาท กองทัพบก 58,891,833,600 บาท กองทัพเรือ 21,282,934,400 บาท กองทัพอากาศ 13,457,939,800 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 7,100,988,600 บาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 265,718,000 บาท

นับย้อนหลัง 9 ปี กองทัพภายใต้ร่มเงาของ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 1,891,959 ล้านบาท

ส่วนความน่าสนใจของงบฯองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 77,809,173,500 บาท หลังจากการเมืองท้องถิ่นถูกแช่แข็งมาร่วม 7-8 ปี งบประมาณในปี’65 จึงเป็น “เค้กก้อนแรก” ที่ถูกใช้ลงไปด้วยตัวแทนของประชาชนอย่างเต็มที่

อปท.รูปแบบพิเศษ 23,176,982,000 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 21,563,590,600 บาท เมืองพัทยา 1,613,391,400 บาท

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้แก่ อบจ.ในพื้นที่ภาคกลางตอนบน 625,896,200 บาท ภาคกลางปริมณฑล 820,944,700 บาท ภาคกลางตอนล่าง 1 จำนวน 376,262,100 บาท ภาคกลางตอนล่าง 2 จำนวน 420,643,600 บาท

ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 887,088,900 บาท ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 746,156,800 บาท ภาคใต้ชายแดน 350,069,700 บาท ภาคตะวันออก 1 จำนวน 738,748,000 บาท ภาค
ตะวันออก 2 จำนวน 787,534,500 บาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จำนวน 758,050,100 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 จำนวน 458,347,700 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง 1,780,095,000 บาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 จำนวน 2,548,628,200 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 1,641,002,600 บาท

ภาคเหนือตอนบน 1 จำนวน 650,549,400 บาท ภาคเหนือตอนบน 2 จำนวน 589,374,200 บาท ภาคเหนือตอนล่าง 1 จำนวน 541,665,800 บาท ภาคเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 504,701,500 บาท เทศบาลนคร 13,648,545,000 บาท เทศบาลเมือง 25,757,887,500 บาท

สำหรับงบประมาณที่เปรียบเสมือนเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ของทุกรัฐบาลที่จะใช้สอยเพื่อรักษา “คะแนนนิยม” ทั้งในช่วงเป็นรัฐบาล-ก่อนยุบสภา อย่าง “งบฯทุนหมุนเวียน” ในปี’65 มีจำนวน 195,397,849,400 บาท อาทิ

กองทุนการออมแห่งชาติ 300 ล้านบาท กองทุนจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ 40 ล้านบาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 5,652,287,400 บาท กองทุนหมู่บ้าน-ชุมชนเมืองแห่งชาติ 124,675,100 บาท

กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 579,190,100 บาท กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม 30,000 ล้านบาท กองทุนผู้สูงอายุ 63 ล้านบาท

กองทุนจัดรูปที่ดิน 935 ล้านบาทกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 500 ล้านบาท กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 140,550,194,000 บาท

หากเปรียบเทียบ “กองทุนบัตรทอง” รัฐบาล 6 ยุค ยุคทักษิณ-ต้นตำรับ 30 บาทรักษาทุกโรค ปี’47-ปีแรกของนโยบายบัตรทอง จำนวน 29,727 ล้านบาท ปี’48 จำนวน 35,796 ล้านบาท และปี’49 จำนวน 39,666 ล้านบาท

คั่นด้วยยุค คมช.-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯขิงแก่ ปี’50-งบบัตรทองกลับพุ่งพรวด จำนวน 75,125 ล้านบาท ปี’51 จำนวน 76,598 ล้านบาทและยุครัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี’52 จำนวน 80,597 ล้านบาท

ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี’53 จำนวน 89,384 ล้านบาท ปี’54 จำนวน 101,057 ล้านบาท ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี’55 วงเงิน 107,814 ล้านบาท ปี’56 วงเงิน 108,744 ล้านบาท และปี’57 วงเงิน 115,176 ล้านบาท

ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปี’58 จำนวน 114,963 ล้านบาท ปี’59 จำนวน 123,009 ล้านบาท ปี’60 จำนวน 123,465 ล้านบาท ปี’61 จำนวน 126,533 ล้านบาท ปี’62 จำนวน 134,269 ล้านบาท ปี’63 จำนวน 140,533 ล้านบาท ปี’64 วงเงิน 142,364 ล้านบาท และปี’65 วงเงิน 140,550 ล้านบาท

ขณะที่กระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 10 อันดับในปี’65 ได้แก่ 1. กระทรวงศึกษาธิการ 332,398 ล้านบาท 2. กระทรวงมหาดไทย 316,527 ล้านบาท 3. กระทรวงการคลัง 273,941 ล้านบาท 4. กระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท 5. ทุนหมุนเวียน 195,397 ล้านบาท

6. กระทรวงคมนาคม 175,858 ล้านบาท 7. กระทรวงสาธารณสุข 153,940 ล้านบาท 8. รัฐวิสาหกิจ 130,586 ล้านบาท 9. กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 124,182 ล้านบาท

และ 10. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี 122,729 ล้านบาท

สุดท้ายแล้ว เมื่อไม่มีพรรคการเมืองไหนอยากเลือกตั้ง กลับบ้านมือเปล่า-คว้าน้ำเหลว


พรรครัฐบาล-พรรคฝ่ายค้านคง “ซูเอี๋ย” เพื่อตุนกระสุน-เสบียงลงหว่านในพื้นที่ฐานที่มั่น-หวังผลคะแนนนิยมเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า