เลือกตั้ง “นายกฯ อบจ.” คณะธนาธร-พรรคทักษิณ ไม่มีใครยอมใคร

ธนาธร-ทักษิณ

ปรากฏการณ์เลือกตั้ง นายกฯ อบจ.ทั่วประเทศ ครั้งแรกหลังรัฐประหาร 7 ปี มีนักการเมืองจากทุกขั้วการเมืองลงชิงตำแหน่ง

“การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี การกลับบ้านไปเลือกตั้งของทุกคนสามารถเปลี่ยนสมการทางการเมืองได้ และสร้างรากฐานของประชาธิปไตยที่แข่งแกร่งผ่านหีบเลือกตั้ง” ธนาธร โหมโรงหลัง กกต.ประกาศรับสมัครเลือกตั้ง

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ปลุกกระแสการเลือกตั้ง “นายก อบจ.” ในครั้งนี้ เรียกร้องให้คนออกไปใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด หลังกินเวลากว่า 7  ปี ที่ไม่มี “การเลือกตั้งท้องถิ่น” นับตั้งแต่การรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในปี 2557 เป็นผลทำให้ นักการเมืองท้องถิ่น ยังต้องครองตำแหน่งต่ออีก 2 ปี จากเดิมที่จะต้องหมดวาระตั้งแต่ปี 2561

20 ธันวาคม 2563 เป็นกำหนดการการเลือกตั้ง “นายก อบจ.” คืนประชาธิปไตยให้กับท้องถิ่น อีกครั้ง

นับเป็นการเลือกตั้ง ที่สร้างปรากฎการณ์ใหม่ทางการเมืองหลายขนาน เมื่อขั้วการเมืองใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า ปักธงคู่ขนานกับการต่อต้านรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร ขึ้นสู่ปีที่ 2

คณะก้าวหน้า โดยธนาธรและคณะ นำทีมสร้างปรากฏการณ์เขย่าการเลือกตั้งท้องถิ่น พลิกประวัติศาสตร์การเมืองชนบท

ยุทธศาสตร์ “ป่าล้อมเมือง”

การเมืองสนามใหญ่ทำให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หมดสิทธิ เขาจึงหันหัวเรือสู่ การจัดตั้ง “คณะก้าวหน้า” ทุ่มกำลังลุยการเมืองสนามเล็ก สืบทอดอุดมการณ์ต่อจากอดีต “พรรคอนาคตใหม่” ส่งผู้สมัครเต็มสูบถึง 42 คน 42 จังหวัด หวังปักธงการเมืองท้องถิ่นครั้งแรก

การส่งผู้สมัครถึง 42 จังหวัด เป็นการสร้างยุทธศาสตร์ “ป่าล้อมเมือง” ที่จะสร้างฐานเสียง จากพื้นที่ต่างจังหวัด แล้วค่อย ๆ รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่เมืองหลวง

หากยุทธศาสตร์นี้สำเร็จ “ธนาธร” สามารถเขย่า “บ้านใหญ่-ตระกูลการเมือง” ออกนอกลู่การเมืองท้องถิ่น ทลายอำนาจผูกขาด

ขาใหญ่ในวงการเมืองประกาศปักธงถ้วนหน้า ในภาคเหนือ มีบ้านใหญ่วงษ์สุวรรณ , ภาคกลาง-บ้านใหญ่สะสมทรัพย์, ภาคตะวันออก มีทั้ง “คุณปลื้ม” และ “ปิตุเตชะ” ยืนตระหง่าน

ขณะที่ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ เจ้าถิ่น ถูกรุกฆาตจากพรรคภูมิใจไทย ที่ทะลวงพื้นที่ชิง ส.ส.มาได้เป็นกอบเป็นกำมาแล้ว

นักวิเคราะห์การเมือง ให้ความเห็นในช่วงออกสตาร์ท ว่าทีมธนาธร อาจจะชนะ เพียง 50 : 50 เพราะฐานเสียงเดิม หรือ “โหวตเตอร์” ในท้องถิ่น ต้องออกมาหนุนพรรคเก่าแก่อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา หากหวังจะชนะ คะแนนเสียง ต้องตรงข้ามกับ บ้านใหญ่ทุกเสียง

สมติฐานข้างต้น สอดคล้องกับ “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” นักคณิตศาสตร์การเมือง จากสถาบันพระปกเกล้า ได้วิเคราะห์จุดชี้ขาดปัจจัยแพ้-ชนะ ในการแข่งขันเลือกตั้ง อบจ.ในรอบ 8 ปี ว่า

“ปัจจัยชี้ขาด คือ ใครที่สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้นได้ คนนั้นมีโอกาสชนะ ผู้สมัครนายก อบจ.มีเครือข่ายระดับตำบล คือ เทศบาล และ อบต. และเทศบาลกับ อบต.ก็มีหัวคะแนนเพื่อดีลกับผู้เลือกตั้ง”

ทักษิณ เพื่อไทย ไม่ถอย

“ธนาธร” เดินหน้าเต็มกำลังลงพื้นที่หาเสียงด้วยตัวเอง ทั้ง 42 จังหวัด อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลเนตเวิร์กในเครือ “ก้าวหน้าและก้าวใกล” รายงานสถานการณ์การพัฒนาท้องถิ่น ที่เป็นรูปธรรม พร้อมนำเสนอนโยบายใหม่ ถ้าได้ชัยชนะ

นโยบายหาเสียงที่ถูกชูขึ้นมา อาทิ นโยบายเปิดเส้นทางขนส่งสาธารณะใน 29 จังหวัดของคณะก้าวหน้า หรือ การเพิ่มสวัสดิการพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อความเท่าเทียม ในจังหวัดสิงห์บุรี

ไม่เพียงค่ายธนาธร ที่ต้องการช่วงชิงพื้นที่การเมืองท้องถิ่น แต่พรรคใหญ่ที่แพ้ไม่ได้ ในบางเขต ระดับเมืองหลวงของตระกูล “ชินวัตร” ทำให้อดีตนายกฯ 2 คน ต้องลงมือ ออกโรงหาเสียงข้ามโลก ด้วยตัวเอง

ส่งจดหมายถึงฐานเสียงทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เทต้นทุนการเมือง “ชินวัตร” หมดหน้าตัก

เพราะพื้นที่เชียงใหม่เป็นฐานที่มั่นของตระกูลชินวัตร และวงศ์สวัสดิ ซึ่งครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 3 คน แต่ในการเลือกตั้ง นายกฯ อบจ.ครั้งนี้ ฝ่ายเพื่อไทยหนุนนักการเมืองนอกใส้ เป็นครั้งแรก ดันตระกูล “บูรณุปกรณ์” จากคนในบ้านกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

เขตนี้จึงเป็นพื้นที่ที่ “ชินวัตร” แพ้ไม่ได้ เช่นเดียวกับ “บูรณุปกรณ์” ก็แพ้ไม่ได้เช่นกัน

หากไม่รู้สึกถึงความเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-สมชาย” 3 อดีตนายกฯ คงไม่ทุ่มทุนทุกองคาพยพ ถล่มลงไปที่เชียงใหม่ในระดับ 9 ริกเตอร์

“นายก อบจ.” เงิน-อำนาจ และเครือข่ายการเมืองระดับชาติ

เพราะการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. เป็นการชิงอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับที่ใหญ่ที่สุด

ทำให้ทุกพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และคณะทางการเมือง ส่งตัวแทนลงชิงอำนาจ เพราะอย่างน้อยที่สุดจะเป็นการสร้างเครือข่าย-ฐานการเมือง ไว้รองรับการเลือกตั้งและทุนระดับชาติ ในอนาคต

ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และกลุ่มการเมืองอิสระ จึงต้องทุ่มทุนเพื่อปักธงจากฐานการเลือกตั้งครั้งนี้

ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ระบุว่า “อบจ.” มีหน้าที่รับผิดชอบเต็มพื้นที่ของจังหวัดนั้น ๆ โดยแบ่งโครงสร้างการทำงานออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่ง “นายก อบจ.” จะเป็นหัวหน้าใหญ่ในฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างทั้งหมดขององค์การฯ

นอกจากนี้ “นายก อบจ.” ยังทำหน้าที่ หลักในการจัดทำแผนพัฒนา อบจ. ประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด สนับสนุนการพัฒนาสภาตำบลและท้องถิ่นอื่น ภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่ร่วมกันทำหลายท้องถิ่น

ทั้งนี้ สมาชิกสภา อบจ. สามารถมีได้ตั้งแต่ 24 – 48 คน โดยทั้งคณะทำงาน มีวาระเพียง 4 ปี และอยู่ได้มากสุด 2 วาระ

เงินเดือนของ “อบจ.”

กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติปรับขึ้นเงินเดือน ของ อบจ. ในตำแหน่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 20% ในปี 2560 ดังนี้

  • นายก อบจ. ได้รับเงินเดือน 75,530 บาท
  • รองนายก อบจ. ได้รับเงินเดือน 45,540 บาท
  • เลขานุการนายก อบจ. ได้รับเงินเดือน 19,440 บาท
  • ที่ปรึกษานายก อบจ. ได้รับเงินเดือน 13,880 บาท
  • ประธานสภา อบจ. ได้รับเงินเดือน 30,540 บาท
  • รองประธานสภา อบจ. ได้รับเงินเดือน 25,000 บาท
  • สมาชิกสภา อบจ.ได้รับเงินเดือน 19,440 บาท

ชิง 9 หมื่นล้าน เงินอุดหนุนจากรัฐ ปี 2564

พระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ที่จำนวน 90,978.4 ล้านบาท คิดเป็น 2.76% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี  ซึ่งแบ่งเป็น

  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา จำนวน 23,906.8 ล้านบาท
  • องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 28,797.8 ซึ่งแบ่งการบริหารพื้นที่ออกเป็นภาคต่าง ๆ

อบจ. นครราชสีมา ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากที่สุด ถึง 2,303.4 ล้านบาท


ขณะที่ อบจ. สิงห์บุรี ในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนบน ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด จำนวน 118.8 ล้านบาท