บก.ลายจุด : “ประยุทธ์” ไม่มีทางชนะมวลชนเป็นล้าน ต้องยุบสภา-ปฏิวัติ

สัมภาษณ์ : โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

“สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บก.ลายจุด ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเขาเคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร ต้านเผด็จการ ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึง 22 พฤษภาคม 2557 เขาเป็น 1 ในหลายคนถูกจับขึ้นศาลทหาร ข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาพยายามผ่าตัดการเมืองรูปแบบเก่า ๆ จุดพลุปฏิรูปการเมืองคุยกับหัวขบวนฝ่ายไพร่ และตัวแทนอำมาตย์ หนึ่งในนั้นคือ “ทักษิณ ชินวัตร”

กระทั่งปัจจุบัน ม็อบนิสิต นักศึกษา นักเรียน ปะทุขึ้นทุกจุด ขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยื่นเงื่อนไขหลัก3 ข้อ หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญยุบสภา และ 2 จุดยืน กับอีก 1 ความฝัน

“สมบัติ” สนทนากับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำเกินกว่าที่เขาพยายามปฏิรูปการเมืองในอดีตไว้มาก

คลื่นลูกใหม่ปฏิวัติการเมือง

เด็กทำเกินผม เมื่อก่อนคิดว่ากลุ่มที่อยู่ในชนชั้นนำ กลุ่มการเมืองทั้งหลาย ถ้ามีสำนึกที่จะต้องปรับเปลี่ยนแล้ว ผมได้แค่ชงเรื่องให้พรรคการเมืองขับเคลื่อนต่อ แต่รอบนี้ ในเชิงประเด็นเด็กเสนอเป็นรูปธรรมมาก ไม่ใช่แตะเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่การขยับปรับปรุง เพลงเพื่อชีวิตบนเวที หงา Hope บนชุมนุมจะไม่มี มี EDM แรป เปลี่ยนยุคนะ การสื่อสารก็เปลี่ยน ทวิตเตอร์ แฮชแท็ก ไม่ใช่ธรรมดา จะ reen-gineering

“สมบัติ” เชื่อว่า ดอกผลของม็อบเยาวชน จะทำให้เกิด “การเมืองแบบมีส่วนร่วม” การรับฟังสูง ต่อไปนี้นโยบายต้องออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม หรือการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากขึ้น เพราะมีคำถามเต็มไปหมด ทำไมไม่สร้างสิ่งนี้ ทำไมทำสิ่งนี้

“ต่อให้การชุมนุมรอบนี้ไม่สำเร็จ เขาก็จะอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกหลายปี เด็กมัธยมก็จะไปอยู่มหาวิทยาลัย เด็กประถมก็จะอยู่ในมัธยม คลื่นลูกนี้จะยาว 7-10 ปีแน่นอน ปิดประตูแพ้ในเวลาสั้น ๆ แม้ไม่สำเร็จ แต่คลื่นลูกนี้ยาวเหยียด ไม่จบสิ้น แล้วจะกลับมาใหม่เมื่อไม่บรรลุก็จะกลับมาท้าทายรัฐบาลเสมอ….เหนื่อย”

“ส่วนนักการเมืองก็ทำแบบเดิมไม่ได้ รอบนี้ขี่คอทั้งพรรคก้าวไกล เพื่อไทย ไม่เคยมีแบบนี้ เป็นการนำขี่คอเขา แล้วพรรคการเมืองต้องตาม พรรคการเมืองไม่ทัน เป็นขบวนจริง ๆ พรรคการเมืองไม่สนใจไม่ได้ เพราะมีกลุ่มก้อนจริง มวลชนมาแล้ว เติบโต”

ข้อเรียกร้องนักศึกษาเป็นไปได้

กับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา 2 จุดยืน ไม่เอารัฐประหาร-รัฐบาลแห่งชาติ 1 ความฝัน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทุกข้อเรียกร้อง “บก.ลายจุด” ยืนยันว่า ทุกข้อเป็นไปได้ทั้งหมด

เพียงแต่ความเป็นไปได้นั้น รอสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจต่อรอง” เมื่ออำนาจต่อรองถึงจุดหนึ่งแล้ว หมายความว่าบีบคั้นให้รัฐบาลเจรจา แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ตอบสนองต่อสิ่งนี้ ปริมาณยังมาไม่ถึง แรงกดดันยังมีไม่เพียงพอ แต่ไม่ใช่รัฐบาลมองไม่เห็นนะ รัฐบาลมองเห็นอนาคตแล้วว่า จะมีพลังที่จะเติบโตขยายไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งรัฐบาลต้องเจรจา หาทางออก

ถามว่าต้องชุมนุมขนาดไหนถึงบีบให้รัฐบาลเจรจา “สมบัติ” นิ่งคิด ก่อนตอบว่า “ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะ…อ่อนไหว หรือเอาจริง ๆ ในสังคมประชาธิปไตย เรื่องแค่นี้ต้องเจรจาแล้ว แต่พอเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เขามีความถึก ความทน ในการไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง”

“ถามว่าขนาดไหนรัฐบาลประยุทธ์ถึงลงมาตอบสนอง ต้องหมดความชอบธรรมในระดับที่สูงมาก แต่จะออกถึงขนาดว่าพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวออกจากรัฐบาล หรือเกิดการชุมนุมของเด็กนักเรียนที่ไม่เข้าโรงเรียน ซึ่งผมเดาว่าจะเกิดการชุมนุมนอกโรงเรียน เด็กออกจากบ้านไม่ไปโรงเรียน โอ้โห…มันหมดความชอบธรรมนะ ม็อบผู้ใหญ่ ม็อบชาวบ้านก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าม็อบเด็ก ม็อบปัญญาชนน่ากลัว”

ออกมาเป็นล้านถึงล้มรัฐบาลได้

ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลพยายามปลดชนวนร้อนแรงของม็อบ เล่นตามเกมข้อเรียกร้อง “แก้รัฐธรรมนูญ” ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถือว่าเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องของม็อบที่สมเหตุสมผลหรือไม่

“สมบัติ” ตอบว่า เป็นไปได้ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าพลังต่อรองภายนอกสูงพอ และต้องสูงมาก ไม่ใช่แค่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภา แต่ต้องปิดประตูให้รัฐบาลไม่ทำไม่ได้ แต่ ณ เวลานี้แรงกดดันยังไม่ถึง ต้องรวบรวมฉันทามติของสังคมใหญ่กว่านี้มาก ๆ ต้องเดินขบวนกันเป็นล้านคน รัฐบาลไปไม่ได้เลยจนใครไม่อยากกอดรัฐบาลแล้ว

ทว่า รัฐบาลเริ่มปลดชนวนแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร. และ 250 ส.ว.ก็เสียงอ่อยยอมยกมือให้ แต่หลังจากการชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน ของกลุ่มประชาชนปลดแอก กลุ่มนักศึกษาควร “หยุดรอดู” หรือ “ยกระดับชุมนุม” ?

คำแนะนำของ “บก.ลายจุด” คือ “ยกระดับเลย เพราะม็อบไม่คงระดับ ธรรมชาติม็อบคงระดับไม่ได้ ถ้าคงระดับจะถดถอย ถ้ายกระดับได้แสดงว่ามีพลัง คนชั้นกลางที่จะต้องมาร่วมด้วย กรรมกร คนชนบท พรรคการเมืองฝ่ายค้านต้องร่วม ข้าราชการต้องร่วม แต่ข้าราชการไม่กล้าออกเลย มีแต่ทัพหน้าคือ เด็ก เยาวชน ออกมา”

ดังนั้น ลำพังมีแค่ “ทัพหน้า” อย่างเดียวไม่พอ ต้องมี “ทัพหลวง” คือ ทั้งสังคม เพราะวันนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนรัฐบาล แต่เปลี่ยนกติกา เปลี่ยนมาตรฐานทางการเมือง ดังนั้น ต้องการพลังที่สูงมาก ต้องเป็นฉันทามติแบบ 70% ไม่ใช่ครึ่งหนึ่ง หรือ 60% ก็เอาไม่อยู่ คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องใหญ่มาก ๆ ที่บอกว่า ใช่…เปลี่ยนได้แล้ว

“ยังต้องรอทัพอย่าง กปปส. อีกจำนวนไม่น้อย รอบนี้แม้แต่คนที่เคยไปเป่านกหวีด ตัวเจ็บ ๆ บางคน เช่น นพ.สุภัทร (ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ) หรือคนที่เป็นแกนนำระดับตัวหลัก ๆ ใน กปปส. ยังไม่เห็นการเคลื่อนตัวของ รสนา (โตสิตระกูล) หรือ พิภพ (ธงไชย) ที่น่าจะออกมาได้ ผมเชื่อว่าเขาโปรเด็ก หรืออะไรขวางเขาอยู่ ถึงออกมาไม่ได้”

ชวน กปปส. ให้กลับใจ

ถามแย้งว่า อาจเป็นเพราะประเด็นไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่แหลมคมพอที่จะดึงคนกลุ่มซ้ายใน กปปส. ออกมาร่วมขบวน เขาตอบทันทีว่า “ไม่ใช่ ไม่ใช่…คิดว่ามีประเด็นซับซ้อน อาจเป็นประเด็นส่วนตัว ไม่สะดวกใจที่จะเข้าร่วมในขบวนที่มีเสื้อแดง ถ้าคุณเข้าใจว่าทัพหน้าเป็นเด็ก ควรจะช่วยมาหนุนเด็ก”

“หรือพวกที่เป็นมวลชนที่ตื่นตัวในรอบที่แล้ว และเรียนรู้การเมืองในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ จะชดเชยสิ่งที่ผิดพลาด ถ้าได้พวกกลุ่มนี้มา ก็จะได้พวกที่ active ทางการเมืองทั้งหมด จากนั้นจะเกิดพวกที่เป็นกลาง ๆ จะตาม เพราะคนกลาง ๆ จะตามเทรนด์คนนำ”

ประยุทธ์ = ยักษ์ไม่กลับตะเกียง

“ฟางเส้นสุดท้าย” ที่จะพาให้คนกลาง ๆ ออกมา คือ “ทน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไหวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไปไม่ไหว ทั้งหลักการและตัวบุคคลแย่หมดเลย สถานการณ์ของประเทศก็แย่ คนพวกนี้อ่านออกแล้วไม่ไหว อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มาก่อนใครเลย เขาทำนายว่าไปไม่รอด นพ.สุภัทรเห็นมานานแล้ว แต่เพิ่งจะขอโทษ รู้ว่าประเทศไปไม่ได้โดยเงื่อนไขเหล่านี้ก็ออกมา”

“พวกนี้กะว่าอยากได้ทหารมาช่วยชั่วคราว มาจัดการ จากนั้นคืนสภาพให้กลไกประชาธิปไตยเดินต่อได้ แต่เขาคงไม่คิดว่าปักหลักลงรากไม่ไปไหน ตอนนั้นหน้ามืดด้วย เพราะไม่รู้จะหาวิธีล้มรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามอย่างไร จึงใช้วิชามาร พอปลุกผีมาได้ก็เลยยาวเลย ยักษ์กลับตะเกียงไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร เตลิดแล้วตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็กลับเองไม่ได้ เบื่อ ๆ อยาก ๆ กลับก็กลับเองไม่ได้ ไม่มีอำนาจกลับเองไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร…ต้องไล่”

เตือนไม่มีแผ่นดินจะอยู่

เมื่อตัดสินใจถอย รัฐบาลถอยทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ ถอยทั้งเรื่องซื้อเรือดำน้ำ คิดว่าจะประคองสถานการณ์ได้ต่อไปหรือไม่ “สมบัติ” ไม่ตอบตรง ๆ แต่เปรียบเทียบว่า เหมือนกับการเอาแบริเออร์ไปขวางน้ำให้สูงขึ้น ถ้าคุมอยู่ พลังระดับน้ำก็จะไม่ไหลเข้ามา แต่ถ้าพลังนั้นมีขนาดเกินแบริเออร์ ถ้าแบริเออร์คุณแตก เป็นราคาที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องจ่าย ความรุนแรงของสังคมจะสูง ที่ชอบขู่กันเรื่อย ๆ ว่า ไม่มีแผ่นดินจะอยู่

“คล้าย ๆ กันกับจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอมอยู่ยาว แต่รอบนั้นมีกลุ่มพลังอำนาจต่าง ๆ โครงสร้างส่วนบนเขาเห็นร่วมกันว่า การดำรงอยู่ของจอมพลถนอมไม่ดีแล้ว นักเรียน นักศึกษาออกมาแล้ว ต้องยอมให้ไป ล้าง แล้วมีผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมา”

ตอนนี้สถานการณ์กลับกัน พลังส่วนบนต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อจะทำอย่างไร ?

“ก็ต้องใช้พลังของประชาชนล้วน ๆ แต่ก็ไม่แน่นะ… (หัวเราะ) มีทุก solution พูดตรง ๆ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ตัวละครที่สำคัญอะไรแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไปแน่นอน แต่ไปสภาพไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือ ตัวระบบ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเล่นตามเกม จะถอยแบบง่าย ๆ ก็ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทานไม่อยู่ แต่ต้องถอยแบบมีจังหวะ เวลาเขาทำการรบ ประกอบด้วยแผนรบกับแผนถอย แต่ทหารคิดเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์การสู้รบ ดังนั้น เวลามาอยู่ในสนามสู้รบทางการเมือง เขาจะไม่ถอยแบบเสียขบวน

ยุบสภา-ปฏิวัติ คือ ทางถอย

ทางถอยที่ “สมบัติ” คิดออกมี 2 ทาง ถอยในระบบ กับถอยออกไปแล้วรุกกลับไปใหม่ในเกมยึดอำนาจ แต่เกมยึดอำนาจเสี่ยงมาก ทำให้เกมนี้เตลิด สมมุติแก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา แปลว่ารัฐบาลประยุทธ์ไป กติกากลับไปอยู่ที่ตรงกลาง อะไรที่มากกว่านั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลานานมาก

แต่ถ้ายึดอำนาจ ความเป็นเหตุเป็นผลจะไม่มี การเผชิญหน้าใหญ่ ๆ จะเกิด ยึดอำนาจเสร็จแล้ว เด็กออกมาบนถนน ถามว่าทหารจะทำอะไรกับเด็ก ลากเด็ก ตีเด็ก หรือจับเด็กเข้าคุก ผลักเด็กล้มก็เรื่องใหญ่ ทำได้อย่างเดียวคือทำให้เด็กกลัว ให้เด็กไม่ออก แต่ถ้าเด็กไม่กลัวล่ะ…จะทำอย่างไร

“และฝ่ายรัฐบาลยังไม่มีมวลชนสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ปลุกเท่าไหร่ก็ปลุกไม่ขึ้น ความชอบธรรมมีไม่ถึง อันตรายมาก จะยึดอำนาจในขณะกระแสอีกฝ่ายสูง ไม่มีใครเคยทำได้ นึกไม่ออก การยึดอำนาจครั้งหลัง ๆ ต้องอาศัยความชอบธรรมสูงพอสมควร ถึงจะทำสิ่งนี้ได้ ถ้าสูญเสียความชอบธรรมก็ต้องใช้กำลัง…จะไหวหรือ”

“แต่ถ้ายอมทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา เกมเปลี่ยนนะ พวกกลุ่มการเมืองจะวิ่งวุ่นกลับไปสู่โหมดการเลือกตั้ง พวกเด็กก็ต้องกลับไปเตรียมการเลือกตั้ง ทำให้เกมตาลปัตร หรือลาออก ฝั่งม็อบก็จะงงนิดหน่อย มีความงงอยู่ระหว่างจะม็อบต่อ หรือจะไปรณรงค์ให้เลือกพรรคฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาลให้ได้ ต้องคุยว่าจะม็อบต่อไหม”

แล้วรอบนี้ชุมนุม 19 กันยายน 6 ตุลาคม 14 ตุลาคม เกือบเดือน ร้อนระอุเลย การเมืองอาจไม่แตกหัก แต่อาจจะเปลี่ยนเกม ถ้าไม่มีอะไรไปขวางม็อบจะยกกำลังขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้ารัฐมองว่าจะไม่ปล่อยให้พวกนี้ยกกำลังขึ้นเรื่อย ๆ ต้องแทรกแซงก่อนที่จะอยู่ในระดับที่ควบคุมไม่ได้ เด็กพวกนี้ต้องเริ่มต้นใหม่ จะเข้าสู่การควบคุมถึงบ้าน โรงเรียน ถ้าเป็นแบบนี้ต้อง “ปฏิวัติ” ไม่มีทางอื่น ถ้าจะอยู่ในระบบต่อไป ทำได้แค่ประวิงเวลา “รบไม่มีทางชนะ” รัฐบาลไม่มีทางชนะขบวนนี้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเปลี่ยนเกม อาจยุบสภาก็ได้


“สมบัติ” จับตาทุกความเคลื่อนไหวการเมืองอย่างไม่กะพริบตา