“ธนาธร-ก้าวหน้า” ล้มบ้านใหญ่ไม่หมู ใครคอนเน็กชั่นปึ้ก คนนั้นชนะ

“ธนาธร-ปิยบุตร” แห่งคณะก้าวหน้า ชิงธง “เลือกตั้งท้องถิ่น” ท้ารบ “บ้านใหญ่” ปูพรม-ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงฟื้นกระแส “ธนาธรฟีเวอร์” คว้าชัยชนะเป็น “คำรบสอง” หลังสร้างประวัติศาสตร์ในสนามเลือกตั้งใหญ่

20 ธันวาคม 2563 ชี้ชะตา 42 ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) คณะก้าวหน้า แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ ประกอบด้วย 1.พะเยา 2.แพร่ 3.อุตรดิตถ์ 4.พิษณุโลก 5.ตาก 6.กำแพงเพชร 7.พิจิตร 8.เพชรบูรณ์

ภาคกลาง 1.นครสวรรค์ 2.ลพบุรี 3.สระบุรี 4.สิงห์บุรี 5.อ่างทอง 6.พระนครศรีอยุธยา ปริมณฑล 1.นนทบุรี 2.นครปฐม 3.สมุทรสงคราม 4.สมุทรสาคร 5.สมุทรปราการ ภาคตะวันตก ราชบุรี ภาคตะวันออก 1.ปราจีนบุรี 2.ฉะเชิงเทรา 3.ระยอง 4.ชลบุรี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.หนองบัวลำภู 2.หนองคาย 3.อุดรธานี 4.บึงกาฬ 5.สกลนคร 6.นครพนม 7.มุกดาหาร 8.ร้อยเอ็ด 9.ยโสธร 10.อำนาจเจริญ 11.อุบลราชธานี 12.สุรินทร์ และ 13.นครราชสีมา และ ภาคใต้ 1.สุราษฎร์ธานี 2.นครศรีธรรมราช 3.พังงา 4.ภูเก็ต 5.นราธิวาส

แม้ “ธนาธร-ปิยบุตร” จะลงชิมลาง “สนามเลือกตั้งระดับชาติ” และประสบความสำเร็จ-หักปากกาเซียน ทว่าสนามเลือกตั้งท้องถิ่น “คณะก้าวหน้า” ยังเป็น “หน้าใหม่” ต้อง “ฝ่าอิทธิพล” ขาใหญ่-บ้านใหญ่ภูธร

ภาคเหนือ-คณะก้าวหน้ายึดใช้ยุทธศาสตร์หลบ-เลี่ยงบ้านใหญ่เพื่อไทย พ่อเลี้ยง-แม่เลี้ยง เช่น บ้านใหญ่เตชะธีราวัฒน์ บ้านใหญ่วงศ์วรรณ บ้านใหญ่บูรณุปกรณ์

อาทิ แพร่ ต้องเจอ “ของแข็ง” กับ “บ้านใหญ่วงศ์วรรณ” นายอนุวัธ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.-แชมป์เก่า ทายาท “พ่อเลี้ยงณรงค์” อดีตหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม อดีตว่าที่นายกฯที่ไปไม่ถึงฝั่ง

เช่นเดียวกับ พะเยา ที่หนักหนาไม่แพ้กัน เพราะต้องชนกับ “อัครา พรหมเผ่า” น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ภาคกลาง อาทิ นครปฐม ต้องเจอ “สายแข็ง” นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ หรือ “เสี่ยหนึ่ง” แห่ง “บ้านใหญ่สะสมทรัพย์” หัวแก้วหัวแหวนของ “ไชยา สะสมทรัพย์”อดีต ส.ส.นครปฐมหลายสมัย-อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง

พระนครศรีอยุธยา ต้องแข่งกับ “สมทรง พันธ์เจริญวรกุล” อดีตนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา 3 สมัย “บังเกิดเกล้า” ของ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ค่ายภูมิใจไทย
ภาคตะวันตก ราชบุรี “ประกบคู่” กับ “กำนันตุ้ย” นิวัฒน์ นิติกาญจนา สามี “บุญยิ่ง นิติกาญจนา” ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ

ภาคตะวันออก อาทิ ปราจีนบุรี ต้องไขว้กับ “บ้านใหญ่วิลาวัลย์” ของ “สุนทร วิลาวัลย์” อดีต ส.ส.ปราจีนบุรี 8 สมัย-“พี่ชาย” “บังอร วิลาวัลย์” อดีตนายก อบจ.ปราจีนบุรีหลายสมัย ที่สำคัญ ยังเป็นบิดา “กนกวรรณ วิลาวัลย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แห่งค่ายภูมิใจไทย

ขณะที่ระยอง ต้องเจอกับ “บ้านใหญ่ปิตุเตชะ” ของ “ปิยะ ปิตุเตชะ” อดีตนายก อบจ.ระยองหลายสมัย ที่มีเครือข่าย-สาขาในพื้นที่ เช่น นายเศรษฐา ปิตุเตชะ หรือ “ส.จ.เปี๊ยก” อดีตประธานสภา อบจ.ระยอง นายธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง-“หมอตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แห่งพรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์

ภาคใต้ อาทิ นราธิวาส ต้องเจอกับ “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” อดีตนายก อบจ. และ “รำรี มามะ” อดีต ส.ส.นราธิวาส สังกัดพรรคสะตอ-ประชาธิปัตย์ 4 สมัย

นครศรีธรรมราช เจอแซนด์วิชจากประชาธิปัตย์ ที่ส่งเครือญาติลง ทั้ง “พิชัย บุณยเกียรติ” น้องชาย “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” และ “กนกพร เดชเดโช” มารดา “ชัยชนะ เดชเดโช”

หาก “คณะก้าวหน้า” จะงัด “มุขเดิม” เหมือนที่เคยใช้มาแล้วในการเลือกตั้งระดับชาติ โดยการใช้กระแส “คนรุ่นใหม่” อาจต้องใช้พลังมหาศาล

ประกอบกับกระแสการชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ซึ่งดูเหมือนจะเป็น “จุดอ่อน” มากกว่า “จุดแข็ง” จนเกิดปรากฏการณ์ “ไล่-ทุบธนาธร” กลายเป็นกระแส “ตีกลับ” เข้าใส่ผู้สมัครนายก อบจ.ของคณะก้าวหน้าเต็ม ๆ

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์จุดชี้ขาดแพ้-ชนะในการแข่งขันเลือกตั้ง อบจ.ในรอบ 8 ปีว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีหลายแบบ แต่ละแบบมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งลักษณะเฉพาะ หรืออำนาจหน้าที่ของ อบจ. เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ ไม่มีภารกิจโดยตรงในการให้บริการประชาชน

อารมณ์ของ “โหวตเตอร์” จึงไม่ใช่เรื่องนโยบายใกล้ตัว-จับต้องได้ แต่เป็นท้องถิ่นแบบโครงสร้าง มีหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับท้องถิ่นขนาดเล็กในจังหวัด มีความห่างกับประชาชนในระดับหนึ่ง ไม่ใช่หน่วยบริการ

ถึงแม้จะมีงบประมาณจำนวนมาก แต่เป็นเพียงสนับสนุนท้องถิ่นขนาดเล็ก เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่จะมีความอุปถัมภ์-ค้ำจุน ท้องถิ่นขนาดเล็ก จึงหล่อเลี้ยงกันด้วยเครือข่าย-ความสัมพันธ์

“นายก อบจ.เป็นลูกพี่คุมนายกเทศมนตรีบางที่ นายก อบต.บางตำบล ดังนั้น การขึ้นมาเป็นนายก อบจ.ได้จะต้องมีการสร้างเครือข่ายในจังหวัด ร้อยรัดกันขึ้นมา ต้องมีพวก”

การก่อตัว-ขึ้นรูปของโครงข่ายการเลือกตั้งท้องถิ่น พัฒนาตัวเองมาจากนายกเล็ก มาสู่นายกใหญ่ของจังหวัด หล่อเลี้ยงเครือข่าย แพ็กกับ อบต. 3-4 อำเภอ หนุนเป็นหัวคะแนนเพื่อดันขึ้นมาเป็นนายก อบจ. และทำงานเป็นเครือข่าย-พื้นที่เดียวกันระหว่างเทศบาล-ตำบล และจังหวัด เพื่อช่วยเหลือ-เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นความสัมพันธ์กันถึง “3 ชั้น”

“ปัจจัยชี้ขาด คือ ใครที่สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้นได้ คนนั้นมีโอกาสชนะ ผู้สมัครนายก อบจ.มีเครือข่ายระดับตำบล คือ เทศบาล และ อบต. และเทศบาลกับ อบต.ก็มีหัวคะแนนเพื่อดีลกับผู้เลือกตั้ง”

แม้ว่าสิ่งที่ “คณะก้าวหน้า” กำลังทำ คือ การสร้างกระแส เป็นการ “ตีโจทย์ผิด” แต่ก็ “ยังได้ลุ้น” เพราะสถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาออกมาน้อย ทำให้เครือข่าย-ฐานอำนาจเก่าแพ็กกันแน่น

“ถ้าทำกระแสให้คนออกมาเยอะ คนที่ไม่เคยออกออกมา แต่กระแสจะแรงพอทำให้คนที่ไม่เคยออกมาเลือก ให้ออกมาเลือกได้จำนวนมากขนาดไหน ถึงจะเปลี่ยนเกมได้ ถึงจะล้มบ้านใหญ่ได้”

ความหวัง-ความฝันของธนาธร-คณะก้าวหน้า ที่จะ “ล้มบ้านใหญ่” จึง 50 : 50 เพราะคลื่นโหวตเตอร์ต้องออกมาถล่มทลาย-เหมือนวันเลือกตั้งใหญ่ และ “ทุกเสียง” ต้องตรงข้ามบ้านใหญ่ทุกเสียง