“ประยุทธ์” ขอเอารัฐบาลนี้ให้รอด ยังไม่คิดตั้งพรรคสำรอง

ภาพ : thaigov.go.th

“ประยุทธ์” ไม่หวง ถ้ามีคนใช้ “รวมไทยสร้างชาติ” เป็นชื่อพรรค เผย ยังไม่มีความคิดตั้งพรรคสำรอง เอารัฐบาลนี้ให้รอดไปก่อน

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองสำรอง ชื่อว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า ไม่รู้เหมือนกัน ใครเอาไปตั้งพรรค สงวนสิทธิ์หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ตนไม่สงวนสิทธิ์ ใครก็ได้รวมไทยสร้างชาติ เป็นคนไทยหรือเปล่า ถ้าเป็นคนไทยจะตั้งรวมไทยสร้างชาติ รวมไทยอะไรก็แล้วแต่ตั้งมาเถอะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถูกโยงว่าจะเป็นพรรคสำรองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “ก็เธอโยงไม่ใช่หรือ เราไม่ได้โยง คุณเป็นคนโยงหรือเปล่า

เมื่อถามว่า มีแนวคิดอย่างไรต่อการตั้งพรรคสำรอง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่มี ยังไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องของผม ผมทำงานรัฐบาลนี้ให้รอดไปก่อน ทำประเทศชาติหลุดพ้นจากกับดักต่าง ๆ ให้ได้เสียก่อน มองตรงนี้ อย่ามองการเมืองด้านเดียว การเมืองก็คือการเมือง ก็ต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการเมืองก็ไม่ใช่นายกฯ คนเดียว ทุกคนต้องช่วยกันปฏิรูป องคาพยพทั้งหมด เพราะประชาชนเป็นเลือกพวกท่านเข้ามา นายกฯ ไม่ได้เป็นคนเลือกทุกคนเข้ามา เป็นเรื่องประชาชน เลือกเข้ามาเป็นตัวแทนของเขา ทุกคนต้องเคารพกติกาตรงนี้”

ส่วนกระแสข่าวว่า ส.ว.จะคว่ำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นเรื่องในสภาดำเนินการตรงนี้ ตนมีความห่วงใยเรื่องกฎหมายประชามติ เพราะเราต้องมีการทำรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไปด้วย ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวสำคัญขอช่วยกันทำให้ออกมาได้ด้วยดี อยู่ในวาระพิจารณา

“ส่วนจะคว่ำไม่คว่ำในวาระที่ 3 นัน ทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้ว ถามว่าห่วงไหม ก็ห่วง แต่คิดว่า ส.ส.ทุกคนก็ต้องเป็นห่วงเหมือนกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งข้อสังเกตคำถามของผู้สื่อข่าวประเด็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า

“เข้าใจว่าคำถามบางคำถามสลับซับซ้อน เข้าใจว่ามีคำถาม ส.ส. ส.ว.ฝากมาให้ตนตอบด้วยใช่ไหม เพราะคำถามช่วงนี้มาแปลก ๆ”

ผู้สื่อข่าวถามถึงการปรับคณะรัฐมนตรีว่า มีข้าราชการประจำที่ลาออกมาเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่มี”

เมื่อถามถึงการต่ออายุ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในเมียนมาบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว แต่เกี่ยวเฉพาะเรื่องการบูรณาการการใช้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายปกติ เช่น จะนำทหาร ตำรวจมาดูแลสถานที่ควบคุมโรคก็ไม่ได้ ไปตรวจตามถนนหนทางไม่ได้ เพราะหลายหน่วยงานไม่มีกฎหมายตัวนี้ แต่เรานำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบูรณาการกฎหมายของหน่วยงานอื่น เพื่อให้สามารถทำงานได้

“หาก ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข บอกว่าจำเป็นต้องใช้ก่อน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเขาก็ดูแลพื้นที่ต่าง ๆ ด่านตรวจ จุดสกัด ควบคุมชายแดน ถ้าใช้กระทรวงสาธารณสุขดูแลอย่างเดียวเขาไม่ไหว” นายกฯ กล่าว