ฝ่ายค้านเท! กรรมการสมานฉันท์ จวกรัฐบาลปาหี่ ต้องยุติคดี ม.112

6 พรรคฝ่ายค้าน เคารพ “ประธานชวน” แต่ไม่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ ชี้ รัฐไร้ความจริงใจ ยังจับกุมผู้ชุมนุม  

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเสรีรวมไทย ประชุมเพื่อกำหนดท่าทีการเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายสมพงษ์ อมรวิวัตน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายจะไม่เข้าร่วม คณะกรรมการสมานฉันท์ จนกว่ารัฐบาลและคู่กรณีความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าร่วม และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ด้วยการยุติการคุกคาม และยุติการจับกุม คุมขัง ผู้เห็นต่าง ยกเลิกการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุม อย่างขาดหลักแห่งความยุติธรรม

“แนวทางแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ที่เหมาะสมที่สุดคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกสำคัญของการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องทำให้สังคมยอมรับว่ามีความตั้งใจและจริงใจที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะความเป็นประชาธิปไตยคือกลไกสำคัญที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ และสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น และคือหนทางสำคัญในการคลี่คลายทุกปัญหาของสังคมไทย” นายสมพงษ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรแสดงความจริงใจโดยเร่งหาวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และยอมรับให้เกิดกระบวนการเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อใจว่า

พวกตนไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ และต้องการถอยออกจากอำนาจอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจกำหนดกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตย เพื่ออนาคตด้วยมือของประชาชนเอง

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธร เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ฝ่ายค้านเห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่สถานการณ์วันนี้ไม่มีทางที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ได้ เพราะ 1. การรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ 2.ระบอบการเมืองที่เกิดจากการรัฐประหารทำให้การเมืองถอยห่างออกจากความเป็นประชาธิปไตย

3.การใช้ไอโอสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม 4.การใช้อำนาจทั้งผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และนอกกฎหมาย เพื่อกด และปราบปรามประชาชน ทำให้การสมานฉันท์ไม่เกิด และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ตราบใดที่ยังมีสิ่งเหล่านี้

ดังนั้น หากจะแก้ไขความขัดแย้ง พรรคก้าวไกลเห็นว่าต้องแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ยุติดำเนินคดีอย่างกว้างขวางทั้งกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายความมั่นคง 2.ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากประชาชน ไม่ตั้ง ส.ส.ร. ที่เป็นการสืบทอดอำนาจ

ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ต้นเหตุความขัดแย้ง เพราะเราไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาล ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล วุฒิสภา ต้องแสดงความจริงใจให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจะแก้ไขความบกพร่องได้ เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แก้ไขสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ ตั้ง คณธกรรมการสมานฉันท์ในขณะที่บ้านเมืองเป็นเผด็จการ ซึ่งคิดว่าไม่สามารถเกิดความสมานฉันท์ได้

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ให้ความเคารพนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาที่จะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์  แต่รัฐบาลต้องเอาคนที่มีความจริงใจไม่ใช่สร้างความแตกแยกยิ่งขึ้น เห็นได้ว่าไม่มีความจริงใจ กาาที่จะแก้ไข รัฐบาลก็ทำได้ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ เหมือนรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ฆ่ากันเพราะคอมมิวนิสต์ ก็ออก 66/23 และก็จบ แต่ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการปรองดองมาแล้วหลายชุดแต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำก็ไม่มีความหมาย ดังนั้น ขอไม่ร่วม ถ้าร่วมก็เท่ากับสร้างความชอบธรรม

ทั้งนี้ แถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง คณะกรรมการสมานฉันท์ ระบุว่า การดำเนินงานของรัฐบาลในปัจจุบันไม่สามารถนำไปสู่ทางออกของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลมิได้ทำให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่าตั้งใจจริงกับการแก้ไขปัญหา

รวมทั้งยังใช้กฎหมายที่ทำให้ฝ่ายเห็นต่างที่เป็นคู่ขัดแย้งรู้สึกว่ารัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดตน ซึ่งถือเป็นการทำลายบรรยากาศการร่วมมือและปรองดอง และรัฐบาลยังไม่เปิดใจรับฟังที่จะแสวงหาจุดร่วมเพื่อช่วยกันคลี่คลายปัญหา เท่ากับรัฐบาลได้ปิดกั้นหนทางการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง

ความพยายามของประธานรัฐสภาที่พยายามจะสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โดยที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี และกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐบาลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงไม่เข้าร่วม คณะกรรมการชุดนี้จึงไม่สามารถเป็นความหวัง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

คณะกรรมการสมานฉันท์ ที่จะสามารถเป็นทางออกได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากคู่ขัดแย้งต้องเห็นความสำคัญ และทั้งสองฝ่ายต้องตัดสินใจที่จะเข้าร่วม เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของการเริ่มต้นกระบวนการปรองดอง ทั้งสองฝ่ายต้องพร้อมที่จะนำความขัดแย้ง และความจริงที่เป็นประเด็นปัญหาความขัดแย้งมาคุยกันบนโต๊ะเจรจาโดยมีคนกลางเข้าร่วม ภายใต้บรรยากาศแห่งการปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงใน คณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้

“พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอยืนยันว่า จะไม่เข้าร่วม คณะกรรมการสมานฉันท์ จนกว่ารัฐบาลและคู่กรณีความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าร่วม และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ด้วยการยุติการคุกคาม และยุติการจับกุม คุมขังผู้เห็นต่าง ยกเลิกการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุม อย่างขาดหลักแห่งความยุติธรรม”

แนวทางแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ที่เหมาะสมที่สุด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกสำคัญของการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องทำให้สังคมยอมรับว่ามีความตั้งใจและจริงใจที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะความเป็นประชาธิปไตยคือกลไกสำคัญที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ และสร้างให้เกิด “ความเชื่อมั่น” และคือหนทางสำคัญในการคลี่คลายทุกปัญหาของสังคมไทย


รัฐบาลควรแสดงความจริงใจโดยเร่งหาวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และยอมรับให้เกิดกระบวนการเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อใจว่า พวกตนไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ และต้องการถอยออกจากอำนาจอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจกำหนดกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตย เพื่ออนาคตด้วยมือของประชาชนเอง