19 พรรครัฐบาลยกธงขาว ถอนไฟออกจากม็อบ ยอมแก้รัฐธรรมนูญ

รัฐบาลประยุทธ์ ถีบ-ถอย ขาข้าง1 ไล่จับ-ไล่ปิด (ปาก) แกนนำและผู้ชุมนุม ถึงเนื้อถึงตัว-ถึงชั้นข้อมูลข่าวสาร ขาอีกข้าง 1 กลับหลังหัน-ไต่บันไดหนีไฟ เปิดสภาประชุมสมัยวิสามัญหาทางลง

จุดยืน-ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” แหลมคม 1.ประยุทธ์และพวกออกไป 2.เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

ผลที่จะเกิดขึ้นที่เป็น “รูปธรรม” จากการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ-เวทีหาทางออก คือ การรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก การยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการปล่อยแกนนำนักเรียน นิสิต-นักศึกษา

“การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเพื่อรับฟังปัญหาสำคัญตามมาตรา 165 อาจจะมีการพูดถึงเรื่องสถานการณ์การชุมนุมและเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่เป็นการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลงมติรับหลักการ พูดได้เพียงแต่ว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกอย่างไร ทำไมถึงช้า และอาจจะมีการเสนอให้ตั้งคณะทำงานพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นมา” แหล่งข่าวจากวิปรัฐบาลกล่าว

“จุดยืน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-คู่ขัดแย้งโดยตรง ยืนยันว่า วินาทีนี้ ไม่ลาออก คือ “การปกป้องสถาบันกษัตริย์”

“ประเด็นที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ คือ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ขอไม่กี่เรื่องเท่านั้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ขณะที่บรรดาพรรคการเมือง พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคฝ่ายค้าน ต่างแสดงจุดยืนทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับ 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม

19 พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคพลังประชารัฐ-พรรคแกนนำรัฐบาล 1.ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2.มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดี

3.สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญโดยกระบวนการทางรัฐสภา แต่ต้องไม่กระทบหมวด 1 และหมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย และธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พรรคภูมิใจไทย-พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงในสภาสูงเป็นอันดับ 2 มีหัวหน้าพรรค-อนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป 1.ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

2.สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 และ 3.แก้ปัญหาปากท้องประชาชน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์-พรรคการเมืองที่เคยยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ “รัฐบาล คสช.” กับ 1 เงื่อนไขในการเข้าร่วม “รัฐบาลประยุทธ์สมัยสอง”

คือ การแก้รัฐธรรมนูญ 1.ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อเป็นเวทีหาทางออก รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที และเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมาธิการรับฟังความเห็นและแสวงหาทางออกร่วมกัน 3 ฝ่าย 1.ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน 2.สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ 3.ผู้ชุมนุม

และ 3.การแก้ปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันควรใช้แนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดก็ตาม

ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา 1.ยึดมั่นในชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรูปแบบของการจัดตั้ง ส.ส.ร. แต่ไม่กระทบหมวด 1 และหมวด 2

และ 3.แก้ไขปัญหาปากท้องให้กับพี่น้องประชาชน

ฟากฝั่ง 6 พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ยังมีจุดร่วม-สงวนจุดต่าง

1.ประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล 2.ขอให้หยุดสร้างเงื่อนไขทุกประการที่จะนำประเทศไปสู่ความหายนะโดยทันที และ 3.เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญโดยเร็วที่สุด

“ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” รองประธานวิปรัฐบาลเปิดเผยว่า รูปธรรมที่จะเกิดขึ้น เมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 แล้ว ครม.จะมีอำนาจตามมาตรา 165 โดยนายกรัฐมนตรีเสนอต่อประธานสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเพื่อรับฟังความคิดเห็นปัญหาของประเทศชาติบ้านเมืองเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันหาทางออก

“ข้อเสนอของสมาชิกสภาต่อรัฐบาลให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถนำข้อสังเกตไปดำเนินการต่อไปได้ จะทำหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับรัฐบาล”

ส่วนการพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญขั้นรับหลักการต้องรอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาในชั้นก่อนรับหลักการส่งกลับไปยังรัฐสภาก่อนถึงจะลงมติได้ ซึ่งจะครบกำหนดส่งกลับในวันที่ 23 ตุลาคม 2563

“ยังไม่สามารถพูดได้ว่าญัตติรับร่างรัฐธรรมนูญวาระแรกจะเข้าสู่การพิจารณาทันการประชุมสภาสมัยวิสามัญหรือไม่ เพราะยังไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ขึ้นอยู่กับ ครม.ว่าจะกำหนดให้เปิดสมัยวิสามัญวันไหนถึงวันไหน เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร คือ ครม.ในการออก พ.ร.ฎ.”

พื้นที่ตรงกลาง-ทางออก 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และผู้ชุมนุม ที่มีจุดยืนเหมือน-ต่าง สุ่มเสี่ยงเจรจาล่ม


จึงเป็นเพียง “พักยก” การเผชิญหน้า รัฐบาลประยุทธ์ใช้เวทีสภาหนีไฟการเมือง