ประยุทธ์ ไฟเขียว องค์การเภสัชนำเข้าวัคซีน ขายต่อ รพ.เอกชน 10 ล้านโดส

ประยุทธ์ไฟเขียววัคซีน 5 ล้านโดส

พล.อ.ประยุทธ์ ถก นายกสมาคม – 5 บิ๊กโรงพยาบาลเอกชน ไฟเขียว องค์การเภสัชนำเข้าวัคซีนทางเลือก ของจอห์นสันแอนด์จอนห์สัน-โมเดอร์นา ต่อคิว ขายวัคซีนให้เอกชน 10 ล้านโดส ตั้ง “นพ.ปิยะสกล” ประธานจัดหาวัคซีนทางเลือก” เตรียมสนับสนุนเตียงสนาม 3 พันเตียงให้กับเอกชน

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน โดยภาคเอกชนมีส่วนร่วมและจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม โดยมีผู้บริหารจากโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมประชุม อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค โรงพยาบาลวิภาราม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกครั้ง วันนี้ได้เชิญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือ ซึ่งได้เชิญโรงพยาบาลเอกชนมาด้วย โดยหารือหลักการการจัดหาวัคซีนทางเลือก ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรมกำลังหารืออยู่ว่าจะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมมาได้อย่างไร เพราะมีแต่วัคซีนที่รัฐบาลนำเข้าเท่านั้น โดยให้ไปหารือว่าจะนำวัคซีนทางเลือกเข้ามาได้อย่างไร เพราะวันนี้เป็นการใช้วัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ตั้ง “นพ.ปิยะสกล” ประธานหา “วัคซีนทางเลือก”

ซึ่งตนได้ตั้ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาล คสช. เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อเป็นคณะทำงานจัดหาวัคซีนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเอกชนเพื่อไปสู่การเดินหน้าจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีกทางหนึ่งให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ยังไม่มีวัคซีน

“ผมยินดีและขอบคุณ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะจัดหาวัคซีนมาช่วยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้น ขณะนี้มีบริษัทวัคซีนรอขึ้นทะเบียนกับ อย.หลายบริษัท แต่การนำเข้ายังมีปัญหาอยู่ ต้องหาทางปลดล็อกทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

“วันนี้ถ้าได้วัคซีนมาเพิ่ม มีอะไหล่เข้ามา จากเดิมที่รัฐบาลฉีดต้องฉีด 40 ล้านคน ก็อาจจะทำให้ลดลงไป อย่างน้อย 5 ล้านคน ต้องเอาเข้ามาให้ได้”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำว่า ดังนั้น วันนี้การจัดหาวัคซีนมี 2 แนวทาง แนวทางแรก วัคซีนที่รัฐจัดหา แนวทางที่สอง วัคซีนทางเลือก ที่จะนำเข้ามาใหม่เพิ่มเติมโดยภาคเอกชน ซึ่งต้องประสานกับ อย. และองค์การเภสัชด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ

“สถานการณ์จัดหาวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มเติมจากระยะแรก 3.5 แสนโดส ซึ่งในเดือนเมษายนนี้จะมีวัคซีนเข้ามาระยะที่สองจำนวน 1.5 ล้านโดส ต่อจากนั้นจะทยอยเข้ามาในเดือนถัด ๆ ไป เว้นแต่มีปัญหาจากต้นทางอาจทำให้แผนการจัดหาวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้”

ยันผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 200-400 คน ควบคุมได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวยืนยันว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 200 คน 300 คน 400 คน แต่สามารถควบคุมได้ โดยการตรวจเชิงรุก เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมสถานที่เพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรีไม่เคยทอดทิ้งใคร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทำอย่างไรไม่ให้โควิดเข้าไประบาดในโรงพยาบาล ต้องมีโรงพยาบาลสนามในการตรวจคัดกรอง น้ำยาตรวจมีเพียงพอ ผมยืนยัน เอกชนพร้อมจัดสถานที่ฉีดวัคซีนช่วยรัฐบาลในระยะแรก แต่ต่อไปเมื่อมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใหม่ก็จะให้บริการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพิ่มเติมได้

“ที่ผมพูดว่า อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด ตราบใดที่เรายังควบคุมไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อเกิดแล้วเราต้องแก้ไข เราต้องดำเนินการต่อไป ไม่มีปัญหาอะไรที่มันจะจบ ปุ๊บ ปั๊บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อโรค”

สั่งเพิ่มเตียงสนาม 3,000 เตียง

ด้าน ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปการแก้ปัญหาเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิดไม่เพียงพอ โดยการประสานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกองทัพบก รวมถึงกองทัพเรือจะเปิดโรงพยาบาลสนามใน กทม. เบื้องต้นขณะนี้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ 470 เตียง ซึ่งหากได้ประมาณ 3,000 เตียงน่าจะเพียงพอ เนื่องจากอัตราการติดเชื้อ 300-400 คนต่อวัน 10 จำนวน 3,000 คน

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนนั้น เอกชนขอให้องค์การเภสัชกรรมติดต่อ และพยายามขึ้นทะเบียนให้มากขึ้น เพื่อนำเข้ามาและขายให้เอกชนอีกต่อหนึ่ง

“ขณะนี้วัคซีนที่นำเข้ามาในประเทศไทยมีอยู่ 2 บริษัท คือ แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดส และซิโนแวค 2 ล้านโดส รวม 63 ล้านโดส สามารถฉีดให้คนไทยได้ 31.5 ล้านคน แต่เราต้องฉีดประมาณ 40 ล้านคน ดึงนั้น เราจึงขาดวัคซีนอยู่ ซึ่งวัคซีนทางเลือกที่หารือในที่ประชุมวันนี้ จะไม่ใช้วัคซีนของ 2 บริษัทดังกล่าว แต่เป็นบริษัทอื่น เช่น จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน ซึ่ง อย.เพิ่งขึ้นทะเบียน และเร็ว ๆ นี้ วัคซีนของโมเดอร์นาจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทต่อไป” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกล่าว

โฆษก ศบค. เผยต้องการวัคซีนทางเลือก 10 ล้านโดส

ทางด้านนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีนว่า  ท่านนายกฯก็มีความห่วงใยจากข่าวที่ออกไปมากมาย กรณีวัคซีนเป็นผลประโยชน์กับใครหรือเปล่า มีการผูดขาดวัคซีนในการนำเข้าหรือเปล่า เอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัวบางคน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ชี้แจงอยู่เรื่อยๆ

ตอนนี้มี 2 ประเด็นที่ต้องพูดคุยกันคือ “วัคซีนที่รัฐจัดให้”  กับ “วัคซีนทางเลือก” อันแรกวัคซีนที่รัฐจัดให้ ตอนนี้วัคซีนมีเพียงพอกับประชาชน ประมาณ 31 ล้านคน ซึ่งหามาได้ประมาณ 61 ล้านโดส อันนี้วางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว มีวัคซีน 2 ยี่ห้อคือ ซิโนแวค กับแอสตร้าเซนเนก้า จะค่อยๆทยอยเข้ามา

คำถามของท่านนายกฯถามว่า เราต้องการฉีดวัคซีนให้ได้เท่าไร ทางผอ.สถาบันวัคซีนบอกว่า ต้องให้ได้ประมาณ 40-50 ล้านคน หรือเประมาณ 45 ล้านคน เพราะฉะนั้นยังขาดอยู่ประมาณ 5 ล้านคน ดังนั้นเพื่อให้เกิด herd immunity หรือ “ภูมิคุ้มกันหมู่” จะต้องหา 40 ล้านคน เพราะฉะนั้นขาดอีก 5 ล้านคน 5 ล้านคนฉีด 2 ครั้งก็เท่ากับ 10 ล้านโดส

“ตรงนี้ก็เลยบอกว่าเอา 10 ล้านโดส มาตั้งเป็นข้อที่ 2 คือหาวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนได้ไหม โดยมีนายกโรงพยบาลเอกชน และมีตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาประชุมด้วย เขาบอกว่าเขาเสนอตัวเลย เขามีความสามารถกับทางสภาหอการค้า อะไรต่างๆ ที่จะสามารถที่จะเชื่อมโยงไปกับทางภาคเอกชนทั้งหลายได้” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว