ระดมฉีดวัคซีนโควิด “ซิโนแวค” ลอตสอง 8 แสนโดส 22 จังหวัด

เตรียมฉีดวัคซีนซิโนแวค 22 จังหวัด
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Like Anutin

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมกระจายวัคซีนโควิด-19 ลอตสองของซิโนแวค 8 แสนโดส ในพื้นที่เป้าหมาย 22 จังหวัด รับมือเปิดประเทศ-นักท่องเที่ยวทะลัก

วันที่ 3 เมษายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลกระจายวัคซีนวัคซีนโควิด -19 ล็อต2 ซิโนแวค 800,000 โดส เพื่อฉีดให้กลุ่มเป้าหมายทุกจังหวัดแล้ว โดยกระจายในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์/เจ้าหน้าที่ด่านหน้าและประชาชนกลุ่มเสี่ยงใน 22 จังหวัด จำนวน 640,000 โดส ประกอบด้วย

  1. พื้นที่เพื่อควบคุมการระบาดของโรค 6 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ตาก ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี จำนวน 3.5 แสนโดส
  2. พื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี (รวมพัทยา) ระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น กระบี่ พังงา อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต จำนวน 2.4 แสนโดส
  3. พื้นที่จังหวัดชายแดนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สระแก้ว เชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย และจันทบุรี จำนวน 5 หมื่นโดส

นายอนุชากล่าวว่า ส่วนวัคซีนที่เหลืออีก 160,000 โดส จะกระจายฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงวัคซีนสำหรับ อสม. จังหวัดละ 1,000 โดส แบ่งเป็น จังหวัดขนาดเล็ก (ประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน) จำนวน 800 โดส + 1,000 โดส (อสม.) รวม 1,800 โดส

จังหวัดขนาดใหญ่ (ประชากร 1.0 -1.5 ล้านคน) จำนวน 1,000 โดส + 1,000 โดส (อสม.) รวม 2,000 โดส และ จังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ (ประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน) จำนวน 1,200 โดส + 1,000 โดส (อสม.) รวม 2,200 โดส

ทั้งนี้ จัดสรรการกระจายฉีดวัคซีนดังกล่าวเน้นบุคลากรสาธารณสุข อสม. เจ้าหน้าที่กลุ่มอื่น ๆ ที่จำเป็นและควบคุมการระบาดในจังหวัดใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมระบบในทุกจังหวัดก่อนเริ่มฉีดวัคซีนจำนวนมากในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

“เป็นไปตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้กระจายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมายและในพื้นที่ที่มีความเสี่ยสูงก่อน และขยายไปสู่พื้นที่อื่นตามลำดับอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ”

นายอนุชากล่าวว่า รวมทั้งสอดคล้องสถานการณ์ของโลกที่หลายประเทศได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว

นายอนุชากล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล รัฐบาลพร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน/โรงพยาบาลเอกชน ที่สนใจยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ยื่นเอกสารเพื่อขอประเมินคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นผู้พิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19


โดยขณะนี้ได้มีการอำนวยความสะดวก และเปิดช่องทางพิเศษในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน เพื่อให้สามารถอนุมัติทะเบียนได้อย่างรวดเร็วแล้ว เมื่อยื่นเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดคาดว่าจะใช้เวลาในการประเมินและพิจารณาอนุญาตประมาณ 30 วัน โดยคำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยของวัคซีนตามมาตรฐานสากลเป็นสำคัญ