มุน แช-อิน ยาหอม อาเซียนมิตรแท้ เล็งขยายการค้าลงทุน-ท่องเที่ยว

ไทยพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งกลไกการหารือด้านสาธารณสุขกับสาธารณรัฐเกาหลีทั้งในกรอบอาเซียน และทวิภาคี

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.45 – 16.45 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 21 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และ นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมหารือ

นายกรัฐมนตรีเวียดนามเปิดการประชุมฯ โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการประชุมเพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้บริบทสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดจากการแข่งขันของมหาอำนาจ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคที่อยู่ในความสนใจและเป็นความห่วงกังวลร่วมกัน

จากนั้น ประธานาธิบดีมุน แช-อิน ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียน และสาธารณรัฐเกาหลี อาเซียนเป็นมิตรแท้ ความพยายามร่วมกันจะสามารถเอาชนะโรคโควิด-19ได้ โดยเกาหลีพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือ ทั้งอุปกรณ์ป้องกัน ทดสอบ ช่วยเหลือผ่านกองทุน และโครงการต่างๆ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของเกาหลีใต้จะขยายความร่วมมือกับอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ สาธารณรัฐเกาหลียังยืนยันให้ความสำคัญกับการรับมือโรคโควิด-19

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ให้คืบหน้าและเป็นรูปธรรม ไทยชื่นชมที่สาธารณรัฐเกาหลีพิจารณายกระดับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ให้ทันสมัย รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ในด้านต่าง ๆ เพื่อสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้ เพื่อให้อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีสามารถขับเคลื่อนสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน นายกรัฐมนตรีได้เสนอกรอบความร่วมมือสำคัญ 2 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนกองทุนอาเซียน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยไทยสนับสนุนการจัดตั้งกลไกด้านสาธารณสุข ทั้งในกรอบอาเซียนและทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ คือด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค การขยายปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ข้อริเริ่มร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด และความตกลง RCEP

ไทยและอาเซียนพร้อมกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขที่รัดกุม

รวมทั้งพร้อมขยายความร่วมมือในโครงการภายใต้เอ็มแพ็ค ๒๐๒๕ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสีเขียว ผ่านกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “Green New Deal” และพร้อมสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะโครงการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา หรือ TVET (ทีเว็ด)

โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทย อาเซียน และสาธารณรัฐเกาหลีควรมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกัน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทายในยุค 4IR (โฟร์ ไอ อาร์)

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าสันติภาพและเสถียรภาพเป็นพื้นฐานของความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยสนับสนุนบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีที่พยายามสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และมีความรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป