“วิษณุ” ชี้ ยื่นตีความญัตติตั้ง ส.ส.ร. ตอนนี้ประหยัดกว่ายื่นหลังทำประชามติ

วิษณุเผยการยื่นตีความญัตติตั้ง ส.ส.ร. ตอนนี้ประหยัดกว่ายื่นหลังทำประชามติ “ชวน” ยืนยัน ญัตติขอให้ศาลตีความแก้รธน. เข้าสภาฯหลัง 18 พ.ย.

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะ ส.ส.ซีกรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วนยื่นตีความว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดรัฐธรรมนูญว่า “เรื่องนี้พูดยาก” เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของ ส.ส. ไม่ใช่ของรัฐบาล

หาก ส.ส. และ สว. สงสัยจะยื่นตีความนั้นก็พูดในหลักการแล้วอย่าทำให้กระบวนการสะดุด และเท่าที่ดูไม่สะดุดก็ทำไป เพราะเขาถือว่าไม่ทำตอนนี้ก็ทำในอนาคตต่อไปแล้วจะสายเกินแก้ หรือจะมีความเสียหาย เช่นทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้ เดาเอาว่าเขาอาจเจตนาดีเพราะไม่วันใดวันหนึ่ง มันก็ต้องส่งอยู่แล้ว เพราะการส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลามากกว่าเพราะมันเป็นภาคบังคับถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ระบุว่าหากมีสมาชิกรัฐสภา สงสัยมีสิทธิ์เข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยภายใน 30 วัน หากส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลา 1 เดือนนั้นไป ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ต้องส่งก็ได้

ดังนั้นหากมีอะไรตอนนี้ยังแก้ไขได้ทันเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ภายใต้ข้อแม้ไม่ให้สะดุดเพราะดูแล้วมันไม่สะดุดอะไรเพราะวันที่ 17-18 พฤศจิกายน มีการโหวตวาระหนึ่ง หากผ่านก็ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และหากในเวลาดังกล่าวเขาส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จเรื่องก็ไปอยู่ในศาล หากศาลบอกไม่ขัดก็หมดเรื่องกระบวนการก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติมาใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้าและยืนยัน หากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า “ใช่” อย่างน้อยฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ตนไม่กล้าพูดถึงฉบับอื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องหรือไม่เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีโอกาส เพราะเขายื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 31 ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้ง เป็นเรื่องสงสัยในอำนาจหน้าที่ของสภาฯ มีเยอะแยะไปที่ศาลไม่รับ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยส่งไปหารือก็ไม่รับ ในสมัยที่นายชวน หลักภัย เคยเป็นนายกฯ ศาลบอกว่าเรื่องยังไม่เกิด ศาลไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมาย อยากทราบไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อถามว่า หากศาลไม่รับแล้วเกิดอุบัติเหตุจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ากติกาศาลรับไม่ได้ เขาก็รับไม่ได้ เหมือนมีเรื่องกันแต่ยังไม่เกิดเหตุ ศาลก็ไม่รับ แต่พอมีเรื่องภายหลังก็โทษไม่ได้เพราะกติกาเป็นเช่นนั้น จึงต้องดูว่าศาลจะรับหรือไม่

เมื่อถามว่าคาดการณ์ไว้หรือไม่ว่านอกจากประเด็นเรื่องตีความเรื่อง ส.ส.ร. จะมีการยื่นตีความว่าการทำประชามติจะมีก่อนหรือหลังรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ร่างที่เขายื่นตอนนี้มีประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะหากถามแค่ตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่ ศาลคงไม่รับ

“ชวน”ยันญัตติให้ศาลตีความแก้รธน. เข้าสภาฯ หลัง 18 พ.ย.

ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กล่าวกล่าวถึงความคืบหน้าในการบรรจุญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ขอให้รัฐสภามีมติส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิฉัยว่ามิชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ ว่า เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.) ได้หารือกับที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่าต้องการประชุมไปตามปกติหรือไม่ ถ้าต้องการ เราก็ต้องบรรจุระเบียบวาระไปตามเรื่องที่เข้ามาตามลำดับ เช่น เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นต้น

แต่เนื่องจากที่ประชุม 3 ฝ่าย เห็นตรงกันว่าให้นำเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ และย้ำกันว่า วันที่ 17-18 พ.ย. จะบรรจุเฉพาะเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนญัตติของนายไพบูลย์ และร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะบรรจุหลังวันที่ 18 พ.ย.